กรมสุขภาพจิต เผยสถิติประชาชนโทรปรึกษาสายด่วน 1323 เรื่องความเครียดจากการเมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 68 แนะรับฟังความคิดที่แตกต่างได้ แต่ไม่แตกแยก
วานนี้ (5 เมษายน 2562) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยรายงานสถิติการให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตทางโทรศัพท์ สายด่วน 1323 ในรอบเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2562 ที่ผ่านมา พบว่า มีการให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต รวมจำนวน 13,229 ครั้ง
โดยปัญหาด้านสุขภาพจิตที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 ปัญหาทางจิตเวช ร้อยละ 39.02 อันดับที่ 2 ความเครียด/วิตกกังวล ร้อยละ 27 อันดับที่ 3 ปัญหาความรัก ร้อยละ 8.74 อันดับที่ 4 ปัญหาซึมเศร้า ร้อยละ 6.89 และอันดับที่ 5 ปัญหาครอบครัว ร้อยละ 5.59 และจำนวนประชาชนที่โทรศัพท์เข้ามาปรึกษาในภาพรวมทั้งหมด เปรียบเทียบจากเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.2
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า หากวิเคราะห์ข้อมูลในรายเดือนจะพบว่า ผู้ที่โทรศัพท์ปรึกษาเฉพาะเรื่องความเครียดและวิตกกังวลจากการเมือง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีจำนวน 22 ราย และเดือนมีนาคม 2562 มีจำนวน 37 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 68 เนื่องจากเป็นช่วงของการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม
ส่วนใหญ่เกิดความเครียดจากการมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันทางการเมืองระหว่างคนใกล้ชิด คนในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงาน ทำให้รู้สึกเครียด จึงโทรศัพท์มาปรึกษาพูดคุยเพื่อระบายความเครียด โดยขณะนี้กรมสุขภาพจิต กำลังติดตามเรื่องความเครียดจากการเมืองอย่างใกล้ชิด
ในสังคมประชาธิปไตย ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องไม่แตกแยก สามารถอยู่ร่วมกันได้ เน้นรับฟังความคิดเห็นของบุคคลอื่นด้วยความเคารพ และให้เกียรติกัน เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดสะสมและวิตกกังวลจนเกินไป ควรมีการติดตามข้อมูลข่าวสารบ้านเมืองอย่างพอดี เปิดกว้างรับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย ไม่รับข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียว ทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นปกติ พักผ่อนให้เพียงพอ และมีการผ่อนคลายความเครียด
ทั้งนี้ หากยังมีความเครียดและวิตกกังวลอยู่ สามารถโทรมาขอรับบริการปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือขอรับบริการด้านสุขภาพจิตจากโรงพยาบาลจิตเวชในสังกัดกรมสุขภาพจิตได้ทุกแห่งทั่วประเทศ อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
5 วิธีที่ควรปฏิบัติ การติดตามข่าวสารบ้านเมืองให้ห่างไกลความเครียด
1.แบ่งเวลาติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างพอดี โดยการติดตามข่าวสารไม่ควรติดตามต่อเนื่องนานเกิน 2 ชั่วโมงขึ้นไป เพราะจะทำให้เครียดมากขึ้น
2. ทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นปกติ หันเหความสนใจจากข่าวสารไปเรื่องอื่น ละเว้นการรับรู้ข่าวสารการเมืองบ้าง โดยหันไปทำหน้าที่ของตนเอง เรียนหนังสือ การทำงาน และการให้เวลากับครอบครัว
3. เคารพความคิดเห็นแบบประชาธิปไตยที่มีความแตกต่างหลากหลายได้ โดยไม่ดูข่าวหรือรับข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียว จะทำให้เกิดอารมณ์รุนแรง ควรเปิดกว้างและรับข้อมูลข่าวสารที่แตกต่าง
4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง ซึ่งการพักผ่อนจะทำให้ความเครียดลดลง และ
5. การผ่อนคลายความเครียด เช่น การออกกำลังกาย ฝึกโยคะ ทำสมาธิ ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การฝึกหายใจคลายเครียด การกำหนดลมหายใจเข้า-ออก เป็นต้น