กรมสรรพสามิต น้ำมัน ภาษี เบียร์

ยอดเก็บภาษี ‘เบียร์-น้ำมัน’ ต่ำกว่าเป้าหมื่นล้าน เตรียมรื้อมาตรการเข้ม เม.ย. นี้

(10 เม.ย.) กรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า การเก็บภาษีเบียร์และน้ำมันในรอบ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562  (ต.ค. 2561-มี.ค.2562) ต่ำกว่าเป้าหมายเป็นจำนวนมาก โดยภาษีเบียร์เก็บได้ 3.6 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย…

Home / NEWS / ยอดเก็บภาษี ‘เบียร์-น้ำมัน’ ต่ำกว่าเป้าหมื่นล้าน เตรียมรื้อมาตรการเข้ม เม.ย. นี้

(10 เม.ย.) กรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า การเก็บภาษีเบียร์และน้ำมันในรอบ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562  (ต.ค. 2561-มี.ค.2562) ต่ำกว่าเป้าหมายเป็นจำนวนมาก โดยภาษีเบียร์เก็บได้ 3.6 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.4 หมื่นล้านบาท หรือ 27% โดยเป้าการเก็บภาษีทั้งปีอยู่ที่ 9.65 หมื่นล้านบาท

ขณะที่การเก็บภาษีน้ำมันเก็บได้ 9.7 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.3 หมื่นล้านบาท หรือ 12.5% โดยเป้าหมายทั้งปีต้องเก็บให้ได้ 2.34 แสนล้านบาท ดังนั้นภายในเดือน เม.ย.นี้ กรมจะออกมาตรการเข้มงวดในการจัดเก็บภาษีทั้ง 2 สินค้าดังกล่าว

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า สำหรับมาตรการเข้มที่จะตรวจสอบการเสียภาษีเบียร์ จะมีการแก้ไขระเบียบเรื่องการผลิตเบียร์เพื่อการส่งออก จากเดิมตรวจการปล่อยสินค้าจากโรงงานเท่านั้น แต่ระเบียบใหม่จะให้มีการตรวจสินค้าอีกครั้งก่อนนำออกนอกประเทศ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการนำออกจริงไม่ได้นำกลับเข้ามาขายในประเทศ เพราะเบียร์ที่ส่งออกได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตทั้งหมด ปัจจุบันมีการผลิตเพื่อการส่งออก 13% ของการผลิตทั้งหมด

โดยกรมสรรพสามิต จะทำการตรวจสอบการผลิตเบียร์ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ผู้ผลิตต้องรายงานให้เห็นภาพรวมการผลิต ทั้งจำนวนปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ กากของเสียที่ออกมา รวมถึงน้ำเบียร์ที่ผลิตได้ เพื่อไปเทียบกับเบียร์ที่ผู้ประกอบการนำออกมาขายไว้ตรงกันหรือไม่

ขณะที่มาตรการเข้มกำกับการเสียภาษีน้ำมัน ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน 7 แห่ง และคลังน้ำมันอีก 40 แห่ง จะมีการตรวจน้ำมันดินที่นำเข้ามาโรงกลั่น น้ำมันที่ผลิตออกมาได้ รวมถึงการควบคุมการขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งน้ำมันออกไปขายนอกประเทศว่ามีการนำออกไปจริง เพราะได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังต้องตรวจเข้มน้ำมันเขียว ที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการประมง โดยไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตว่ามีการไปขายและช่วยกับผู้ประกอบการประมงจริง ไม่ได้นำกลับมาขายบนฝั่ง ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่กรมสรรพสามิตต้องเร่งเข้าไปแก้ไข

สำหรับการเก็บภาษีสรรพสามิตรอบ 6 เดือน เก็บได้ 2.89 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 2.05 หมื่นล้านบาท หรือ 7.62% แต่ต่ำกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท หรือ 4.7%


รายได้ภาษีที่กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บได้สูงสุด 5 อันดับแรก ในรอบ 6 เดือน (ตุลาคม 2561 – มีนาคม 2562) ได้แก่

  1. ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จัดเก็บได้สูงสุด จำนวน 97,044.20 ล้านบาท
  2. ภาษีรถยนต์ จัดเก็บได้ 70,811.50  ล้านบาท
  3. ภาษีเบียร์ จัดเก็บได้ 36,753.51 ล้านบาท
  4. ภาษียาสูบ จัดเก็บได้ 34,553.58 ล้านบาท
  5. ภาษีสุรา จัดเก็บได้ 33,988.22 ล้านบาท