สำนักงานกรุงเทพมหานคร โดยสำนักการโยธา กทม.ได้ประดับซุ้มเฉลิมพระเกียรติ’เครื่องราชกกุธภัณฑ์’ เตรียมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำนักงานกรุงเทพมหานคร โดยสำนักการโยธา กทม.ได้ประดับซุ้มเฉลิมพระเกียรติ’เครื่องราชกกุธภัณฑ์’ เตรียมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก บริเวณถนนราชดำเนิน โดยมีซุ้มเฉลิมพระเกียรติเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ประกอบไปด้วย
พระมหาพิชัยมงกุฎ
เป็นราชสิราภรณ์ สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทำด้วยทองลงยา ประดับนวรัตน์ มีเพชรเม็ดใหญ่ประดับไว้บนยอดชื่อ มหาวิเชียรมณี พระมหามงกุฎ หมายถึง ยอดวิมานของพระอินทร์ ผู้เป็นประชาบดีของสวรรค์ชั้นสอง คือ ชั้นดาวดึงส์ ในสมัยโบราณถือว่า มงกุฎมีความสำคัญเท่ากับราชกกุธภัณฑ์อื่น ๆ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ทำตามราชสำนักยุโรปที่ถือว่า ภาวะแห่งความเป็นกษัตริย์ อยู่ที่เวลาได้สวมมงกุฎ แต่นั้นมาจึงถือว่าพระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นสิ่งสำคัญในบรรดาเครื่องราชกกุธภัณฑ์
พระแสงขรรค์ชัยศรี
เป็นพระแสงศาสตราวุธประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ พระขรรค์ หมายถึงพระปัญญาในการปกครองบ้านเมือง พระแสงองค์นี้มีประวัติว่า เป็นของเก่า เดิมตกจมอยู่ในทะเลสาบเขมร ที่เมืองเสียมราฐ ชาวประมงทอดแหได้ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๗ เจ้าพระยาอุภัยภูเบศร์ (แบน) เจ้าเมืองเสียมราฐ ได้นำทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เมื่อวันที่พระแสงองค์นี้มาถึงพระนคร ได้เกิดอสุนีบาตตกในพระนครถึง ๗ แห่ง เช่นที่ประตูวิเศษไชยศรี และประตูพิมานไชยศรี ซึ่งเป็นทางที่อัญเชิญ พระแสงองค์นี้ผ่านไป ดังนั้น ประตูพระบรมมหาราชวังดังกล่าวจึงมี คำท้ายชื่อว่า “ไชยศรี” ทั้งสองประตู เช่นเดียวกับ ชื่อพระขรรค์องค์นี้
พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นพระแสงศาตราวุธที่สำคัญที่สุด ในพระราชพิธีที่สำคัญคือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธี ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
ธารพระกร
เดิมเรียกว่า ธารพระกรชัยพฤกษ์ เนื่องจากทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ หุ้มทอง หัวและส้นเป็นเหล็ก คร่ำลายทอง ลักษณะเหมือนไม้เท้า พระภิกษุที่ใช้ในการชักมหาบังสุกุล
วาลวิชนี
เป็นชื่อที่ใช้เป็นทั้งพัดและแส้ กล่าวคือ ในอรรถกถา สมันตปาสาทิกา ใช้คำว่า จามร ซึ่งเป็นแส้ทำด้วยขนหางจามรี ส่วนวาลวิชนีเดิมเป็นพัดใบตาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงมีพระราชดำริว่า ชื่อ วาลวิชนีนั้น คำว่าวาล เป็นขนโคชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า จามรี จึงทรงทำแส้ขนจามรีขึ้น มีด้ามเป็นแก้ว และให้ใช้คู่กันไปกับพัดวาลวิชนี ซึ่งทำด้วยใบตาล ด้ามและเครื่องประกอบทำด้วยทองลงยา
ฉลองพระบาทเชิงงอน
ฉลองพระบาทมีที่มาจากเกือกแก้ว ซึ่งหมายถึง แผ่นดินอันเป็นที่รองรับเขาพระสุเมรุ และเป็นที่อาศัยของ อาณาประชาราษฎร์ทั่วทั้งแว่นแคว้น ฉลองพระบาทเชิงงอนนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ตามแบบอินเดียโบราณ