สมชัย เตือน กกต. ใช้สูตรคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แจกพรรคเล็ก ที่คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่นำมาคำนวณ ส.ส.ที่พึงจะมี ส่อขัดรัฐธรรมนูญ อาจถูกฟ้อง ป.ป.ช. ถอดถอนได้
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2562 ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็น กรณีทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต. ) มีคำชี้แจงการคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ซึ่งการคำนวณดังกล่าวมีพรรคการเมืองได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไม่น้อยกว่า 25 พรรคการเมือง
นายสมชัยเปิดเผยว่า “เคารพในอำนาจวินิจฉัย แต่เรื่องใหญ่กำลังจะเกิด” การที่ กกต.เคาะสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยเอาเศษไปกระจายให้กับพรรคที่มีคะแนนเสียงต่ำกว่า 71,057.4980 คะแนน หรือ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่นำมาคำนวณ ส.ส.ที่พึงจะมีหนึ่งคนนั้น เป็นผลใหญ่ที่ตามมาในระยะสั้นและระยะยาวดังนี้
ระยะสั้นจะมีพรรคใหญ่และพรรคกลาง ที่เห็นว่า กกต.คำนวณสูตรดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา91 (4) ที่กำหนด “ไม่ให้จัดสรรจำนวน ส.ส.แก่พรรคใดแล้ว มีจำนวน ส.ส.เกินกว่าจำนวนที่พึงจะมี” ฟ้อง ป.ป.ช.ถอดถอน กกต.ว่า กระทำผิดรัฐธรรมนูญ และฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่า กกต.วินิจฉัย กม.ลูกขัดกับรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ประกาศจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อผิดจากที่ควรจะเป็น
ระยะยาว หากหลักการดังกล่าวถูกนำไปใช้โดยไม่มีใครทักท้วง ในอนาคตจะมีพรรคเล็กเกิดขึ้นอีกมากมาย ประเทศไทยอาจมีพรรคการเมืองถึง 200-300 พรรค ในเขตเลือกตั้งหนึ่งจะมีผู้สมัครเป็นร้อยพรรค คะแนนของผู้ชนะจะลดลงเหลือหมื่นต้นๆ ทำให้จำนวน overhang เพิ่มขึ้นอีกมากมาย การกระจายเศษอาจไปถึงพรรคลำดับหลังๆที่มีคะแนนแค่หลักพัน วันนี้ ยังแค่เผยสูตร ไม่ได้ประกาศผลอย่างเป็นทางการ ลองคิด ลองไตร่ตรองดูว่าจะเกิดตามที่ผมกล่าวจริงหรือไม่
ทั้งนี้ นายสมชัย ระบุว่าวันที่ 8 เม.ย. จะสาธิตการคำนวณที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญให้ดู ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ระบุสถานที่ เนื่องจากกำลังหาสถานที่ที่ใช้การแถลงข่าว โดยเจ้าตัวยังบอกอีกว่า หากใครมีสถานที่สาธิตให้ติดต่อมา
…
รัฐธรรมนูญ มาตรา91
การคำนวณหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วยห้าร้อยอันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร
(2) นำผลลัพธ์ตาม (1) ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขตจำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้
(3) นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม (2) ลบด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์คือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ
(4) ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือสูงกว่าจeนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ให้พรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม (2)
(5) เมื่อได้จำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองแล้วให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ในกรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดตายภายหลังวันปิดรับสมัครรับเลือกตั้งแต่ก่อนเวลาปิดการลงคะแนนในวันเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่มีผู้ลงคะแนนให้มาคำนวณตาม (1) และ (2) ด้วย
การนับคะแนน หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ การคิดอัตราส่วน และการประกาศผลการเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร