นักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย เรียกร้องให้ รัฐบาลบรูไนยกเลิกการบังคับใช้ กฎหมายชารีอะห์
วันนี้ (9 เม.ย. 62) มีรายงานว่า นักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ ทั้งไทย และต่างประเทศ กว่า 30 คน รวมตัวกันบริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตบรูไนดารุสซาลาม ประจำประเทศไทย ซอย สุขุมวิท 63 กรุงเทพฯ อ่านแถลงการณ์ร่วม จาก องค์กรภาคประชาสังคมในอาเซียน 132 องค์กร เพื่อประกาศจุดยืน และเรียกร้องให้รัฐบาลบรูไนพิจารณาการบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์
ในแถลงการณ์มีเนื้อหาว่า ตัวบทกฎหมายชารีอะห์ ดังกล่าวขัดแย้งกับหลักการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสากล ที่ประเทศบรูไนได้ลงนามในสนธิสัญญา รวมถึงการให้สัตยาบันในความตกลงระหว่างประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ กฎบัตรอาเซียน รวมถึงอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน
ในนามภาคประชาสังคมอาเซียนรู้สึกกังวลใจในเรื่องการละเมิดสิทธิและชีวิตของประชากร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนชายขอบของประเทศบรูไน ซึ่งรวมถึงผู้หญิง เด็กและเยาวชน กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBTQI) ผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ ชนกลุ่มน้อยทางศาสนา และกลุ่มผู้คัดค้าน บทลงโทษที่กำหนด โดยกฎหมายนี้ซึ่งมีการเฆี่ยนตี และการประหารชีวิตถือเป็นการทรมานการปฏิบัติที่ไม่สมควร และเป็นการลงโทษที่ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ประเทศที่ใส่ใจต่อพลเมืองของตนนั้นจำเป็นต้องตระหนักถึงผู้ที่อ่อนแอ กว่าต่อการเลือกปฏิบัติความรุนแรงและความอยุติธรรม
เราออกมาเรียกร้องในนามของเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก เพื่อสื่อสารว่า ความรุนแรงและการเลือกปฎิบัติ เพราะว่าความแตกต่างทางเพศ รสนิยมทางเพศ วิถีทางเพศ และการแสดงออกทางเพศ ต้องยุติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศใช้ข้อกฎหมายศาสนา ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและชีวิตของ LGBTI ทุกคน บรูไน เป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ประกาศใช้กฎหมายนี้ และเป็นประเทศแรกในอาเซียน ที่มีข้อกฎหมายในการประหารชีวิตกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ด้วยการขว้างหินใส่ ต่อหน้าสาธารณชน
ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การลงโทษทางร่างกายในทุกรูปแบบ ทั้งการปาหิน การตัดอวัยวะ หรือการเฆี่ยนตี ถือเป็นการทรมานหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งเป็นข้อห้ามในทุกกรณี
โดยนายประเสริฐ แวดือราแม เจ้าหน้าที่กองรับรอง สอท. บรูไน เป็นตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตบรูไน รับมอบคำแถลงการณ์ พร้อมระบุจะดำเนินการส่งเรื่องให้เอกอัครราชทูตบรูไน ประจำประเทศไทย รับทราบถึงข้อเรียกร้องดังกล่าวต่อไป
หลังจากนั้น เวลา 13.00 น. นักกิจกรรมกลุ่มดังกล่าว ได้เดินทางไปพบ อมรา พงศาพิชญ์ ซึ่งปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights – AICHR) เพื่อยื่นแถลงการณ์ข้อกังกลส่งต่อไปยังคณะกรรมการระดับอาเซียน และมีแผนการการเคลื่อนไหวเรียกร้องผ่านกลไกอาเซียนด้านต่าง ๆ และรัฐบาลไทย ในฐานะที่นั่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้