‘ ธนาธร ‘ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ รับทราบข้อกล่าวหา ม. 116 ฐานยุยงปลุกปั่นฯ
วันที่ 6 เม. ย. 2562 ที่สถานีตำรวจนครบาล ปทุมวันนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ตามหมายเรียกเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ โดยก่อนเข้าพบพนักงานสอบสวน นายธนาธร กล่าวขอบคุณประชาชนที่มาให้กำลังใจ
ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีรายงานการออกหมายเรียกนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ดังนี้ ข้อกล่าวหาในคดีอาญาที่ 691/2558 คสช. กล่าวหา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 โดยเหตุเกิดหน้า สน.ปทุมวัน กทม. เมื่อวันที่ ( 24 มิถุนายน 2558 ) ในเวลา 22.00 น.
สำหรับพฤติการณ์แห่งคดีที่ทำให้นำไปสู่การออกหมายจับดังกล่าว เนื่องจากคืนก่อนเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 นายรังสิมันต์ โรม และพวก รวม 7 คน ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 รับทราบข้อกล่าวหา แต่เมื่อมาถึง สน.ปทุมวัน ผู้ต้องหากับพวกไม่ยอมเข้าพบพนักงานสอบสวน โดยรออยู่บริเวณใกล้เคียง สน.ปทุมวัน หลังจากนั้นได้มีกลุ่มบุคคลให้การช่วยเหลือกลุ่มผู้ต้องหาโดยการนำรถตู้สีขาวพากลุ่มผู้ต้องหาหลบหนี
และเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทะเบียนรถตู้คันดังกล่าวพบว่าเป็นรถของบริษัทที่มีนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของนายธนาธร เป็นกรรมการ นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบว่า ในวันดังกล่าวนายธนาธรได้มาอยู่ที่ สน.ปทุมวัน กับนายรังสิมันต์ และพวกด้วย คณะ คสช. จึงมอบอำนาจให้ พันเอก บุรินทร์ ทองประไพ ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับนายธนาธร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 189 เพื่อให้ได้รับโทษตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตามสำหรับคำบรรยายข้อกล่าวหานายธนาธร สะท้อนว่าตำรวจได้ตั้งข้อหาเขาอย่างน้อย 2 ฐานความผิดคือ
1. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116(2) (3) ยุยงปลุกปั่นฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และ
2. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 ให้ที่พักพิงผู้ต้องหา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
รู้จักกฎหมายอาญามาตรา 116
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต
(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย
(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี
ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวอยู่ในหมวดของความมั่นคง ซึ่งหากผู้กระทำมีเจตนาให้กระทบต่อความมั่นคง โดยการทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นๆ จะถือว่ามีความผิดตามมาตรา 116 แต่หากเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามสิทธิขึ้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 116