ทบ.ยัน แกล้งแต่งเป็นหญิง ไม่มีทางรอด เกณฑ์ทหาร เหตุมีห้องวินิจฉัยเฉพาะกลุ่มเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด ยันคณะกรรมการตรวจเลือกมีการกลั่นกรองอย่างรอบคอบภายใต้กฎเกณฑ์ของทางราชการ
รายงานข่าวแจ้งว่า วานนี้ (3 เม.ย. 2562) พันเอกหญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก ทบ. ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีที่มีชายหนุ่มแต่งกายเป็นผู้หญิงเข้ารับคัดเลือกการเกณฑ์ทหารประจำปี เพื่อให้ตัวเองรอดไม่ได้จับใบดำใบแดง ว่า ปัจจุบันการตรวจเลือกทหารกองประจำการ กองทัพมีหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติต่อผู้เข้ารับการตรวจเลือกทุกคน
โดยเฉพาะในปัจจุบันมีผู้เข้ารับการตรวจเลือกที่สภาพร่างกายจิตใจไม่เป็นชายสมบูรณ์แบบ และไม่เหมาะกับการเป็นทหาร. กองทัพจึงได้จัดให้มีสถานที่เฉพาะในการตรวจร่างกายและวัดขนาด
ส่วนการจะวินิจฉัยให้เป็นบุคคลประเภทใดนั้น มีคณะกรรมการแพทย์เป็นผู้ตรวจร่างกาย วินิจฉัยแยกประเภทบุคคล และมีประธานคณะกรรมการตรวจเลือกเป็นผู้ระบุความถูกต้องในผลการตรวจเลือกอีกระดับหนึ่ง ตามหลักเกณฑ์แล้วผู้ที่มีสภาพร่างกายและจิตใจเป็นหญิง
ถ้าผ่านการตรวจร่างกายและได้รับการลงความเห็นจากคณะกรรมการแพทย์แล้ว จะถูกจัดให้อยู่ในคนจำพวกที่ 2 “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” ซึ่งเป็นไปตามข้อบัญญัติในกฎกระทรวง ฉบับที่ 75 ออกตาม พ.ร.บ. รับราชการทหาร พ.ศ.2497
โดยการจะระบุว่าเป็นคนจำพวกที่ 2 นั้น จะต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
1.ทำการแปลงเพศแล้ว
2.มีการปรับเปลี่ยนร่างกายให้เป็นสภาพของเพศหญิง แต่ยังไม่แปลงเพศ
3.มีหนังสือรับรองของโรงพยาบาล หรือสถาบันทางการแพทย์ของรัฐ โดยมีแพทย์ทางจิตเวช เป็นผู้วินิจฉัยและออกหนังสือรับรองให้
ซึ่งผู้ที่คณะกรรมการวินิจฉัยว่าเป็นคนจำพวกที่2 “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” กองทัพจะไม่คัดคนประเภทนี้ไว้รับราชการทหาร
อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจเลือกทหาร สำหรับผู้ที่มีสภาพร่างกายและจิตใจเป็นหญิงนั้น อาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันในแต่ละกรณี ซึ่งนอกจากจะต้องผ่านการตรวจร่างกายตามเกณฑ์คนจำพวกที่ 2 แล้ว คณะกรรมการตรวจเลือกยังต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ เช่น การยืนยันสถานะทางสังคม ของบุคคลในท้องถิ่นควบคู่ไปด้วย มิใช่ดูแต่การตรวจสภาพร่างกายภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว
ขอให้มั่นใจว่าการวินิจฉัยโดยคณะกรรมการตรวจเลือกมีการกลั่นกรองอย่างรอบคอบภายใต้กฎเกณฑ์ของทางราชการ ไม่น่าจะมีบุคคลใดที่ใช้วิธีการปรับปรุงรูปลักษณ์ภายนอกของตนเอง ให้เห็นเป็นหญิง เพื่อหวังให้ไม่ต้องเข้ารับการคัดเลือกเป็นทหารนั้น ไม่น่าจะกระทำได้
ขอยืนยันว่า กองทัพยึดมั่นในแนวทางการ ตรวจเลือกทหารกองประจำการ ที่ผู้เข้ารับการตรวจเลือกทุกคนจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้หลักการและแนวทางตามกฎหมาย
โดยกรณีผู้โพสต์ผลการตรวจเลือกที่ อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ และที่ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี นั้น ในเบื้องต้นทั้ง 2 กรณีผ่านกระบวนการตรวจเลือก และถูกระบุใน สด.43 ว่าเป็นบุคคลจำพวกที่ 2 ภายใต้การวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจเลือกในพื้นที่
ส่วนการโพสต์แสดงผลการตรวจเลือกของตนเองนั้น ขอให้พิจารณาถึงความเหมาะสมด้วย เพราะอาจจะถูกนำไปตีความให้เกิดความเข้าใจผิดในกระบวนการตรวจเลือกทหารในภาพรวมได้