ถนนรัชดาภิเษก โค้ง 100 ศพรัชดา

วสท.-กทม. ลงพื้นที่วิเคราะห์ ‘โค้ง 100 ศพรัชดา’ แก้ปัญหาลดอุบัติเหตุ

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ร่วมสำนักโยธาฯ และสำนักจราจร ลงพื้นที่ ตรวจสอบบริเวณถนนรัชดาภิเษก ในจุด 'โค้ง 100 ศพรัชดา'

Home / NEWS / วสท.-กทม. ลงพื้นที่วิเคราะห์ ‘โค้ง 100 ศพรัชดา’ แก้ปัญหาลดอุบัติเหตุ

ประเด็นน่าสนใจ

  • วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ร่วมสำนักโยธาฯ และสำนักจราจร ลงพื้นที่ ตรวจสอบบริเวณถนนรัชดาภิเษก ในจุด ‘โค้ง 100 ศพรัชดา’
  • ที่ผ่านมาจุดดังกล่าวมีการเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง ข้อมูลล่าสุดในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุ 3 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 4 ราย
  • เบื้องต้นเตรียมแก้ไขทั้งระยะสั้น อาทิ ติดตั้งไฟส่องสว่าง ปรับพื้นผิวถนน ส่วนระยะยาว ได้เตรียมงบประมาณปี 2563 สำหรับดำเนินการ

วันนี้ (1 ต.ค.63) เจ้าหน้าที่จาก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ร่วมสำนักโยธาฯ และสำนักจราจร ลงพื้นที่บริเวณ ถ.รัชดาฯ โดยในช่วงเวลาประมาณ 13.30 น. ขณะลงพื้นที่ได้เกิดอุบัติเหตุรถเก๋งชนกัน บริเวณทางโค้งช่องทางขวาสุดบนถนนรัชดาฯ ฝั่งขาเข้า ตรงข้ามศาลอาญา เบื้องต้นรถยนต์ทั้ง 2 คัน ได้รับความเสียหายเล็กน้อย ส่วนผู้ขับขี่รถทั้ง 2 คัน ไม่ได้รับบาดเจ็บ

ทางด้าน ศาสตราจารย์ ดร.พิชัย ธานีรณานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการสาขาป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและการเสียชีวิต เลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเผยว่า บริเวณถนนรัชดาภิเษก เกิดอุบัติเหตุจนเกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินหลายครั้ง

โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุบริเวณเดียวกันนี้ ถึง 3 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 4 ราย วสท. จึงนำทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ลงพื้นที่ตรวจวิเคราะห์ทางวิศวกรรมบริเวณโค้งที่เกิดเหตุเมื่อคืนนี้ ซึ่งลักษณะทางกายภาพของถนนรัชดาภิเษกเป็นถนน 8 เลน แบ่งเป็นฝั่งและฝั่งขาออกฝั่งละ 4 เลน

ซึ่งช่วงโค้งถัดจากอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน ผ่านซอยรัชดา 36 (ซอยเสือใหญ่อุทิศ) ถึง ซอยรัชดา 32 มีรัศมีโค้งกว้างมาก รวมความยาวเกือบ 2 กิโลเมตร พบว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเวลากลางคืนหรือในขณะฝนตก ทำให้ผู้ขับขี่ใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด แต่เดิมอุบัติเหตุมักเกิดบนถนนฝั่งขาออก แต่หลังจากที่มีอุโมงค์ลอดแยกดังกล่าว ทำให้อุบัติเหตุไปเกิดที่ฝั่งขาเข้า เนื่องจากรถขับมาจากอุโมงค์ด้วยความเร็วโดยไม่มีกลไกชะลอความเร็วรถ จนทำให้ผู้ขับขี่ไม่สามารถควบคุมรถได้

ทั้งนี้ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ คน รถ ถนน ซึ่งส่วนใหญ่ในตอนกลางคืน ถนนจะโล่ง ผู้ขับขี่มักจะใช้ความเร็วเกิดกว่าที่กฎหมายกำหนด เมื่อถึงทางโค้งที่เป็นลักษณะโค้งหลังหักจึงเบรกไม่ทัน ไม่คิดว่าจะต้องหักโค้ง ทำให้แหกโค้งชนเสาไฟฟ้า บางครั้งอุบัติเหตุก็เกิดในช่วงที่ฝนตก ถนนลื่น

ข้อเสนอของ วสท.

ทางโค้งรัชดาเป็นโค้งหลังหัก คือ ทางโค้งที่มีสองลักษณะเชื่อมด้วยเส้นตรงสั้น ทำให้ผู้ขับขี่ไม่คิดว่าต้องปรับพวงมาลัย ขณะขับเข้าโค้ง ควรติดตั้งเครื่องหมายจราจรสะท้อนแสงนอกแนวขอบโค้งและติดป้ายบังคับความเร็วให้ผู้ขับขี่เห็นได้อย่างชัดเจน

ไม่มีการยกโค้ง ทำให้รถที่วิ่งเข้าสู่ทางโค้งด้วยความเร็วสูงกว่ากำหนด ไม่สามารถควบคุมรถให้วิ่งตามแนวเส้นทางได้ ควรยกโค้งด้านนอกให้สูง เพื่อให้บังคับล้อรถให้วิ่งเข้าโค้งได้อย่างปลอดภัย หรือปูผิวด้วยหินเล็ก เพื่อลดความเสี่ยงการเสียหลักหลุดโค้งออกไป

ส่วนอีกข้อเสนอ คือ พื้นผิวจราจรในช่วงโค้งไม่เรียบ มีการสึกกร่อนของยางมะตอย เศษหินแตกออกมา ฝนตกจะมีหลุมน้ำขัง ทำให้รถที่วิ่งมาล้อแฉลบ ควรปรับผิวจราจรให้มีสภาพดีและเรียบตามมาตรฐาน ส่วนมาตรการอื่นๆ นอกจากนี้ต้องประสานกับตำรวจเพื่อติดตั้งกล้องจับความเร็วให้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มค่าปรับให้ผู้ขับขี่เกิดความตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน

การแก้ไขปัญหาทั้งระยะ และ ระยะยาว

ด้านนายธนันท์ชัย เมฆประเสริฐวนิช ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผน และผู้ช่วยเลขานุการศูนย์ความปลอดภัยทางถนน กทม. กล่าวว่า เบื้องต้นจะแก้ปัญหาในระยะสั้น โดยการใช้วิธีติดตั้งไฟส่องสว่าง ปรับพื้นผิวถนน ติดไฟเตือนก่อนเข้าโค้ง ตีเส้นจราจรใหม่ ทำคลื่นถนนเพิ่มเติม ส่งนแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว ได้เตรียมงบประมาณปี 2563 สำหรับดำเนินการ แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องกันงบประมาณไปช่วยเหลือโควิด-19 ก่อน

ทั้งนี้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยังมีโค้งอันตรายอีกหลายจุดแถบชานเมือง ซึ่งได้พิจารณาการแก้ไขตามหลักการ อาทิ ต้องปรับปรุงลักษณะทางกายภาพของถนน แต่เนื่องจากถนนในเมืองมีข้อจำกัดในการยกพื้นสูง ต่างจากทางหลวง ทางเชื่อมเมือง และทางพิเศษ แต่อาจติดตั้งไฟส่องสว่างเพิ่มเติม ทั้งนี้ข้อมูลด้านสถิติพบว่าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายนที่ผ่านมารวม 300 ครั้ง เหตุรุนแรงที่สุดช่วงเดือนสิงหาคม

ขณะเดียวกัน ทางตัวแทนสำนักงานเขต บอกว่าทางเขตได้พยายามทำความเข้าใจกะบประชาชน ไม่ให้นำศาล ตุ๊กตาม้าลาย ชุดไทยมาแขวนบริเวณต้นโพธิ์ แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีการฝ่าฝืน แอบนำมาตั้งไว้ตลอด แม้ว่าจะมีการขนออกไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีการแอบเอามาวางไว้อีก สมัยก่อนวางไว้เต็มสะพานลอย ซึ่งส่วนนี้ทางเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามให้ข้อมูลทางวิศวกรรมและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ให้ประชาชนเข้าใจถึงสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุให้มากขึ้นด้วย