พบร่างเด็กน้อย นอนจมน้ำเสียชีวิตในคลองแยกย่อยเชื่อมต่อคลองใหญ่ ที่ จ.เพชรบุรี ด้านพ่อแม่โร่ตรวจสอบ ก่อนเผยเป็นศพน้องภาคิน ที่หายตัวไปจากบ้านนาน 8 วัน
ความคืบหน้าจากกรณี ด.ช.ภาคิน คิดตลอด อายุประมาณ 1 ขวบ 7 เดือน หายตัวออกไปจากบ้านพักในพื้นที่ ต.ท่าคอย อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา ก่อนที่จะเกิดมีภาพสลดเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ที่เผยเห็นผู้ปกครองของน้องกำลังช่วยกันงมหาตัวน้องในคลองชลประทานหน้าบ้านพัก เพราะคาดว่าน้องอาจจะตกน้ำเสียชีวิต
จากนั้นในเวลาต่อมาฝ่ายปกครองในท้องที่ ได้ระดมกำลังทุกภาคส่วน ทั้งทหาร ตำรวจ และหน่วยกู้ภัย รวมถึงผู้นำชุมชน ร่วมด้วยช่วยกันออกตามหาตัวน้องจนกินเวลาไปกว่า 8 วันนั้น ล่าสุดมีรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาพบร่างของน้องภาคินแล้ว
โดยร่างของน้องอยู่ในสภาพนอนคว่ำหน้าจมน้ำอยู่ใน คลองแยกย่อย (คลองไส้ไก่) บ้านหนองข้าวนก ห่างจากบ้านพักของน้องประมาณ 15 กิโลเมตร ขณะที่นายสมเกียรติ จันทร์นาก ชาวบ้านที่เป็นคนพบศพ เผยว่าขณะที่ขี่รถไปดูน้ำเข้านานั้น พบร่างคล้ายเด็กจมน้ำอยู่ในคลอง ครั้งแรกคิดว่าเป็นตุ๊กตา จึงขี่รถวนกลับมาดูอีกครั้ง ก็เห็นเป็นศพเด็กจึงรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาตรวจสอบ
ด้านพ่อแม่ของน้องภาคิน ที่ได้เดินทางมายังจุดพบศพ ก็ได้ยืนยันว่า ศพที่พบเป็นร่างของน้องจริงๆ อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่จะนำศพเด็กส่งโรงพยาบาลท่ายาง เพื่อชันสูตรอย่างละเอียดต่อไป
สำหรับสถานการณ์เด็กจมน้ำในประเทศไทย ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยในอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่ง สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 9,574 คน เป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-9 ปี เสียชีวิตสูงสุดร้อยละ 40.5 เด็กอายุ 0-2 ปี ร้อยละ 20.0
ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครอง ควรตระหนักและเพิ่มความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด เพื่อร่วมด้วยช่วยกันป้องกันเหตุร้ายดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นกับบุตรหลานได้ ทั้งนี้การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยชีวิตให้ปลอดภัย ซึ่งขั้นตอนการช่วยชีวิตสำหรับเด็กจมน้ำ ทางโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้มีการอธิบายขั้นตอนไว้ ดังนี้
ขั้นที่ 1 เรียกดูว่าหมดสติจริงหรือไม่
รีบนำเด็กที่จมน้ำออกจากที่เกิดเหตุและให้อยู่ในที่ปลอดภัย โดยจัดท่าให้นอนหงายราบบนพื้นราบแข็ง แล้วจึงเข้าไปนั่งข้างตัวผู้หมดสติ ตบที่ไหล่สองข้าง พร้อมเรียกด้วยเสียงดังๆ ขอความช่วยเหลือ
ขั้นที่ 2 เรียกหาความช่วยเหลือ
ในกรณีที่เป็นเด็ก หากท่านอยู่เพียงคนเดียวให้ลงมือช่วยชีวิตเด็กก่อน แล้วค่อยไปโทรศัพท์ภายหลัง (CPR first) เพราะสาเหตุการหมดสติในเด็กมักเกิดจากทางเดินลมหายใจถูกอุดกั้น
ซึ่งช่วยได้โดยการลงมือปฏิบัติการช่วยชีวิตก่อน โดยกดหน้าอก 30 ครั้ง และช่วยหายใจ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 นาที (5 รอบ) แล้วจึงละจากผู้ป่วยไปโทรศัพท์ 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่หากมีผู้อื่นอยู่ในบริเวณนั้น ให้ขอให้ผู้ใดผู้หนึ่งช่วยโทรศัพท์ 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือพร้อมๆ กับเริ่มลงมือปฏิบัติการช่วยชีวิต
ขั้นที่ 3 การกดหน้าอก 30 ครั้ง
การปั๊มหัวใจในเด็กให้วางส้นมือของมือหนึ่งไว้กลางหน้าอกบริเวณครึ่งล่างของกระดูกหน้าอก (ใช้มือเดียว หรือใช้สองมือ ขึ้นอยู่กับขนาดตัวเด็ก) การกดหน้าอกโดยกดให้ยุบลงอย่างน้อย 1/3 ของความหนาของทรวงอก หรือ 5 ซม.
สามารถทำได้โดยกดหน้าอกแล้วปล่อย ทำติดต่อกันไป 30 ครั้ง ให้ได้ความถี่ของการกด 100-120 ครั้งต่อนาที
ขั้นที่ 4 เปิดทางเดินหายใจให้โล่ง
ทำโดยวิธีดันหน้าผากและยกคาง โดยการเอาฝ่ามือข้างหนึ่งดันหน้าผากลง นิ้วชี้และนิ้วกลางของมืออีกข้างหนึ่งยกคางขึ้น ใช้นิ้วมือยกเฉพาะกระดูกขากรรไกรล่างโดยไม่กดเนื้ออ่อนใต้คาง ให้หน้าผู้ป่วยเงยขึ้น
ขั้นที่ 5 การช่วยหายใจแบบปากต่อปาก
ให้เลื่อนหัวแม่มือและนิ้วชี้ของมือที่ดันหน้าผากอยู่มาบีบจมูกเด็กให้รูจมูกปิดสนิท สูดลมหายใจเข้าตามปกติแล้วครอบปากผู้ช่วยเหลือเข้ากับปากของผู้หมดสติ ตาชำเลืองมองหน้าอกผู้หมดสติพร้อมกับเป่าลมเข้าไปจนหน้าอกของผู้หมดสติขยับขึ้น เป่านาน 1 วินาที แล้วถอนปากออก ให้ลมหายใจของผู้หมดสติผ่านกลับออกมาทางปาก เป่า 2 ครั้ง แล้วกลับไปกดหน้าอก
ขั้นที่ 6 ใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AED)
หากมีเครื่องเออีดี ให้เปิดเครื่องทันทีที่เครื่องมาถึง ใช้งานตามคำแนะนำของเออีดี จนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง
ขั้นที่ 7 ทำตามคำแนะนำของเครื่องเออีดี (AED) กดหน้าอก ทำ CPR อย่างต่อเนื่องจนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง
ขั้นที่ 8 ส่งต่อผู้ป่วยให้กับทีมกู้ชีพ เพื่อนำส่งโรงพยาบาล
ข้อมูลบางส่วนจาก www.vichaiyut.co.th