#อาชีพสร้างรายได้ 108 อาชีพทำเงิน มะเขือเทศเชอรี่

สาวญี่ปุ่น ทำฟาร์ม ‘มะเขือเทศเชอรี่’ ใช้เทคโนโลยี ขายแบบพรีเมียม และสร้างระบบงานเอื้อคนเป็นแม่

แม่ลูกอ่อนนั้นมักถูกหลีกเลี่ยงจากบริษัทในญี่ปุ่น เพราะมองว่าอาจจะถูกรบกวนจากภาระครอบครัว นั่นทำให้ อายากะ มิอุระ (Ayaka Miura) วัย 29 คุณแม่ของลูกสาววัย 4 ขวบ เจ้าของฟาร์ม ‘มะเขือเทศเชอรี่’ ที่ชื่อว่า…

Home / NEWS / สาวญี่ปุ่น ทำฟาร์ม ‘มะเขือเทศเชอรี่’ ใช้เทคโนโลยี ขายแบบพรีเมียม และสร้างระบบงานเอื้อคนเป็นแม่

แม่ลูกอ่อนนั้นมักถูกหลีกเลี่ยงจากบริษัทในญี่ปุ่น เพราะมองว่าอาจจะถูกรบกวนจากภาระครอบครัว นั่นทำให้ อายากะ มิอุระ (Ayaka Miura) วัย 29 คุณแม่ของลูกสาววัย 4 ขวบ เจ้าของฟาร์ม ‘มะเขือเทศเชอรี่’ ที่ชื่อว่า ‘drop farm’ ในเมืองมิโตะ จังหวัดอิบารากิ สร้างสภาพแวดล้อมของการทำงานให้เหมาะกับคนเป็นแม่ที่ต้องเลี้ยงลูก ส่งผลให้บรรดาแม่ๆ จำนวนมากต่างอยากมาทำงานที่นี่

อายากะบอกว่า การทำฟาร์มนั้นง่ายสำหรับพวกแม่ๆ เพราะมันไม่ใช่งานที่เร่งด่วน ยืดหยุ่นเรื่องเวลาได้ และแทบไม่ต้องรับมือกับเดดไลน์ของลูกค้า แม้แต่เวลาคนงานต้องหยุดหลายวันเพราะลูกไม่สบาย คนอื่นก็สามารถดูแลพืชแทนได้ เพราะสิ่งที่คนเป็นแม่ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกก็คือการให้เวลากับครอบครัว ไม่ใช่เรื่องของค่าตอบแทนที่สูง หรือความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่

นอกจากนี้เธอยังพบว่า การจ้างคนงานที่มีชั่วโมงการทำงานแบบสั้นๆ นั้นมี productivity สูงกว่าคนที่ทำงานแบบฟูลไทม์ ซึ่งอาจมีปัญหาเรื่องสมาธิหากต้องทำอะไรซ้ำซากจำเจ

ปัจจุบันฟาร์มมะเขือเทศเชอรี่ของอายากะ จ้างคนงานหญิง 12 คน และคนงานชายอีก 2 คน ผลผลิตของที่นี่จะจำหน่ายทางออนไลน์ รวมทั้งในซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ โดยกลุ่มลูกค้าหลักก็คือผู้หญิงที่เพิ่งมีลูกและกำลังให้ความใส่ใจในเรื่องการกิน ซึ่งแน่นอนว่าทีมงานของอายากะเข้าใจความรู้สึกของผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นอย่างดี

ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีก่อน ตอนที่อายากะเพิ่งคลอดลูกที่โตเกียว เธอมีความรู้เกี่ยวกับการทำฟาร์มเพียงเล็กน้อย ก่อนหน้านั้นเธอทำงานอยู่ในแวดวงเครื่องแต่งกายและโฆษณา แล้วจึงหันมาให้ความสนใจอาชีพการเกษตรภายหลัง ซึ่งเธอเชื่อว่าเธอน่าจะเริ่มต้นอาชีพนี้ได้ขณะที่เลี้ยงลูกไปด้วย

เมื่อมองหาทำเลทำฟาร์ม อายากะกังวลเรื่องปัจจัยเสี่ยงด้านภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วมหรือไต้ฝุ่น เธอจึงตัดสินใจเช่าที่ดินของญาติสามีในเมืองมิโตะ เนื่องจากตั้งอยู่บนเนินและแวดล้อมด้วยป่า และเธอเองก็ชอบที่นี่มากด้วย

อายากะนำนวัตกรรมการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดินที่เรียกว่า ‘ไอเม็ค’ (Imec Film Farming) ซึ่งเธอเห็นในทีวีมาใช้กับฟาร์มมะเขือเทศเชอรี่ของเธอ วิธีการนี้ถูกคิดค้นโดย ดร.ยูอิจิ โมริ (Yuichi Mori) กล่าวคือจะใช้แผ่นฟิล์มไฮโดรเจลแทนดิน พืชจะดูดซึมน้ำและสารอาหารขึ้นมาสร้างการเจริญเติบโตได้อย่างดี ขณะที่เชื้อโรคกับไวรัสไม่สามารถผ่านเข้ามาได้เพราะความเล็กระดับนาโนของแผ่นฟิล์ม ซึ่งวิธีการนี้จะใช้น้ำน้อยกว่าการปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์

ด้วยวิธีการปลูกแบบไอเม็คนี้จะทำให้พืชรู้สึกกลัวอด มันจึงสังเคราะห์สารอาหารขึ้นมาอย่างเต็มที่ ผลที่ได้ก็คือผลผลิตที่มีคุณภาพสูง อายากะบอกว่ามะเขือเทศเชอรี่ของเธอซึ่งเต็มไปด้วยคุณค่าของสารอาหารอย่างวิตามินซี ไลโคปิน และกรดอะมิโนนั้น เป็นองค์ประกอบของความงามสำหรับลูกค้าของเธอ นี่เองเธอจึงได้ไอเดียในการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ของเธอว่า ‘Beauty Tomatoes’

drop farm ยังใช้ระบบคลาวด์ในการควบคุมสภาพแวดล้อมของโรงเรือนกระจกจากระยะไกล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุณหภูมิ ความชื้น หรือทิศทางลม ซึ่งอายากะตั้งเป้าว่าต่อไปจะให้คนงานของเธอเข้าถึงฐานข้อมูลนี้และสามารถทำงานผ่านสมาร์ทโฟนได้

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มะเขือเทศเชอรี่ของอายากะซึ่งเริ่มปลูกและจำหน่ายเมื่อปี 2015 ขายในราคาที่แพงกว่ามะเขือเทศเชอรี่ทั่วไปถึง 3 เท่า โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงซึ่งใส่ใจในการเลือกซื้อสินค้า

โดยเมื่อปีก่อนนับจนถึงเดือนกันยายน drop farm ขายมะเชือเทศเชอรี่ไป 20 ตัน คิดเป็นเงิน 35 ล้านเยน และในปีบัญชีนี้คาดหวังว่าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เนื่องจากเพิ่งขยายพื้นที่ปลูกออกไปอีก 5 พันตารางเมตร ซึ่งนอกจากจะจำหน่ายมะเขือเทศเชอรี่สดแล้ว ทางฟาร์มก็ยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปอย่างน้ำมะเชือเทศกับแยมด้วย

อายากะบอกว่า วิธีสร้างผลกำไรสำหรับฟาร์มขนาดเล็ก สิ่งที่สำคัญคือ ต้องเป็นของคุณภาพระดับพรีเมียม เป็นสินค้าที่มี value-added ใช้กลยุทธ์การสร้างแบรนด์  และขายโดยตรงสู่มือผู้บริโภค ซึ่งหากขายผ่านผู้ค้าส่ง ก็จะทำให้ผู้ผลิตสูญเสียอำนาจในการกำหนดราคาไป

ทุกวันนี้อายากะเดินสายบรรยายไปทั่วญี่ปุ่น ให้กับคนที่สนใจโมเดลธุรกิจการทำฟาร์มแบบเธอ ซึ่งอายากะไม่หวงเลย และอยากให้คนอื่นทำตามด้วยซ้ำ สำหรับระบบงานที่เอื้อคนเป็นแม่ ซึ่งอาจเป็นการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ด้วย

ส่วนเป้าหมายในอนาคต อายากะตั้งเป้าว่าจะขยายกิจการออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งอาจรวมถึงประเทศไทยด้วย


ที่มา: japantimes.co.jp

ภาพจาก: drop farm, Ayaka Miura