ผศ.ดร.พรสันต์ แสดงความเห็นต่อสูตรคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของกกต. ชี้คนออกแบบไปฝืนธรรมชาติ
หลังจากทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีคำชี้แจงการคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ซึ่งการคำนวณดังกล่าวมีพรรคการเมืองได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไม่น้อยกว่า 25 พรรคการเมือง
ล่าสุดวันที่ 7 เม.ย. ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความเห็นต่อสูตรคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ของกกต.ว่า
อ่านจากข่าวทราบว่า กกต ท่านใช้สูตรคำนวณออกมาแล้วปรากฏว่าจะมีพรรคเล็กที่ได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อไม่ต่ำกว่า 21-25 พรรคการเมือง ยังมิพักที่จะกล่าวถึงสูตรที่ใช้ในการนำมาคำนวณ หากเราจะพิจารณาในเชิงการออกแบบระบบเลือกตั้งประกอบกับการออกแบบโครงสร้างของสภาผู้แทนราษฎร ผมคิดว่ามันมีปัญหาอย่างน้อย 2 ประการ
1. คนออกแบบไปฝืนธรรมชาติด้วยการไปกำหนดเพดานจำนวน ส.ส. ที่ 500 คน โดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงสำหรับ overhang seats ที่สามารถเกิดขึ้นได้ กรณีนี้แตกต่างจากประเทศเยอรมันที่อนุญาตให้มี overhang seats ได้ ดังนั้น สภาผู้แทนราษฎร (Bundestag) เขาจึงมีจำนวนแตกต่างไปในแต่ละครั้งที่มีการเลือกตั้ง ไม่ได้กำหนดตายตัวแบบบ้านเราที่ท้ายที่สุดต้องถูกบังคับให้ต้องเอาคะแนนไปกระจายให้พรรคอื่นทั้งๆ ที่มิใช่พรรคที่ประชาชนเลือกมาจริงๆ
2. หากเทียบกับเมื่อคราวรัฐธรรมนูญ 2540 เรามีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำว่าหากพรรคการเมืองใดได้คะแนนทั้งประเทศต่ำกว่า 5% จะไม่ได้รับที่นั่งในแบบบัญชีรายชื่อ ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยมากจนเกินไป ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีการกำหนดไว้เช่นนี้ จะมีก็แต่กรณีของการพิจารณาแคนดิเดตนายกฯ เท่านั้นอันเป็นคนละเรื่อง
ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่เราจะมีพรรคเล็กพรรคน้อยเยอะภายใต้กติกาปัจจุบัน ที่ผมพูดตรงนี้ไม่ได้เป็นกรณีปิดกั้นพรรคการเมืองพรรคเล็กไม่ให้มีบทบาทนะครับ หากแต่ในเชิงหลักการเขาพิจารณาในแง่เสถียรภาพด้วย พรรคเล็กที่จะมานี้ต้องได้รับความนิยมระดับหนึ่ง
…
รัฐธรรมนูญ มาตรา91
การคำนวณหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1) นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วยห้าร้อยอันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร
2) นำผลลัพธ์ตาม (1) ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขตจำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้
3) นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม (2) ลบด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์คือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ
4) ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือสูงกว่าจeนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ให้พรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม (2)
5) เมื่อได้จำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองแล้วให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ในกรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดตายภายหลังวันปิดรับสมัครรับเลือกตั้งแต่ก่อนเวลาปิดการลงคะแนนในวันเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่มีผู้ลงคะแนนให้มาคำนวณตาม (1) และ (2) ด้วย
การนับคะแนน หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ การคิดอัตราส่วน และการประกาศผลการเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร