6 ตุลา รำลึก 6 ตุลา

รำลึก 44 ปี 6 ตุลาฯ 2519 ธรรมศาสตร์ ญาติวีรชนร่วมไว้อาลัยผู้สูญเสีย

วันนี้ครบรอบ 44 ปี 6 ตุลา 2519 กลุ่ม ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มีการจัดงานรำลึก

Home / NEWS / รำลึก 44 ปี 6 ตุลาฯ 2519 ธรรมศาสตร์ ญาติวีรชนร่วมไว้อาลัยผู้สูญเสีย

ประเด็นน่าสนใจ

  • วันนี้ครบรอบ 44 ปี 6 ตุลา 2519 กลุ่ม ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มีการจัดงานรำลึก
  • โดยร่วมทำบุญใส่บาตรอุทิศแด่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ร่วมกันรำลึกและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ พร้อมทั้งไว้อาลัยให้กับวีรชนผู้สูญเสีย
  • ยังมีการจัดเวทีอภิปรายสาธารณะ PRIDI Talks  ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “จากหนักแผ่นดินสู่โรคชังชาติ : ชาติความเป็นไทย และประชาธิปไตยที่แปรผัน

วันนี้( 6 ต.ค. 63 ) ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ บริเวณสวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มีการจัดงานรำลึก ครบรอบ 44 ปี 6 ตุลา 2519 มีผู้ร่วมทำบุญใส่บาตรอุทิศแด่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ร่วมกันรำลึกและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ พร้อมทั้งไว้อาลัยให้กับวีรชนผู้สูญเสีย

โดยมีนายกฤษฎางค์ นุตจรัส อดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ซึ่งอยู่ร่วมเหตุการณ์, นายพลากร จิรโสภณ อดีตประธานศูนย์กลางนักเรียน ปี 2516 พร้อม นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) เป็นต้น

ทั้งนี้เวลา 07.20 น. นายสุธรรม แสงประทุม นักการเมือง อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้ร่วมขับร้องบทเพลงที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ทางการเมือง อาทิ เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา, เพลงจิตร ภูมิศักดิ์ และเพลงเสียงเพรียกจากมาตุภูมิ เป็นต้น

ในเวลา 08.00 น. นายบุญสม อัครธรรมกุล ผู้ช่วยอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ เป็นตัวแทน รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ในการเปิดงาน โดยกล่าวว่า รศ.เกศินี ติดธุระที่นัดหมายไว้ก่อนหน้า

นายบุญสม กล่าวว่า การจัดงานรำลึกวีรชน 6 ตุลา 2519 จัดอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ ซึ่งมีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นความต่อเนื่องของยุคสมัย ที่สะท้อนให้เห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย และการขับเคลื่อนประชาธิปไตยของนิสิต นักศึกษา ประชาชน ทั้งยังสะท้อนให้เห็นความตื่นตัวเชิงอุดมคติภายใต้คำขวัญของการจัดงานรำลึกเมื่อครั้งครบรอบ 20 ปี 6 ตุลาว่า ‘ขบวนการนักศึกษาประชาชนเดือนตุลากล้าต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีงาม’

‘เพื่อรำลึกถึงวีรชนผู้เสียสละชีวิตในเหตุการณ์ สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีมติอนุมัติจัดสร้างประติมากรรมกลางแจ้งจนแล้วเสร็จเมื่อปี 2543 เป็นรูปเขื่อนยาว 6 เมตร หมายถึงการปิดกั้นสายธารประชาธิปไตยในห้วงเวลานั้น รอบชิ้นงาน 4 ด้าน สลักอักษรสีดำ เป็นถ้อยคำ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ในขณะนั้น เพื่อสรุปเรื่องราวเป็นข้อความสั้นๆ แต่ความหมายลึกล้ำ ทั้งยังอยู่หน้าหอประชุมใหญ่ที่หลายชีวิตของนิสิต นักศึกษา และประชาชนต้องมาจบลงตรงนี้ในนามของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอคารวะต่อดวงวิญญาณของวีรชนเดือนตุลา’นายบุญสม กล่าว

หลังจากนั้น นายพลากร จิรโสภณ อดีตประธานศูนย์กลางนักเรียน ปี 2516 อ่านรายนามผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลากว่า 40 ราย จากนั้น นายสุขุม เลาหพูนรังษี อดีตประธานชมรมนาฏศิลป์และการละคร ม.ธรรมศาสตร์กล่าวบทกวี รำลึก 44 ปี 6 ตุลา ซึ่งในช่วงท้ายของกิจกรรม นายจาตุรนต์ ฉายแสง ได้ทำการปาฐกถารำลึก เหตุการณ์ “6 ตุลาฯ 2519” ประจำปี 2563 จากนั้นได้มีพิธีมอบรางวัล “จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย”

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ยังมีการจัดเวทีอภิปรายสาธารณะ PRIDI Talks  ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “จากหนักแผ่นดินสู่โรคชังชาติ : ชาติความเป็นไทย และประชาธิปไตยที่แปรผัน  โดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย

คุณนิธินันท์ ยอแสงรัตน์ อดีตบรรณาธิการข่าว , คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw และคุณธีรชัย ระวิวัฒน์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   จากนั้นในช่วงบ่ายถึงเย็น จะมีกิจกรรมฉายภาพยนต์สั้น เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จำนวน 2 เรื่อง คือภาพยนต์สั้นเรื่องเสียงแห่งความเงียบ และเรื่องสองพี่น้อง และสุดท้ายเป็นการจัดเสวนา “การเมืองไทยในทัศนะคนรุ่นใหม่”