สถานการณ์หมอกควันภาคเหนือค่าฝุ่นลดลงต่อเนื่องในหลายพื้นที่ โดย ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีค่าฝุ่น PM2.5 และ PM10 สูงสุดในระดับสีแดง
สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ตรวจวัดสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 พื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัดวันนี้ (6 เม.ย.62) ภาพรวมคุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพปานกลางถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยสารมลพิษทางอากาศที่ตรวจพบเกินมาตรฐาน คือ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ตรวจพบค่าเฉลี่ยระหว่าง 43 – 136 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภาพรวมค่าฝุ่นเกือบทุกพื้นที่ลดลงจากเมื่อวานนี้ (5 เม.ย.62) หลังคุมเข้มหยุดและดับไฟป่าเร่งด่วนเพื่อลดจุดความร้อน (Hotspot)
โดยพบค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในระดับสีแดงมีผลกระทบต่อสุขภาพ 6 พื้นที่ โดยพบพื้นที่ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ค่าฝุ่นสูงสุดอยู่ที่ 136 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ตรวจพบค่าระหว่าง 70 – 170 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินมาตรฐาน 11 พื้นที่ โดยพบพื้นที่ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ค่าฝุ่นลดลง อยู่ที่ 170 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
สำหรับสาเหตุยังมาจากประชาชนลักลอบเผาเพื่อล่าสัตว์ หาของป่า และการเตรียมพื้นที่เกษตร จึงขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่งดการเผาในที่โล่งเพื่อป้องกันการเพิ่มสูงขึ้นของฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง พร้อม เฝ้าระวังการลักลอบเผาตลอด 24 ชั่วโมง และให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายและการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะหน้ากาก N95 ในพื้นที่รุนแรงและค่าฝุ่นสูง
อย่างไรก็ตามกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศแบบ Realtime ได้ทางแอปพลิเคชันและเว็ปไซต์ air4thai ตลอด 24 ชั่วโมง
10 โทษและอันตรายจาก ฝุ่นละออง PM 2.5
- อันตรายต่อปอด หากเราหายใจเอา ฝุ่นละออง PM 2.5 เข้าไปมากๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของปอดเพราะฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้สามารถเข้าไปจนถึงถุงลมในปอดได้ จะทำให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้น หายใจสั้นถี่ และยังอาจส่งผลให้เป็นโรคร้าย เช่น โรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดแข็งจากภาวะฝุ่นจับปอด (Pneumoconiosis)
- มีผลกระทบต่อสุขภาพในอาการเบื้องต้น ได้แก่ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ เหนื่อยง่าย มองไม่ชัด หอบหืด
- มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก คัดจมูก แสบจมูก เจ็บคอ ไอแบบมีเสมหะ หรืออาจส่งผลให้เป็นไซนัสอักเสบได้ หรืออาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น อึดอัดแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก เจ็บหน้าอก
- อันตรายต่อดวงตา อาจทำให้เกิดอาการแสบตา ตาแดง ระเคืองตา ตาอักเสบ ซึ่งผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาอาจทำให้รุนแรงขึ้น เช่น ต้อลม ต้อเนื้อ ภูมิแพ้ขึ้นตา
- โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุหลอดลม ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอปนเลือด มีเสมหะ อาจหายใจมีเสียงดังหวีด หากมีอาการเกิน 3 สัปดาห์ก็อาจจะทำให้เป็นโรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง
- อันตรายกับหัวใจ หากร่างกายได้รับฝุ่นละออง PM 2.5 ปริมาณมากและเป็นระยะเวลานาน จะมีผลต่อระบบหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นแรงขึ้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เกิดภาวะหัวใจวาย และหลอดเลือดสมองตีบจนถึงตายได้
- มะเร็งระบบทางเดินหายใจ ฝุ่นละอองขนาดเล็กเมื่อสัมผัสกับปอดนานๆ อาจเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองหรือระบบเลือด จะทำให้เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ จนก่อให้เกิดโรคปอดเรื้อรัง หรือ มะเร็งปอด
- อันตรายต่อผิวหนัง อาจส่งผลให้เกิดอาการลมพิษ ระคายเคืองคันตามร่างกาย ผิวหนังอักเสบ ปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนัง ผื่นกำเริบ ผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายหรือผู้ที่เป็นโรคผิวหนังอยู่แล้วควรระวังเพื่อไม่ให้โรคกำเริบได้
- อันตรายต่อกลุ่มเสี่ยงเพราะอาจทำให้โรคกำเริบได้ ยิ่งกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคปอด โรคถุงลมในปอดโป่งพอง โรคมะเร็งปอด โรคเกี่ยวกับหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวทำให้มีโอกาสหัวใจวายเฉียบพลัน ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงทั้งหลายควรอยู่แต่ในอาคารบ้านเรือน
- อันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์ ถ้าได้รับฝุ่นพิษเป็นเวลานานๆ ก็มีความเสี่ยงส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้สามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางรกทำให้มีผลต่อน้ำหนักเด็กแรกเกิดน้อยผิดปกติ แล้วยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแท้งบุตร หรือ คลอดก่อนกำหนด และยังอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและระบบสมองของลูก
ที่มา health.mthai.com