ความมั่นคง นายธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจ ม.116 มาตรา 116

ทำความเข้าใจ กฎหมายอาญา มาตรา 116 ข้อหาใหม่ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

รู้จักประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หลังธนาธรถูกหมายเรียก กล่าวหามีความผิดเป็นภัยต่อความมั่นคง ผ่านพ้นการเลือกตั้งได้เพียงไม่นาน สถานการณ์การเมืองได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการประกาศผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ และการที่ 2 ขั้วพรรคการเมืองต่างเดินหน้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกันอย่างดุเดือด แต่แล้วต้องเกิดประเด็นขึ้นอีก เมื่อวันนี้ (3 เมษายน 2562)…

Home / NEWS / ทำความเข้าใจ กฎหมายอาญา มาตรา 116 ข้อหาใหม่ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

รู้จักประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หลังธนาธรถูกหมายเรียก กล่าวหามีความผิดเป็นภัยต่อความมั่นคง

ผ่านพ้นการเลือกตั้งได้เพียงไม่นาน สถานการณ์การเมืองได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการประกาศผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ และการที่ 2 ขั้วพรรคการเมืองต่างเดินหน้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกันอย่างดุเดือด

แต่แล้วต้องเกิดประเด็นขึ้นอีก เมื่อวันนี้ (3 เมษายน 2562) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ถึงกรณีที่ได้รับหมายเรียกจากสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน กล่าวหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

ฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือด้วยวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดแผ่นดิน

ช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ต้องโทษ โดยให้พำนักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้น หรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใด เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม

รู้จักกฎหมายอาญามาตรา 116

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย

(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวอยู่ในหมวดของความมั่นคง ซึ่งหากผู้กระทำมีเจตนาให้กระทบต่อความมั่นคง โดยการทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นๆ จะถือว่ามีความผิดตามมาตรา 116 แต่หากเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามสิทธิขึ้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 116

หรือแม้แต่การเรียกร้องต่อสาธารณะให้แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่เห็นว่าไม่เป็นธรรม หรือการเรียกร้องให้เปลี่ยนรัฐบาล หรือผู้นำประเทศ หากเป็นการเรียกร้องโดยสันติวิธีไม่มีการใช้กำลังเข้าบังคับ ก็ย่อมไม่ผิดตามมาตรา 116 เช่นกัน

ตัวอย่างบุคคลที่เคยถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 116

1. จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถูก คสช.ดำเนินยุยงให้เกิดความกระด้างกระเดื่องและให้ทำผิดกฎหมายมาตรา 116 หลังแถลงการณ์เรียกร้องให้ทหารคืนอำนาจสู่ประชาชนโดยเร็ว

2. วัฒนา เมืองสุข ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 116 หลังโพสต์เฟซบุ๊กชวนคนมาให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ ในคดีจำนำข้าว

3. ดร.ลีลาวดี วัชโรบล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กทม. สังกัดพรรคเพื่อไทย โดยเมื่อปีพ.ศ. 2560 ตำรวจกองปราบปรามได้แจ้งข้อหากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

4. สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 116 หลังโพสต์เฟซบุ๊กชวนให้ประชาชนคัดค้านการรัฐประหาร
ท้าทายให้เจ้าหน้าที่ตามจับ

5. ร.ท.หญิงสุณิสา หรือ หมวดเจี๊ยบ ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 116 หลังโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา

6. กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย RDN 50 ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 116 หลังชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งบริเวณ ถ.ราชดำเนิน รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

สำหรับการตั้งข้อหา มาตรา 116 ละดำเนินคดีต่อศาล ทางเพจ ilaw ได้มีการเผยว่า ทางการตั้งขึ้นมา อาจไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อการลงโทษผู้กระทำความผิดที่เป็นภัยต่อสังคมโดยตรง แต่พอเห็นได้ว่ามีผลประโยชน์ทางการเมืองอยู่เบื้องหลังการตั้งข้อหาและดำเนินคดีตามมาตรา 116 อยู่ด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนขึ้นในยุคของคสช. พอจะกล่าวได้ดังนี้

1. ใช้ข้อหาหนักเพื่อขู่ให้กลัว

เนื่องจากมาตรา 116 เป็นความผิดในหมวด “ความมั่นคง” ตามประมวลกฎหมายอาญา และมีโทษจำคุกสูงสุดถึงเจ็ดปี ซึ่งถือเป็นข้อหาหนักที่มีโทษสูง เมื่อฝ่ายรัฐนำมาตรา 116 มาใช้กับประชาชน มักจะมีการแถลงข่าวเรื่องการจับกุมและการตั้งข้อหาด้วย

ซึ่งไม่ว่าคดีความและผลของคดีจะดำเนินต่อไปอย่างไร ผู้ต้องหาที่ถูกตั้งข้อหาหนักเช่นนี้ย่อมรู้สึกกลัว เป็นกังวลกับผลคดีของตัวเอง ทำให้ฝ่ายรัฐมีอำนาจข่มขู่และต่อรองทางการเมืองเพิ่มขึ้น ในอีกแง่หนึ่งข่าวการตั้งข้อหามาตรา 116 ย่อมสามารถขู่ให้คนอื่นในสังคมรู้สึกกลัวและไม่กล้ากระทำในลักษณะเดียวกันได้อีกด้วย

2. เพิ่มภาระให้จำเลย ต้องหาหลักทรัพย์ประกันตัวสูงขึ้น

เนื่องจากมาตรา 116 มีโทษจำคุกสูงสุดถึงเจ็ดปี ทำให้ตำรวจและอัยการสามารถขอฝากขังผู้ต้องหาไว้ก่อนฟ้องคดีมีระยะเวลาสูงสุดได้ 48 วัน ในระหว่างการฝากขังนั้นจำเลยต้องยื่นขอประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์ต่อศาล ซึ่งศาลมักจะตีราคาหลักทรัพย์ตามอัตราโทษสูงสุดในคดีนั้นๆ

จากการบันทึกข้อมูลพบว่า ผู้ที่ถูกตั้งข้อหามาตรา 116 ส่วนใหญ่ต้องยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวระหว่าง 70,000 – 75,000 บาท ขณะที่คดีของชัชวาลย์ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัวสูงถึง 400,000 บาท โดยชัชวาลย์เคยใช้ตำแหน่งข้าราชการของผู้ใหญ่บ้าน และเงินสด 120,000 บาท ยื่นขอประกันตัวก่อนแล้ว

แต่ศาลไม่อนุญาต ทำให้เขาต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ 15 วันก่อนรวบรวมเงินได้เพียงพอสำหรับการยื่นประกันตัว ขณะที่ในคดีข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ที่มีโทษสูงสุดจำคุก 1 ปี ผู้ต้องหาต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัวคนละ 10,000-20,000 บาทเท่านั้น

3. ทำให้คดีต้องขึ้นศาลทหาร

ตามประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 กำหนดให้คดีในประมวลกฎหมายอาญาหมวด “ความมั่นคง” และคดีฐานฝ่าฝืนประกาศและคำสั่งคสช. ที่พลเรือนตกเป็นผู้ต้องหาต้องพิจารณาที่ศาลทหาร ในบางกรณีหากเลือกใช้ข้อหาอื่น เช่น หากใช้เพียงข้อหาหมิ่นประมาทในคดีของสิทธิทัศน์และวชิร

หรือ ใช้เพียงข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในคดีของรินดา ก็จะต้องพิจารณาคดีที่ศาลพลเรือน ดังนั้น ในยุคคสช. หากรัฐต้องการจะจับกุมดำเนินคดีกับบุคคลใดที่ศาลทหาร เมื่อใช้วิธีตั้งข้อหามาตรา 116 เข้าไปด้วยก็ทำให้คดีนั้นอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหารได้ทันที แม้ว่าการกระทำจะไม่เข้าองค์ประกอบความผิดของมาตรา 116 และสุดท้ายศาลจะพิพากษายกฟ้องก็ตาม

และ 4. เพิ่มความชอบธรรมในการจับกุมดำเนินคดี

ในคดีของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ 14 คน ผู้ต้องหาได้รณรงค์ต่อสาธารณะว่าข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ตามประกาศคสช. นั้นเป็นข้อหาที่ไม่มีความชอบธรรม ทั้งในแง่ที่มาและเนื้อหาซึ่งขัดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และพวกเขาประกาศอารยะขัดขืนต่อกฎหมายนี้ เมื่อผู้ต้องหาทั้ง 14 คนถูกจับ หากเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีพวกเขาด้วยข้อหาฝ่าฝืนประกาศคสช. ก็จะทำให้สังคมรู้สึกเห็นใจผู้ต้องหา

เจ้าหน้าที่จึงตั้งข้อหามาตรา 116 กับผู้ต้องหาทั้ง 14 คนด้วย ทำให้ดูเหมือนผู้ต้องหากระทำการที่มีลักษณะร้ายแรง สังคมจึงเห็นใจผู้ต้องหาน้อยลง และในฐานะที่มาตรา 116 เป็นกฎหมายอาญาที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว ไม่ใช่กฎหมายที่คณะรัฐประหารประกาศใช้เอง ผู้ต้องหาทั้ง 14 คนจึงไม่อาจอ้างความไม่ชอบธรรมของกฎหมายได้ง่ายนัก และทำให้การจับกุมดำเนินคดีมีความชอบธรรมมากขึ้น


ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก ilaw