ประเด็นน่าสนใจ
- วานนี้ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติ เห็นด้วย 431 เสียง ให้ตั้ง กมธ. ศึกษา ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับอีกครั้ง กรอบการพิจารณา 30 วัน
- กลุ่มชุมนุมร่วมกันร้องตะโกนใส่ด้วยความไม่พอใจหากเห็นรถ ส.ส. หรือ สว. ที่โหวตยื้อเวลาออกไปอีก 1 เดือน โดยมี ส.ส. และ ส.ว. บางส่วนต้องเดินทางกลับทางเรือ
- ด้านฝ่ายค้ายชี้ รัฐบาล ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ประชาชนต้องการ
หลังมวลชนที่ร่วมชุมนุมในกิจกรรมกดดัน ส.ว. #ไปสภาไล่ขี้ข้าศักดินา ตั้งแต่ช่วงเย็นที่ผ่านมา ได้รับรู้ว่าที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติ เห็นด้วย 431 เสียง ไม่เห็นด้วย 255 เสียง ทำให้สภาฯเห็นชอบให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 45 ท่าน เป็น สว. 15 ท่าน และ ส.ส. 30 ท่าน เพื่อศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับอีกครั้ง โดยมีกรอบการพิจารณา 30 วัน ซึ่งหลังจากการประชุมสภาได้ปิดประชุม มวลชนที่ร่วมชุมนุมจึงมารวมตัวกันบริเวณทางออกจากรัฐสภาทางฝั่งท่าน้ำเกียกกาย และร่วมกันร้องตะโกนใส่ด้วยความไม่พอใจหากเห็นรถ ส.ส. หรือ สว. ที่กำลังเดินทางกลับผ่านบริเวณที่ผู้ชุมนุมดักอยู่ แต่หากเป็นรถของพรรคฝ่ายค้านก็จะร่วมกันปรบมือให้
โดยก่อนจะมีการสลายตัวของผู้ชุมนุม นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้มีการเดินนำ ส.ส.พรรคก้าวไกลทั้งหมดออกมาพบมวลชน และได้มีการกล่าวปราศรัยด้วยข้อความที่ว่า
“เรารู้ว่ากำลังในสภาเราไม่เพียงพอ เราพยายามหาทางออกให้กับประเทศ ประชาชน และประชาธิปไตย รวมไปถึงรัฐบาล และ สว.เอง เพื่อถอดฟืนออกจากกองไฟไม่ให้ประเทศต้องถึงทางตัน ยอมรับว่าผิดหวัง และเสียใจที่ต้องมายืนอยู่ตรงนี้”
“ต้องขอบคุณในพลังของประชาชน และพลังของประชาธิปไตยที่ทำให้เราได้มีโอกาสอภิปรายในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ตน และสมาชิก ส.ส.พรรค ก็ต้องขอโทษพี่น้องประชาชนที่ไม่สามารถทำในสิ่งที่พวกท่านต้องการได้สำเร็จ แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่หมดหวังในการแก้ปัญหาให้ประชาชนในการประชุมสมัยหน้า โดยเราจะร่วมอภิปรายจนกว่าเขาจะรับฟัง”
ทางด้านทนายอานนท์ นำภา ก็ได้ประกาศยุติการชุมนุม และขอให้ประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมทั้งหมดกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ แต่ก็ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ตุลาคมนี้ จะมีการจัดเวทีชุมนุมแบบเบิ้มๆ อยากให้ประชาชนตามต่างจังหวัดเข้ามาร่วมกันต่อสู้ ซึ่งอาจจะเป็นการต่อสู้แบบม้วนเดียวจบจนกว่าจะได้รับชัยชนะร่วมกัน
ทั้งนี้ ภายหลังผลโหวตออกมา ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมดนำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันแถลงข่าวเหตุผลที่พรรคฝ่ายค้านไม่เข้าร่วมการเป็นคณะ กมธ. พิจารณาศึกษาก่อนรับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายสมพงษ์ กล่าวว่า ฝ่ายค้านพยายามทำทุกวิถีทางในการอภิปรายเพื่อให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาล ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ประชาชนต้องการ