‘ทนายคารม’ เผย 12 ผู้แทนจากนานาชาติ ข้องใจ คสช.ฟ้อง ม.116 ‘ธนาธร’ แนะหลังเข้าสภารื้อกฎหมายมั่นคง ให้ยึดหลักสิทธิสากล
นายคารม พลพรกลาง ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และกลุ่มนักกฎหมายอนาคตใหม่เพื่อสังคมไทยที่เท่าเทียม (นอสท.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ที่ผ่านมา ตนและทนายความที่รวมตัวกัน 10 กว่าคน ได้ไปร่วมให้กำลังใจ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ สน.ปทุมวัน และร่วมรับฟังการซักถามจาก 12 ตัวแทนของนานาชาติที่ร่วมสังเกตการณ์กับ พลตำรวจเอกศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พบว่า จากประสบการณ์การทำคดีการเมืองตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะคดีสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.นั้น ครั้งนี้ถือว่ามีตัวแทนจากนานาชาติให้ความสนใจมากที่สุด โดยประเด็นที่ตัวแทนจากนานาชาติให้ความสนใจซักถามมากที่สุดคือ การฟ้องคดี นายธนาธร ซึ่งได้รับการชี้แจงว่า เป็นการดำเนินคดีจากปี 2558 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจเต็มรูปแบบ
โดย คสช.เป็นผู้มอบหมายให้ พันตำรวจเอกบุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมาย คสช.แจ้งความ ประกอบกับคำสั่ง คสช.ที่ให้คดีความมั่นคงต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งตัวแทนจากนานาชาติ มองว่า คดีความมั่นคงตาม ม.116 ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะถือเป็นอาญาแผ่นดิน การดำเนินคดีต้องปรากฏพฤติกรรมร้ายแรง และมีพยานหลักฐานพร้อมจริงๆ จึงจะดำเนินคดีได้
ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตตามที่ นายธนาธร ให้สัมภาษณ์ว่า ทำไมเจ้าหน้าที่จึงเลือกดำเนินดคีในช่วงเวลานี้ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ทั้งที่ยังมีเวลาดำเนินคดีอีกมาก นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนจากสหประชาชาติมาแนะนำว่า ส.ส.ที่จะเข้าสภาควรดำเนินการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากลต่อไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นชุดกฎหมายความมั่นคง กฎหมายคอมพิวเตอร์ ที่ถูกนำมาใช้กับผู้เห็นต่างอย่างกว้างขวาง
ส่วนกรณีที่มีการแจ้งความดำเนินคดีอาญากับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในมาตรา 116 และกรณีที่ประชาชนคนอื่นๆ ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากการแชร์รณรงค์ลงชื่อถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้งผ่านเว็บไซต์ Change.org
นางแคทเธอรีน เกอร์สัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ประเด็นประเทศไทยประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า…
นี่เป็นการฟ้องร้องคดีอาญาต่อฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและนักเคลื่อนไหวเป็นจำนวนที่น่าตกใจ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ขอย้ำข้อเรียกร้องให้ทางการไทยปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ รวมถึงให้งดเว้นจากการใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างมิชอบ เพื่อปิดปากฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กระตุ้นให้ทางการยกเลิกการดำเนินคดีอาญาใดๆ ต่อบุคคล เพียงเพราะการใช้สิทธิในการเรียกร้องอย่างสันติ นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนคดีต่อพลเรือนไม่ว่ากรณีใดๆ