กองทัพเรือฝึกภาคสนามภาคทะเลในการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2562
วันนี้ (7 เมษายน 2562 ) เวลา 09.30 น. พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือและคณะประกอบด้วย พลเรือเอก โสภณ วัฒนมงคล รองผู้บัญชาการทหารเรือในฐานะผู้อำนวยการการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2562 พลเรือเอกชาติชาย ศรีวรขาน เสนาธิการทหารเรือ พลเรือเอก นภดล สุภากร ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ พลเรือโท ไกรศรี เกสร รองเสนาธิการทหารเรือฝ่ายยุทธการ พลเรือโท สิทธิพร มาศเกษม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการฝึกภาคสนาม-ภาคทะเล ในการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2562 บริเวณหาดท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงาโดยมีพลเรือตรี วราห์ แทนขำ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ให้การต้อนรับ
การฝึกในวันนี้เริ่มด้วยการฝึกยิงอาวุธทางยุทธวิธี โดยเมื่อผู้บังคับการกรมรักษาฝั่งที่ 1 บรรยายสรุปการยิงแล้ว หน่วยยิงกองพันต่อสู้อากาศยานที่ 22 ได้ทำการฝึกยิงเป้าอากาศยาน หน่วยยิง กองพันรักษาฝั่งที่ 11 ฝึกยิงทางยุทธวิธี และหน่วยยิงจาก กองพันต่อสู้อากาศยานที่ 22 และ กองพันปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน กองพลนาวิกโยธิน ได้ทำการยิงอาวุธปล่อยประทับบ่าแบบ QW – 18 ตามลำดับ จากนั้น กองเรือยกพลขึ้นบก กองเรือยุทธการ และ กองพลนาวิกโยธินได้บรรยายสรุปภาพรวมการฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบกต่อด้วยการบรรยายสรุปจากกองเรือทุ่นระเบิด กองเรือยุทธการ ในการฝึกจุดทุ่นระเบิด จากนั้นจึงเข้าสู่การฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก (รายละเอียดในบทบรรยายการฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก : กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานีการกองทัพเรือ)
กองทัพเรือได้จัดให้มีการฝึกกองทัพเรือเป็นประจำทุกปี เพื่อบูรณาการการฝึกภายในกองทัพเรือด้วยการนำขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางเรือตามสาขาต่าง ๆ การปฏิบัติและการสนับสนุนของกรมในส่วนบัญชาการ ส่วนยุทธบริการ และส่วนการศึกษา ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มาทำการฝึกภายใต้สถานการณ์การฝึกเดียวกันและใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยการฝึกในปีนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบกระบวนการวางแผนทางทหาร ทดสอบการอำนวยการยุทธ์ของศูนย์ปฏิบัติการต่าง ๆ ของกองทัพเรือ และทดสอบขีดความสามารถในการปฏิบัติการของหน่วยต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ
- เพื่อทดสอบกระบวนการวางแผนทางทหาร
- เพื่อทดสอบแนวทางการใช้กำลัง และการอำนวยการยุทธ์ ตามคำสั่งยุทธการที่ใช้ในการฝึก ในสถานการณ์ภาวะความขัดแย้งระดับปานกลางถึงระดับสูง
- เพื่อทดสอบขีดความสามารถการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆกองทัพเรือได้อนุมัติให้จัดการฝึกกองทัพเรือตามวงรอบการฝึก 2 ปี
โดยใช้สถานการณ์ฝึกต่อเนื่องซึ่งในปีแรก (2561) ได้ทำการฝึกสถานการณ์ในภาวะปกติจนถึงภาวะความขัดแย้งระดับต่ำหรือขั้นการเตรียมการก่อนเข้าสู่ภาวะสงครามเรียบร้อยไปแล้ว และการฝึกในปีนี้จะทำการฝึกสถานการณ์ภาวะความขัดแย้งระดับปานกลางถึงความขัดแย้งระดับสูง ทำการฝึกภาคปฏิบัติในลักษณะบูรณาการ ด้วยการสนธิกำลังระหว่างหน่วยทำการฝึกโดยใช้สถานการณ์ฝึกเดียวกัน เพื่อทดสอบขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ ขั้นการฝึกที่สำคัญในการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2562 ประกอบด้วย
- การฝึกปัญหาที่บังคับการ ซึ่งเป็นการฝึกทดสอบกระบวนการวางแผนเผชิญสถานการณ์วิกฤติ การฝึกทดสอบการตัดสินใจ ตามกระบวนการวางแผนทางทหาร และทดสอบการอำนวยการยุทธ์ตามคำสั่งยุทธการการฝึกโดยจะทำการฝึก ระหว่างวันที่ 11 – 28 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นการฝึกสถานการณ์ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ระหว่างวันที่18 – 28 มีนาคม 2562
- การฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล จะเป็นการฝึกภาคปฏิบัติในลักษณะบูรณาการ ด้วยการสนธิกำลังระหว่างหน่วยทำการฝึก โดยใช้สถานการณ์ฝึกเดียวกัน เพื่อทดสอบขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ และที่สำคัญจะได้มีการบูรณาการการฝึกร่วมกับกำลังของกองทัพบกและกองทัพอากาศด้วย ทำการฝึกระหว่างวันที่29 มีนาคม – 17 เมษายน และระหว่างวันที่ 13 – 17 พฤษภาคม 2562 ในพื้นที่ทั้งด้านอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน โดยมีหัวข้อการฝึกที่สำคัญ ดังนี้
2.1 การฝึกปฏิบัติการร่วมระหว่างเรือและอากาศยานของกองทัพอากาศ ในพื้นที่บริเวณฝั่งทะเลอันดามัน ด้านตะวันตกของจังหวัดพังงา ระหว่างวันที่ 4 – 7 เมษายน 2562
2.2 การฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถี C-802A ในวันที่ 5 เมษายน 2562
2.3 การฝึกจุดทุ่นระเบิดปราบเรือดำน้ำแบบล่องหน และการฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก
ในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน บริเวณหาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ในวันที่ 7 เมษายน 2562
2.4 การฝึกสนธิกำลังดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง ซึ่งจะมีการฝึกปฏิบัติการร่วมของกองกำลัง
นาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง กำลังของกองทัพบก และกำลังของกองทัพอากาศ
บริเวณสนามฝึกกองทัพเรือ บ้านจันทเขลม จังหวัดจันทบุรี ระหว่างวันที่ 13 – 17 พฤษภาคม 2562
ทั้งนี้ กองทัพเรือได้จัดกำลังพลจากหน่วยต่าง ๆ อาวุธ และยุทโธปกรณ์ที่สำคัญเข้าร่วมการฝึกในสถานการณ์ต่าง ๆ ประกอบด้วย กองเรือยุทธการ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือหลวงตากสิน เรือหลวงกระบุรี เรือหลวงบางปะกง เรือหลวงนราธิวาส เรือหลวงปัตตานี เรือหลวงสงขลา เรือหลวงราชฤทธิ์ เรือหลวงล่องลม เรือหลวงอ่างทอง เรือหลวงถลาง เรือหลวงลาดหญ้า เรือหลวงท่าดินแดง เรือหลวงแหลมสิงห์ เรือหลวงมันใน อากาศนาวี ยานระสะเทินน้ำสะเทินบก กำลังรบจากกองทัพบกและอากาศยานจากกองทัพอากาศ
เกร็ดความรู้เรื่อง : กำเนิดกองทัพเรือ
กองทัพเรือมีกำเนิดควบคู่มากับการสร้างอาณาจักรไทยนับตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีกองทัพไทยในสมัยนั้นมีเพียงทหารเหล่าเดียวมิได้แบ่งแยกออกเป็น กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศอย่างเช่นในสมัยปัจจุบัน
หากยาตราทัพไปทางบกก็เรียกว่า “ทัพบก” หากยาตราทัพไปทางเรือก็เรียกว่า “ทัพเรือ” การจัดระเบียบการปกครองบังคับบัญชากองทัพไทยในยามปกติสมัยนั้นยังไม่มีแบบแผนที่แน่นอนในยามศึกสงครามได้ใช้ทหาร “ทัพบก” และ”ทัพเรือ” รวมๆ กันไปในการยาตราทัพเพื่อทำศึกสงคราม ภายในอาณาจักรหรือนอกอาณาจักรก็มีความจำเป็นต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการลำเลียงทหาร เครื่องศาสตราวุธเรือ นอกจากจะสามารถลำเลียง เสบียงอาหารได้คราวละมากๆ แล้ว ยังสามารถ ลำเลียงอาวุธหนักๆเช่นปืนใหญ่ไปได้สะดวก และ รวดเร็วกว่าทางบกด้วย จึงนิยมยกทัพไปทางเรือ จนสุดทางน้ำแล้วจึงยกทัพต่อไปบนทางบก
เรือรบที่เป็นพาหนะของกองทัพไทยสมัยโบราณ มี ๒ ประเภทด้วยกันคือเรือรบในแม่น้ำและเรือรบในทะเลเมื่อสันนิษฐานจากลักษณะที่ตั้งของราชธานีซึ่งมีแม่น้ำล้อมรอบและมีแม่น้ำลำคลอง เป็นเส้นทางในการคมนาคม ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องใช้น้ำในการบริโภค และการเกษตรกรรมแล้ว เรือรบในแม่น้ำคงมีมาก่อนเรือรบในทะเลเพราะสงครามของไทยในระยะแรกๆ จะเป็นการทำสงครามในพื้นที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย กล่าวคือเป็นการทำสงครามกับพม่าเป็นส่วนมาก
ขอบคุณข้อมูลจาก กองทัพเรือ