จ่านิว ถอดถอน กกต. เนติวิทย์

‘จ่านิว’ ล่ารายชื่อถอด กกต. ได้ 7,200 รายชื่อ จ่อยื่น ป.ป.ช. 11 เม.ย.นี้

‘จ่านิว’ ล่ารายชื่อถอดถอน กกต. เผยขณะนี้ได้ 7,200 รายชื่อแล้ว มีกำหนดยื่นถึง ป.ป.ช. 11 เม.ย.นี้     วันที่ 5 เม.ย.62 ที่…

Home / NEWS / ‘จ่านิว’ ล่ารายชื่อถอด กกต. ได้ 7,200 รายชื่อ จ่อยื่น ป.ป.ช. 11 เม.ย.นี้

‘จ่านิว’ ล่ารายชื่อถอดถอน กกต. เผยขณะนี้ได้ 7,200 รายชื่อแล้ว มีกำหนดยื่นถึง ป.ป.ช. 11 เม.ย.นี้    

วันที่ 5 เม.ย.62 ที่ บริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว และนายธนวัฒน์ วงค์ไชย แนวร่วมประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เป็นธรรม ตั้งโต๊ะเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมยื่นรายชื่อถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. โดยมีประชาชนทั่วไป นิสิตนักศึกษาทยอยร่วมลงรายชื่ออย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้มีตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนเรศวร (พิษณุโลก) มอบรายชื่อถอดถอนกกต. จำนวน 175 รายชื่อ ให้กับนายสิรวิชญ์ โดยบรรยากาศทั่วไปเป็นไปอย่างสงบ

ขณะเดียวกัน นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางมาร่วมลงชื่อถอดถอน กกต. นอกจากนี้ ยังมีนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  นำรายชื่อจำนวน 64 รายชื่อ มามอบให้กับนายสิรวิชญ์ด้วย

ทั้งนี้นายเนติวิทย์เปิดเผยว่าวันนี้ตนมาใช้สิ่งที่เป็นเจตจำนงของคนไทยคือ อยากให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์โปร่งใส ซึ่งเราก็ใช้จ่ายงบประมานไปจำนวนมากมายมหาศาลให้กับกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง ที่เราไว้วางใจ และคอยอำนวยความสะดวกให้เกิดความยุติธรรมโปร่งใสมากที่สุด แต่เราก็รู้สึกว่าไม่ได้เป็นแบบนั้น ตนรู้สึกว่า เป็นการใช้จ่ายงบประมาณโดยไม่เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึง มีกลุ่มคนบางกลุ่มอาจมีความไม่บริสุทธิ์เพียงพอ สิ่งเหล่านี้ คือ ความกังขาของประชาชน จึงมาร่วมแสดงพลังให้เป็นเสียงบอกไปว่าเราไม่ต้องการสิ่งที่เป็นอยู่แบบนี้

หลังจากนั้นในเวลา 17.00 น. นายสิรวิชญ์ได้เปิดเผยว่า ตามที่แนวร่วมประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เป็นธรรมได้จัดกิจกรรมให้ประชาชนร่วมลงชื่อถอดถอน กกต.ตามสถานที่ต่างๆ ได้มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งส่งรายชื่อมาให้ด้วย จนถึงขณะนี้เราสามารถรวบรวมรายชื่อได้แล้วประมาณ 7,234 รายชื่อ และยังมีในส่วนของต่างจังหวัดที่อยู่ระหว่างส่งทางไปรษณีย์อีก คาดว่าตัวเลขจะชัดเจนในสัปดาห์หน้า เป้าหมายยังคงเดิมคือ 20,000 รายชื่อ สำหรับการลงชื่อร่วมแคมเปญถอดถอนกกต.ใน www.change.org ขณะนี้ มีประมาณ 850,000 รายชื่อ  เป้าหมายคือ 1,000,000 รายชื่อ  โดยในวันที่ 11 เม.ย.นี้  เวลา 10.30 น. ตนจะเดินทางไปยื่นเอกสารรายชื่อถอดถอนกกต.ให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ที่สำนักงานในจังหวัดนนทบุรีต่อไป

การถอดถอนองค์กรอิสระ

ตำแหน่งที่อาจถูกถอดถอนได้

1.นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี
2.สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
3.ประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา และผู้พิพากษาที่ป.ป.ช.กำหนด
4.ประธานศาลปกครองสูงสุด รองประธานศาลปกครองสูงสุด และผู้พิพากษาที่ป.ป.ช.กำหนด
5.ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหลาย
6.อัยการสูงสุด รองอัยการสูงสุด และอัยการทั้งหลายที่ป.ป.ช.กำหนด
7.กรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.)
8.ผู้ตรวจการแผ่นดิน
9.ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
10.หัวหน้าสํานักตุลาการทหาร
11.ปลัดกระทรวง อธิบดีกรม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปลัดกรุงเทพมหานคร
12.หัวหน้าหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล
13.กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ
ฯลฯ

เหตุในการถอดถอน

1.มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ
2.ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่
3.ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ / หน้าที่ในการยุติธรรม
4.ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
5.ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ขั้นตอน

1.ผู้ริเริ่มไม่เกิน 100 คน ไปแสดงตนต่อประธานวุฒิสภาก่อนเริ่มต้นรวบรวมรายชื่อ
2.ผู้ริเริ่มรวบรวมลายมือชื่อประชาชน พร้อมเอกสารระบุชื่อ อายุ ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน สำเนาบัตรประชาชนหรือเอกสารที่มีรูปถ่ายที่ทางราชการออกให้ ให้ครบ 20,000 คน ภายใน 180 วัน
3.ผู้ริเริ่มนำรายชื่อประชาชน พร้อมระบุพฤติการที่กล่าวหาผู้ที่จะถูกถอดถอน และพยานหลักฐานตามสมควรยื่นต่อประธานวุฒิสภา
4.ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนโดยเร็ว
5.หากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เห็นว่ามีมูลให้ทำรายงานเสนอต่อวุฒิสภา ระหว่างนี้ผู้ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่อไปไม่ได้ และให้ประธานวุฒิสภาจัดประชุมวุฒิสภาโดยเร็วเพื่อลงมติ
6.สมาชิกวุฒิสภาลงมติให้ถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาออกจากตำแหน่ง โดยอาศัยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด

ผล : ผู้ที่ถูกถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งหรือให้ออกจากราชการนับตั้งแต่วันที่วุฒิสภาลงมติ และให้ตัดสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองและสิทธิรับราชการ 5 ปี มติของวุฒิสภาให้เป็นที่สุด ใครจะมาร้องบุคคลเดิมด้วยเหตุเดิมอีกไม่ได้

ผู้ที่มีบทบาทมาก : คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจจริงๆ : วุฒิสภา โดยมติ 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด

ความเป็นไปได้ : มีเสมอ

ข้อมูลจาก ilaw.or.th