ประชุมสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ

สรุป – ประชุมสภาพิจารณาร่างแก้ไข รธน. (23 ก.ย.)

ติดตามการประชุมร่วม 2 สภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

Home / NEWS / สรุป – ประชุมสภาพิจารณาร่างแก้ไข รธน. (23 ก.ย.)

ประเด็นน่าสนใจ

  • ผู้อภิปรายที่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติม รธน. เนื่องจาก รธน. ปี 60 เป็นการสืบทอดอำนาจ, อำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ
  • ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข เนื่องจาก รธน. 60 เพิ่งถูกใช้งาน, ผ่านการทำประชาพิจารณ์มาแล้ว, ไม่ต้องการใช้งบประมาณ ในการทำประชาพิจารณ์, การที่จะมีการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2
  • ประเด็นปัญหาเพิ่มเติม คือปมที่มาของ สสร. ที่จะต้องมาจากการเลือกตั้ง
  • 23 ก.ย. – ประชุมร่วมระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
  • ญัตติที่มีการยื่นเสนอเข้ามาทั้งหมด 6 ญัตติด้วยกัน จากทั้งฝ่ายค้าน – ฝ่ายรัฐบาล และจะมีการลงมติการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อไป

สรุปอภิปรายวันแรก

วานนี้ มีการประชุมร่วม 2 สภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไข รัฐธรรมนูญ โดยได้เริ่มเปิดสภาอภิปรายกันตั้งแต่เวลา 09.30 น. จนถึงช่วงดึก โดยสมาชิก ส.ส. และส.ว. ต่างผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวข้อง

โดยส.ส. / ส.ว. ก็จะได้อภิปราย หลายคนเห็นควรมีการแก้ไขในรายมาตรา ซึ่งหากมีในมาตราใดที่มีปัญหา ก็ควรแก้ที่มาตรานั้น ซึ่งไม่สนับสนุนการแก้ไขการร่างใหม่ทั้งฉบับ โดยยกเหตุผลคือ

  • รัฐธรรมนูญปี 2560 นั้นผ่านการลงประชามติมาแล้ว
  • เป็นฉบับที่มีการแก้ไข ปรับปรุงจากปัญหาทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา
  • ยอมรับว่า รธน. ฉบับดังกล่าวไม่สมบูรณ์ มีข้อผิดพลาด แต่ไม่ใช่ทั้งฉบับ
  • การร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ ต้องใช้เงินจำนวนมาก, ใช้เวลายาวนาน และยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่า จะแก้ไขอย่างไร หมวดใดบ้าง เหมือนการตีเช็คเปล่า

ส่วนในกลุ่มที่อภิปราย ไม่เห็นด้วยกับ รธน. ปี 2560 และเสนอแก้ไขนั้น มีทั้งที่เสนอให้แก้ไขทั้งฉบับ และแก้ไขเป็นรายมาตรา ส่วนใหญ่ก็ได้ระบุถึงเหตุผล

  • ที่มาของ รธน. ปี 2560 เป็นการสืบทอดอำนาจ ของคสช.
  • ที่มาของ ส.ว. มีปัญหา เกิดจากการคัดเลือก ไม่ใช่การเลือกตั้ง
  • ปัญหาการเลือกตั้ง นับคะแนน ฯลฯ
  • การทำประชามติ ของ รธน. 2560 นั้นไม่เป็นธรรม เมื่อมีผู้ถูกจับจากการรณรงค์ไม่เห็นด้วยกับร่างฉบับนี้

ส่วนที่ใหญ่พูดถึงการแก้ไข เป็นรายมาตรา ผ่านการตั้ง สสร. มี ส.ส. บางส่วน ที่พูดถึงการแก้ไขทั้งฉบับ ส่วนในปมของการแก้ไขในหมวดที่ 1 และ หมวดที่ 2 นั้นก็มีการพูดถึง โดยส่วนใหญ่เป็นการระบุว่า จะไม่แตะในหมวดดังกล่าว


รายงานสด – การประชุมสภา พิจารณาร่างแก้ไข รธน.

◾️21.00 น.

นายออน กาจกระโทก –
การแก้ไข รธน. ไม่ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาประเทศ แม้การตั้ง สสร. ร่างรธน.ใหม่เอง ก็จะมั่นใจได้อย่างไร ว่า เป็นตัวแทนประชาชน และในวันนี้หากแก้เพราะมีคนประท้วง วันหน้ามีผู้ประท้วงก็ต้องแก้/ร่างใหม่หรือไม่ ดังนั้น จึงควรแก้ไข เป็นส่วน ๆ ตรงไหนมีปัญหา แก้ไขตรงนั้น

◾️20.30 น.

นายวิสาร เตชธีราวัฒน์ –
รธน. ปี 60 เป็น รธน. ที่สร้างขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจ การลงประชามติไม่เป็นธรรม มีการกักขัง 200 กว่าคนที่ไม่เห็นด้วย และมีการบอกว่า ให้รับไปแก้กันที่หลัง แต่ รธน. ไม่ได้เปิดทางให้แก้ง่าย ๆ

การเลือกตั้ง นับคะแนนเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ นับที่นั่งก็ไม่ถูกต้อง-ผิดปรกติ และมีการใช้อำนาจผ่านศาล รธน. เช่น พรรคเพื่อไทยควรจะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อก็ไม่ได้ ควรจะต้องได้จัดตั้ง รบ. ก็ไม่ได้ เนื่องจากกติกาที่ไม่ถูกต้อง

นส. ศรีนวล บุญลือ –
อยากให้ลดความขัดแย้ง ซึ่งในการแก้ไข รธน. หรือไม่นั้น ควรมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน

◾️20.00 น.

นายจักรพันธ์ พรนิมิต
สนับสนุนร่างแก้ไข ฉบับของวิปรัฐบาล รธน. ปี 60 เราต้องยอมรับประชามติ รวมถึงคำถามพ่วงในการทำประชามติ ซึ่งทั้ง ส.ว. และส.ส. ต่างมีส่วนได้ส่วนเสียกับการร่าง รธน. ดังนั้นจึงควรมีส่วนเกี่ยวข้องน้อยที่สุด สสร. จึงเป็นทางออก

ส่วนในหมวด 1 และ 2 นั้นผลการศึกษาในระดับ กมธ. เห็นพ้องกันว่า ไม่มีความจำเป็นในการแตะ/แก้ไขในหมวดดังกล่าว ส่วนการยก รธน. ปี 2521 ขึ้นมากล่าวก่อนหน้านี้ เทียบกับปี 2560 ที่นายกฯ คนนอกนั้น ต้องยกให้ครบถ้วน เพราะปี 2521 นั้น คือคนนอกแท้ ๆ ใครก็ได้ แต่ในของปี 2560 นั้น พรรคการเมืองต้องเป็นผู้เสนอ เป็นการเลือกผ่านพรรคการเมืองอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนหากจะย้อนยาวไปถึง รธน. 2475 แม้ไม่มีส.ว.แต่ตั้ง แต่มี ส.ส. แต่งตั้ง ดังนั้นการพูดถึงในเพียงด้านเดียวนั้นจึงถือเป็นสิ่งที่ถือว่า เป็นการละเลยสิ่งที่ไม่เห็นด้วยและพูดเฉพาะในสิ่งที่เห็นด้วย

นายสมชาย แสวงการ
รธน. ปี 60 นั้นเปิดให้มีการแก้ไขได้อยู่แล้ว ซึ่งที่มีปัญหากันคือ การใช้เสียง ส.ว. ส่วนหนึ่ง 1 ใน 3 หากจะหาจริง ๆ ไม่ยาก หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกก็ต้องใช้ 2 สภา ในการลงมติผ่าน รธน.

การต้องการล้ม รธน. ฉบับนี้ มีสิ่งที่ฉบับอื่น ๆ ไม่มีในส่วนของการป้องกันการทุจริตต่าง ๆ ซึ่งผลการศึกษา-เสนอแนะในระดับ กมธ. หลายประเด็นระบุเจตนาที่ต้องการแทรกแซงอำนาจตุลากร เมื่อเกิดความไม่พอใจต่าง ๆ

รธน. 40 ทำให้เกิดปัญหา สภาผัว-เมีย ฮั๊วกันระหว่าง ส.ส. – ส.ว. นำไปสู่วิกฤติการเมือง และไปสู่ความรุนแรงในการประท้วง ดังนั้นสิ่งที่แก้ไขหากจุดไหนเป็นปัญหา และเป็นปัญหาของประชาชน ไม่มีเหตุผลที่ ส.ว. จะไม่เห็นด้วย

◾️19.30 น.

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช
ในขณะนี้มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการแก้ไข รธน. จึงหวังว่า สภาแห่งนี้จะไม่ถูกกดดัน จากสิ่งต่าง ๆ ภายนอก ระบบการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นล่าสุด ก็มีการปรับเปลี่ยนมาจากแนวการเลือกตั้งของเยอรมันและอีก 10 ประเทศทั่วโลก เพื่อแก้ปัญหาเผด็จการพรรคการเมือง แต่การใช้บัตรใบเดียวของไทย นำไปสู่ปัญหาในการคิดคำนวนคะแนน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาแก้ไขระบบการเลือกตั้งใหม่

การเลือกตั้งสว. ก็เป็นการเลือกในรูปแบบใหม่ เลยสุดท้ายกลายเป็นการแลกคะแนนกัน แต่ทั้ง 2 ประเด็นนั้น สามารถแก้เป็นรายประเด็น และ ม. 256 ไม่ได้ห้ามไว้ โดยกรอบเวลาการแก้ไข ยกร่างทั้งฉบับจะใช้เวลายาวนานมากกว่า

นายธีรัจชัย พันธุมาศ
ไม่เห็นด้วยกับการที่ ส.ว. ควรจะยึดโยงกับประชาชน เพราะไม่เคยลง พท. ควรคืนอำนาจให้กับประชาชน


◾️19.00 น.

ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม
รธน. ปี 60 นี้ มีปัญหา ซึ่งเป็นสิ่งที่สืบทอดจากการปฏิวัติเมื่อปี 2557

— มีการประท้วงผู้อภิปราย / ประธานขอให้หยุด / แต่ยังมีการตะโกน —

โดยเฉพาะที่มาของ ส.ว. , การเลือกนายกฯ ซึ่งหากนายกฯ เกิดลาออกไป ก็จะกระทบต่อการตั้ง สสร. ดังนั้นจึงควรแก้ปลดล็อก ส.ว. เสียก่อน ซึ่งหมวด 1 และ หมวด 2 นั้น พรรคเพื่อไทยจะไม่แตะ

ชุมพล จุลใส –
ประกาศไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน. ในทุกญัตติ เนื่องจาก รธน.ฉบับนี้ดีอยู่แล้ว ซึ่งขนาดสมัยนายกฯ อภิสิทธิ์ ก็มีเสียง ส.ส. มากที่สุด ก็ยังคงมีการประท้วง เช่นเดิม และ พล.อ. ประยุทธ์ ก็เป็นเช่นกัน ส.ส. ในสภาเลือก พล.อ.ประยุทธ์ 251 คน เลือกนายธนาธร 224 คน

ดังนั้นปัญหาในขณะนี้เป็นความบกพร่องของการเมือง ไม่ใช่เป็นปัญหาของรธน. ตัวรธน. ก็เปิดช่องให้แก้ไขได้


◾️18.00 น.

สนอง เทพอักษรณรงค์
รธน. ปี 60 ผ่านการทำประชามติไปแล้ว ไม่เห็นด้วยในการแก้ไขในหมวด 1 และ 2 เห็นควรแก้ไข ม. 156 อยากให้ ส.ส. เลิกพูดในปมส.ว. 250 เสียง เพราะสุดท้าย คะแนนเสียง ส.ส. ที่เลือก พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังชนะ โดยไม่ต้องมี ส.ว. ร่วมโหวต

เสรี สุวรรณภานนท์
การจะแก้ไข รธน. จำเป็นต้องพิจารณากันให้ดี จากที่ผ่านมาก็มีการพูดถึง ส.ว. ในเชิงให้ร้ายว่า ไม่เชื่อมโยงกับ ปชช., สืบทอดอำนาจ, เผด็จการ ซึ่งการมาของ ส.ว. นั้นมาจาก รธน.ที่ผ่านการทำประชาพิจารณ์แล้วบัญญัติไว้

ในช่วงที่ร่าง รธน. ปี 40 นั้นเกิดจากความเห็นพ้องของประชาชน บรรยากาศแตกต่างจากสถานการณ์ในช่วงนี้ และ รธน.ปี 40 ก็มีข้อจำกัด จึงมีแก้เป็น รธน. ปี 50 ที่มา ส.ว. มาจากการเลือกตั้งและการคัดเลือก อย่างละครึ่ง พอมาทำหน้าที่ก็เป็นปัญหา

— มีการประท้วงผู้อภิปราย / ประธานขอให้ถอน —


◾️17.30 น.

นายสุรทิน พิจารณ์
เห็นด้วยในการแก้ ม. 256 เพื่อตั้ง สสร. ที่แก้ไข รธน. แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ สสร. ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และควรเร่งรัดให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี และ รธน. ปี 60 ม. 144 ห้าม ส.ส. / ส.ว. ยุ่งเกี่ยวกับงบประมาณ ซึ่งทำให้เวลาลงพท. ไม่สามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้ ส่วน ม. 83 ที่มาของผู้แทนฯ เชื่อมโยงกับ พ.ร.บ. พรรคการเมือง, พ.ร.บ. การเลือกตั้ง ที่ทำให้เกิดปัญหา

สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ (ส.ว.)
จากที่มีเสนอให้ ยกเลิก/แก้ไข ม. 270 ซึ่งกระทบต่อหน้าที่-การดำเนินการของส.ว. ในการติดตาม/เร่งรัด ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สะดุดลง ดังนั้นหากยกเลิก ม. 270 ก็จะถือว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างมาก

นส.สรัสนันท์ อรรณนพพร
เสนอการแก้ไข ม. 256 เพื่อเปิดช่องทางให้มีการแก้ไข รธน. เพราะ รธน.ฉบับนี้มีปัญหา ส่งผลต่อการทำงานการเมือง ขับเคลื่อน ศก. และความขัดแย้ง

ส่วนหนึ่งจากการมีแต้มต่อในการเลือกนายกฯ ถึง 250 เสียง จากกฎกติกาที่บิดเบี้ยว มีการลดอำนาจ ของ ส.ส. ที่เกี่ยวข้องกับ งบประมาณ ใน ม. 144 เปิดช่องทางในการสืบทอดอำนาจ


◾️17.00 น.

วงศ์สยาม เพ็งพาณิชภักดี
ส.ส. และ ส.ว. มีที่มาที่ไปแตกต่างกัน ตามที่บัญญัติไว้ใน รธน. ปี 60 ซึ่งทั้ง ส.ส. และ ส.ว. เป็นตัวแทนประชาชน มาจากหลายอาชีพ มีหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมาย จึงต้องมีทั้งการแต่งตั้ง – เลือกตั้ง โดยตนเองมาจากการเลือกของปชช.

ที่ผ่านมา รธน. ไม่ได้ทำให้ ปชช. เดือดร้อน แต่ศก. มันกระทบจากโควิด-19 ซึ่งเราก็แก้ได้ดีที่สุดในโลก ส.ส.-ส.ว. ควรมาจากคนละที่

นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์
การออกมาของ รธน. 60 มีการวิพากษ์วิจารณ์นั้นมีน้อยมาก และมีการถูกดำเนินคดี อย่าอ้างว่า เป็นการปราบโกง หรือดี และเป็นการสืบทอดอำนาจของ คสช.

— มีการประท้วงในการอภิปราย / ขอให้ผู้ประท้วงถอนคำพูด / ประธานเตือนการเสียดสี —

ซึ่งการแต่งตั้ง สสร. ไม่ช่วยแก้ปัญหาใด ๆ สสร. ต้องมาจากประชาชน ในขณะเดียวกันประชาชนก็มีการถูกละเมิด ถูกคุกคาม ริดรอนสิทธิประชาชน และก็แม้ว่าเปิดช่วงให้ประชาชนได้แก้ไข ก็ไม่ได้หมายความว่า แก้ไขในทุกเรื่อง การที่ประชาชนแก้ไขกฎหมายได้ทุกข้อนั้นเป็นข้อยืนยันในระบอบประชาธิปไตย

ถ้าเราทำระบบให้มันดี ไม่ว่าคนไม่ดีเข้ามากี่คน ก็ต้องถูกดีดออกไป ปัญหาคนไม่ดีไม่เกิด ระบบจะตรวจสอบตัวเองได้ เราต้องมีเครื่องมือเพื่อใช้ในการจัดการ

นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์

◾️16.30 น.

นายพัฒนา สัพโส
ที่มาของ รธน. ปี 60 ที่บอกว่าผ่านประชามติ แต่ในช่วงนั้นตนเองมี ตร. มาเฝ้าหน้าบ้าน เพื่อนสมาชิก ไปนอนในเรือนจำ 20 วัน เพราะรณรงค์เกี่ยวกับการลงประชามติ นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้น ว่า รธน. ฉบับนี้มีปัญหา

การแก้ไขใน ม. 256 นี่ตนเองเห็นด้วย จึงอยากให้ทุกฝ่ายเห็นด้วยและสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกัน

นายสุพล จุลใส
ตนเองไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก และร่าง รธน.ใหม่ เนื่องจาก รธน. ปี 60 มีบทบัญญัติที่เหมาะสม การร่างใหม่ก็อาจจะเกิดผลเสียมากกว่าเดิม การจัดทำประชามตินั้นก็เป็นการเสียเงิน รวมถึงการอาจจะเกิดปัญหาที่เป็นที่ครหา ว่าเป็นสภาผัว-เมีย ของฝ่ายการเมืองได้


◾️16.00 น.

ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ –
การแก้ไข รธน. หากยังไม่แก้ไข-ตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ เกิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุบสภาในวันนี้-พรุ่งนี้ เราก็จะยังคงได้นายกฯ ชื่อประยุทธ์ เหมือนเดิม ดังนั้นจึงควรแก้ในเรื่องนี้ก่อน และหากเป็นความกรุณา ก็อยากขอให้ พล.อ. ประยุทธ์ ลาออกไป

บัญญัติ บรรทัดฐาน –
6 ชม. ในการอภิปรายก็ยังวนเวียนอภิปรายในเรื่องของความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน แล้วจะแก้กันอย่างไร อีกหลายคนก็กังวลในมุมของการใช้เงินในการแก้ไข รธน. ซึ่งที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการตั้งรัฐบาลชุดนี้ ก็มีเรื่องของไอเดียการแก้ไข รธน. และได้มีการทำสำรวจที่ผ่านมาก็ มีความต้องการในการแก้ไข รธน. ในหลายประเด็น อาจจะมีบางหมวดคือ หมวด 1 และ 2 ที่อาจจะมีไม่อยากให้แก้บ้าง

แต่ในการศึกษาส่วนใหญ่ก็อยากแก้ไขเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะที่ไปที่มาของ ส.ว. ซึ่งที่ผ่านมาจาก รธน. ปี 40 ก็ถือเป็นต้นแบบในการตั้ง สสร. และจัดทำประชามติ แต่ประเด็นการใช้เงินทำประชามติ หากถือว่า รธน. มีความสำคัญ ก็จำเป็นต้องทำ แต่อาจจะไม่จำเป็นถึง 2 ครั้ง

ดังนั้น การจัดตั้ง สสร. และให้มีการแก้ไข รธน. ก็ถือเป็นทางออกไม่ว่าจะยกร่างใหม่ทั้งหมด หรือเป็นรายมาตรก็ตาม

ชาญวิทย์ ผลชีวิน
ที่ผ่านมา ประเทศไทยมี รธน. มาแล้ว 19 ฉบับ และฉบับที่ 20 นี้ก็จะแก้อีก แต่ประเทศอยู่ได้ไม่ใช่เพราะกฎหมาย เพราะรธน. แต่อยู่ได้เพราะกำลังของพลเมืองดี ดังนั้นการจะแก้กติกา แก้ รธน. ใหม่ ก็ต้องถามกองเชียร์ก่อน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้มีการถามประชาชนอย่างจริงจัง ปัญหาจึงอยู่ที่คน หากคนรู้จักแพ้-ชนะ-ขอโทษ-ให้อภัย รัฐธรรมนูญฉบับไหนก็ไม่มีปัญหา ซึ่งเรามักจะเอ่ยถึง รธน. ต่างประเทศ ก็ต้องไปดูสปิริตในสภา ของต่างประเทศด้วย ที่เค้ามีสปิริต มีความรับผิดชอบ ตรงนี้ต้องแก้ในสภาเราด้วย

ซึ่งที่ผ่านมา รธน. 19 ฉบับ ไม่เคยมีเอ่ยถึงการกีฬาเลย ยกเว้นฉบับนี้ ดังนั้นหากจะแก้ขอเว้นข้อเกี่ยวกับด้านการกีฬา


◾️15.30 น.

ณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ –
รธน. ฉบับนี้ ที่มาก็มีปัญหา การจัดดุลอำนาจก็มีปัญหา จึงถูกกล่าวว่า เป็นรธน. เพื่อสืบทอดอำนาจ ทำให้ปชช. ไม่เชื่อมั่น ซึ่งควรนำ รธน. ปี 40 ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง มีการตั้ง สสร. ขึ้นมาร่วมกันร่าง

ซึ่งกมธ. ศึกษาแนวทางการแก้ไข รธน. โดยเสนอการแก้ไขเพิ่มเติม ม. 256 และ หมวด 15/1 โดยจัดตั้งสสร. การแก้ไขครั้งนี้ ต้องไม่ให้มีการถูกครหาว่า เป็นการยื้อเวลา ดังนั้นเอา รธน.ปี 40 มาตั้ง แล้วแก้ไข จะได้เร็วขึ้น

จเด็จ อินสว่าง (ส.ว.)
ก่อนการลงมติ ต้องตามกันก่อนว่า การแก้ รธน. ในครั้งนี้ แก้ไขปัญหาศก. ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง? สถานการณ์โควิด-19 เราจัดการได้ดีที่สุดในโลก ซึ่งก็เป็นผลงานของ รบ.ชุดนี้ ที่ประคองกันไปได้ อยู่ ๆ ก็มีปมการแก้ รธน. ยาวไปจนถึง การปิดสวิตซ์ ส.ว. โดยไม่ได้ตอบคำถามว่า มันจะทำให้ ศก.ดีขึ้นอย่างไร

การบอกว่า ถ้าไม่แก้ รธน. ไม่ตั้ง สสร. จะเกิดปฏิวัติ/รัฐประหาร ซึ่งปัจจุบันไม่ง่าย พูดกันถึงปลายน้ำ แต่ไม่พูดถึงต้นน้ำที่เกิดขึ้นจากในสภานี่เอง แล้วการชุมนุมที่ผ่านมา ก็มุ่งจะแก้ไขลุกลามไปจนถึงการก้าวไปถึงสถาบันฯ ซึ่งก็เห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาเพื่อคนบางกลุ่ม บางพรรคเท่านั้น บางคนบอก รธน. ปี 60 แก้ยาก แต่ถ้ามันแก้ง่าย เดี๋ยวก็จะแก้กันไปเรื่อย

นอกจากนี้ การทำประชามติ ก็ต้องเสียเงิน เสียทองกัน ซึ่งสถานการณ์นี้เหมาะสมหรือไม่ หากแก้แล้วศก. ดีขึ้น โควิด-19 ดีขึ้น การเมืองดีขึ้น ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่แก้


◾️15.00 น.

พลอากาศตรี เฉลิมชัย เครืองาม –
ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไข รธน. บางข้อ หรือ ร่างใหม่ทั้งฉบับ ล้วนแล้วแต่มีประเด็นที่มีผู้ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ ศาลรธน. เคยวินิจฉัยว่า อำนาจในการสถาปนา รธน. นั้น เป็นอำนาจของประชาชน โดยถือว่า มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ และให้ ปชช. เป็นผู้พิจารณาก่อนว่า จะมีการแก้ไข-ร่าง รธน.ใหม่หรือไม่

และประชามติของการเลือก รธน. ปี 60 ถึง 16 ล้านเสียง และเป็นคำตอบว่า รธน. มีที่มาจากประชาชน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า รธน. ฉบับนี้ไม่มีข้อผิดพลาด ดังนั้นจึงควรแก้ไข โดยแก้ไข ใน ม. 256 ก่อน

อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล –
จากการชุมนุมที่เกิดขึ้นของเยาชน-คนรุ่นใหม่ ที่ได้ก้าวข้ามความกลัวในรุ่นก่อนหน้า ซึ่งต้องเริ่มต้นด้วยทัศนคติที่หยุดคุกคามประชาชน ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีเพียง รธน. 2 ฉบับแรกเท่านั้นที่ระบุว่า อำนาจสูงสุดของประเทศ เป็นของราษฎรทั้งหลาย โดยมีกษัตริย์ สภาฯ คณะกรรมการ และศาล เป็นผู้มีอำนาจแทนประชาชน และที่ผ่านมาอำนาจของประชาชนถูกทำลายด้วยการปฏิวัติ/รัฐประหาร ตามด้วยการเขียน รธน. ใหม่ทุกครั้ง

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามเปลี่ยนแปลง/ลบล้าง ความทรงจำเกี่ยวกับวันที่ 24 มิ.ย. 2475 ผ่านแบบเรียน, ภาพยนตร์, หมุดคณะราษฎร์, อนุสาวรีย์พิทักษ์ รธน., อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ , รูปปั้นจอมพล ป. หายไป ดังนั้น รธน. จะต้องมีจุดหมายเพื่อเป็น รธน. ของประชาชน และรับช่วงต่อจากคณะราษฎร

นอกจากนี้ รธน. ที่ดีควรสั้น กระชับ สั้น ไม่กำกวม ไม่เสี่ยงต่อการตีความถูก-ผิด และมีเนื้อหาที่จำเป็นเท่านั้น ไม่นิรโทษกรรมให้ผู้ทำรัฐประหาร ยกเลิกศาล รธน. นอกจากนี้ สสร. จะต้องไม่เป็นเกี่ยวข้องกับ คสช.

ประเทศไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากเกินไปแล้ว เราไม่ควรจะต้องทำรัฐธรรมนูญเป็นของศักสิทธิ์จนกระทั่งประชาชนแตะต้องไม่ได้ แก้ไขไม่ได้

อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล –

◾️14.30 น.

ณัฎฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ
รธน. ปี 60 มีทั้งปชช. เห็นด้วยให้แก้ และไม่เห็นด้วยที่แก้ ในตอนนี้ก็มี ปชช. มองว่า เป็นการแก้ไข เพื่อยืดอายุรัฐบาล-ส.ว. ทางพรรคภูมิใจไทยเห็นว่า ควรต้องแก้ รธน. ปี 60 โดยเฉพาะ ม. 256 และให้มีการตั้ง สสร. เพื่อให้ได้ รธน. ที่มาจากประชาชน

เฉลิมชัย เฟื่องคอน –
ขอฝากข้อสังเกตไว้ว่า การแก้ไข รธน. ที่หลายฝ่ายระบุว่า มีความยุ่งยากนั้น เป็นเพราะการที่ต้องได้เสียงของ ส.ว. 1/3 ของทั้งหมดที่เป็นก้างขวางอยู่ ส่วนการยกร่างใหม่ทั้งฉบับนั้น ก็มีข้อกังวลว่า จะเป็นการตีเช็คเปล่า รวมถึงอาจจะมีการแก้ไขในหมวด 1 และ 2 ได้ ส่วนการปิดสวิทซ์ ส.ว. นั้น ส่วนตัวสงสัยว่า ทำไมถึงต้องปิด/ยกเลิก ส.ว.

นายคมเดช ไชยศิวามงคล –
สรุปประเด็นของการแก้ไข หลัก ๆ อยู่ที่เสียงของ ส.ว. ตาม ม. 256 ซึ่งที่ผ่านมาคนรุ่นเก่าก็กำลังจะผลัดเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ออกมาแสดงออกกันอย่างที่ได้เห็น จึงอยากให้ ส.ว. คิดให้ดี ตนเองเห็นควรว่า ต้องแก้ไขทั้งฉบับ ที่มีการสืบทอด อำนาจจาก ม. 44 ที่ยังจะไม่สามารถจบได้ง่าย ๆ หากแก้ไขเป็นรายมาตรา เงินไม่เป็นปัญหา แต่ห่วงเวลาที่เสียไป

รงค์ บุญสวยขวัญ –
การเมืองไทยเป็นวงจรอุบาทว์ของการเมือง ร่าง รธน. > เลือกตั้ง > สภา >รัฐประหาร ซึ่งก็จะวนกันต่อเนื่องไป รธน.ที่เกิดขึ้นเป็นหนึ่งในวงจรที่ขัดแย้งกัน จึงเห็นว่า ควรต้องมีการแก้ไขความขัดแย้งทางสังคมที่เกิดขึ้นวันนี้ ควรมี สสร. เพื่อเป็นหลักประกันทางสังคมที่เกิดขึ้น เพื่อลดความขัดแย้งทางสังคมที่เกิดขึ้น แต่ก็ต้องคงไว้ในส่วนของ หมวด 1 และ 2


◾️14.00 น.

นายชินวรณื บุณยเกียรติ
รัฐธรรมนูญ ปี 2560 นั้นหลายฝ่าย เห็นควรในการแก้ไข โดยเฉพาะ ม. 256 ที่ไม่เปิดช่องให้แก้ไขได้เลย ดังนั้นเห็นว่า ให้มี สสร. ขึ้นมายกร่าง/แก้ไข รธน. ทั้งฉบับ ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกัน หารือกัน ปรับปรุง แก้ไข

ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม
เจตนารมย์ของ รธน.ปี 60 ต้องแก้ไขเพื่อให้รับฟังเสียงข้างน้อย การทำให้การแก้ไขยาก ก็เพื่อให้รับฟังเสียงทุก ๆ ฝ่าย มีปัญหามีความจำเป็นใดที่ต้องแก้ ซึ่งตนเองเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องรื้อทั้งฉบับ ที่อาจจะเกิดปัญหาใหม่เกิดขึ้นได้

จตุพร เจริญเชื้อ
รธน. ปี 60 มีข้อบกพร่อง โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม การทำประชามติ ก็ไม่สามารถรณรงค์-ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงได้อย่างครบถ้วน ถือเป็นข้อบกพร่องของ รธน. ฉบับนี้ อีกทั้งเป็นการสืบทอดอำนาจ คสช. ไม่ว่าจะเป็นการให้ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ, ทำให้การเมืองอ่อนแอ


◾️13.30 น.

นายศภชัย ใจสมุทร –
รธน. ในฉบับที่ผ่านมามีปัญหา ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และประชาชน เห็นควรว่าจะต้องแก้ไข ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ไม่ต้องความต้องการประชาชน ทำให้มีการประท้วงการแสดงออกที่เกิดขึ้น จึงขอให้รัฐไม่คุกคามประชาชน

พล.อ. นาวิน ดำริกาญจน์ (ส.ว.)
เห็นว่า รธน. ปี 60 มีกลไกให้แก้ไข รธน. เปิดช่องไว้ แต่ยังไม่เคยมีการทดลองใช้งานมาก่อน, การแก้ไข รธน. นั้นเป็นการทรยศต่อผู้ที่ลงประชามติ ทั้ง 16.8 ล้านคน นอกจากนี้สถานการณ์ในตอนนี้ ควรใช้เงินในการจัดหาซื้อวัคซีนโควิด-19 ไม่ใช่การต้องมาจ่ายกับการลงประชามติ ส่วนในประเด็นของการเลือกตั้งโดยใช้บัตรใบเดียว จะขอฟังความเห็นของ สภาก่อนตัดสินใจ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง
ประเทศไทยบอกว่า รธน. เป็นกฎ-กติกาสูงสุด แต่มีการเปลี่ยนกันมา 20 ฉบับ ซึ่งในฉบับปี 2560 นี้ก็เป็นผลมาจากการปฎิวัติ/รัฐประหาร และที่อ้างว่า รธน. ปี 2560 มีผู้มาลงมติเห็นชอบ 16 ล้านคน จาก 50 กว่าล้าน รวมทั้งเป็นประชามติ ที่ไม่เปิดโอกาสให้ปชช. ได้ศึกษา


◾️12.30 น.

นายแพทเจตน์ ศิรธรานนท์ (ส.ว.)
เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 6 ร่างนี้ ไม่เหมาะที่จะแก้ไขในขณะนี้ ที่มีวิกฤติต่าง ๆ เกิดขึ้น การแก้ไขทั้งฉบับนั้นไม่ต่างจากการตีเช็คเปล่า ซึ่งไม่รู้จะแก้ไขอะไรบ้าง นอกจากนี้ยังต้องมีการทำประชามติ 2 ครั้ง ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ รธน. ปี 60 เป็นฉบับปราบโกงที่ ผ่านการทำประชามติมาแล้วโดยมีผู้เห็นด้วย 16 ล้านคน ไม่เห็นด้วย 10 ล้านคน ก็มีข้อที่จัดการ/ห้ามหลายอย่างที่ป้องกันการทุจริต จึงกังวลว่า ประเด็นเหล่านี้จะหายไปหากร่างใหม่ และการแก้ไขหมวด 1 และ 2 เองก็ยังมีมาตราอื่น ๆ ในหมวดอื่น ที่เกี่ยวเนื่องกันอีกด้วย จึงไม่แน่ใจว่าจะได้ รธน. หน้าตาอย่างไรต่อไป

พล.ต.อ. เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวส
แม้ว่าจะลงชื่อในญัตติร่างแก้ไข รธน. แต่ก็ไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด จึงขอใช้เอกสิทธิ์ในการอภิปรายในความเห็นส่วนตัว โดยเห็นว่า ที่มาของ รธน. ปี 2560 มาจากการฉีก รธน. และร่างใหม่ เพราะต้องการสืบทอดอำนาจ – แต่งตั้งคณะกรรมการร่างขึ้นมาเอง ซึ่งก่อนหน้าได้มีการตั้ง บวรศักดิ์ อุวรรณโณ สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่เอา เพราะอยากอยู่ยาว จึงต้องมีการตั้งคนอื่นมาร่างต่อ

— นายชวน ท้วงการใช้คำพูดของ พล.ต.เสรีพิสุทธิ์ในการใช้คำพูดที่พาดพิงบุคคลภายนอก-เสียดสี / สิระ เจนจาคะประท้วง —

ส่วนการส่งร่าง รธน. ปี 2560 นั้นก็ไม่ได้มีการจัดส่งให้ ปชช. ได้ศึกษาเป็นไปตามที่อ้าง นอกจากนี้ สมาชิก ส.ว. ที่เป็นกรรมการสรรหา ก็เรียกได้ว่า เป็นสภาเพื่อน-น้อง-พี่

— มีประท้วงอภิปรายนอกประเด็น / นายชวน เห็นว่าอยู่ในประเด็นที่มาของความไม่เห็นด้วย, ผู้ถูกเอ่ยถึงบางส่วนอยู่ในสภา สามารถใช้สิทธิ์ชี้แจงได้ —

ทั้งส.ส. และส.ว. เป็นเพียงตัวแทนในการแก้ รธน. จึงเป็นเพียงความเห็นของ ส.ส. / ส.ว. จึงอาจจะไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ดังนั้นประชาชนจึงต้องเป็นเข้าของรัฐธรรมนูญ

ผมจึงไม่เห็นด้วยกับร่างของทั้งสองฝ่าย เพราะไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนที่แท้จริง

พล.ต.อ. เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวส

จึงขอเสนอ ความเห็นดังนี้

  1. นายกฯ ต้องลาออกจากเสียก่อน
  2. แต่งตั้งนายกฯ ใหม่ตาม ม. 272
  3. แก้ไข รธน. โดยนำร่างของประชาชนมาพิจารณา
  4. ยุบสภา และเลือกตั้งใน รธน.ใหม่


◾️11.40 น.

นายมณเฑียร บุญตัน (ส.ว.)
ระบุว่า ส.ว. มีสิทธิอย่างอิสระในการตัดสินใจ และเป็นตัวแทนประชาชน สำหรับ รธน. ปี 40 ถือเป็น รธน. ฉบับประชาชน ที่ถือได้ว่าดีมาก ๆ ซึ่งหากในปี 48-49 ที่หากเราเลือกแก้ไข จุดข้อผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้น เราก็จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจกันในวันนี้ ทั้งตัว รธน. และผู้มีอำนาจ ต้องเปิดทางให้แก้ไขได้ เพื่อให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนั้นการยกร่างทั้งฉบับ จึงไม่เห็นด้วย หลายประเทศก็ใช้การแก้ไขเป็นรายประเด็น

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
สถานการณ์โลกมีการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ซึ่งหากเราไม่แก้ไข/ไม่เปลี่ยนแปลงให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ก็อาจจะส่งผลต่อการก้าวตามการเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ทัน หากการเมืองยังเหมือนเดิมจะเป็นสิ่งที่ขัดขวางการพัฒนา รธน. ปี 60 ไม่ใช่แค่การสืบทอดอำนาจ คสช. แต่กลับเป็นสิ่งที่ย้อนหลัง/ล้าหลัง เช่นเดียวกับ รธน.ปี 2521 ที่ให้ ส.ว. มีสิทธิ์ในการเลือกนายกฯ โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นผู้ร่าง

ตนเองยังมีความหวังในการเคลื่อนไหวของประชาชนที่เกิดขึ้น ผู้ร่าง รธน. จึงต้องเป็นตัวแทนประชาชน จากหลาย ๆ กลุ่ม ผ่านการเลือก ไม่ใช่การแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจ ไม่มีข้อจำกัดความฝันของประชาชนกลุ่มใด ดังนั้นการห้ามแก้ไขในหมวด 1 และ 2 จะไม่ช่วยให้เป็นการแก้ไขระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้อย่างแท้จริง จึงควรมีการแก้ไขให้สถาบันฯ อยู่คู่กับระบบประชาธิปไตยได้อย่างมั่นคง การนำพระราชอำนาจมาใช้ประทะกับระบอบประชาธิปไตยก็จะไม่ส่งผลดี

นายไพบูลน์ นิติตะวัน
ได้ระบุถึงที่มาของรัฐธรรมนูญในปี 2560 ได้ผ่านการลงประชามติมาแล้ว อีกทั้งในการเลือกตั้งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้คะแนนเสียงถึง 8 ล้านเสียง ก็ถือว่า มาตรา 272 สะท้อนเสียงของประชาชน แต่ส่วนตัวก็เห็นด้วยกับการปรับปรุงแก้ไข รธน. เป็นรายข้อ โดยไม่แตะหมวด 1 และ 2


◾️11.00 น.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
กล่าวว่า ทางตนเองและพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีเจตนารมย์มาตั้งแต่ต้นแล้วว่าต้องการแก้ไข รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งเห็นด้วยกับการแก้ไข ในญัตติเดียวกับพรรคร่วมรัฐบาล โดยมีการแก้ไขที่ตรงกับที่ทางพรรคประชาธิปัตย์มีแนวคิดมาตั้งแต่ต้น และเห็นด้วยกับการตั้ง สสร. เพื่อแก้ไขรธน. แม้ว่ามีบางประเด็นอาจยังเห็นไม่ตรงกัน แต่ก็เชื่อว่าสามารถแก้ไขได้ และเห็นด้วยที่ร่างฉบับนี้ ไม่มีการแก้ไข หมวดที่ 1 และ 2 เนื่องจากเป็นหมวดที่ว่าด้วยถึงระบบระเบียบในประเทศไทย และสถาบัน

ส.ว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ควรมีอำนาจบาทบาทหน้าที่จำกัด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

นาวาอากาศเอง อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
ยืนยันไม่เห็นด้วยกับ รธน. ปี 2560 ขัดหลักการประชาธิปไตยหลายเรื่องด้วยกัน ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นสิ่งที่จับต้องได้ นำไปสูงนโยบายต่าง ๆ ที่ทำให้ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นโครงการบ้านเอื้ออาทร กยศ. อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 30บาทรักษาทุกโรค

ส่วนใน รธน.ปี 60 ตรงกันข้ามกับปี 40 กับหลักนิติธรรมสากล เช่นการพิจารณาคดีลับหลัง – ย้อนหลัง


◾️10.30 น.

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์
กล่าวถึงหลักการที่มาที่ไปในการแก้ไข รธน. โดยระบุว่า รัฐธรรมนูญไม่ถูกต้อง เป็นไปไปตามหลักการประชาธิปไตย โดยเฉพาะการให้ ส.ว. มาโหวตเลือกนายกฯ ด้วย ที่มาที่ไปของรัฐธรรมนูญมาจากการปฏิวัติ มีการนิรโทษกรรมให้กับ คสช.

นอกจากนี้การเลือกเลือกตั้งใน รธน. ที่ผ่านมาใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว มีปัญหา ไม่สะท้อนความต้องการประชาชน จึงควรเปลี่ยนให้มาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ สำหรับแบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ

นายวิรัช รัตนเศรษฐ
ชี้แจงเหตุผลว่า รธน. ที่ใช้อยู่ไม่สอดคล้องกับระบบประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของประชาชน และปัญหาอีกหลาย ๆ ประการ ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม นำไปสู่ปัญหาการพัฒนาประเทศ และในกรอบของพรรคร่วมรัฐบาลก็จะแก้ไข เฉพาะมาตราที่มีปัญหา ไม่แตะในหมวด 1 และ 2 ซึ่งไม่ได้มีปัญหา

นายขจิตร ชัยนิคม
เสนอให้นำรายชื่อประชาชน จากของไอลอว์ 1 แสนกว่ารายชื่อนำเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย ซึ่งนายชวน หลีกภัย ระบุว่า ยังไม่ได้รับรายชื่อดังกล่าว และรายชื่อก็ยังไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้อง-ซ้ำซ้อน ทำให้ไม่สามารถนำเข้ามาได้ทันทีโดยไม่มีการตรวจสอบ


◾️10.00 น.

นายชลน่าน ศรีแก้ว
ลุกขึ้นชี้แจง เป็นการถอนรายชื่อออกจากญัตติเท่านั้น ไม่ได้เป็นการถอนญัตติแต่อย่างใด ตัวญัตติที่ยื่นนั้นยังอยู่ เพียงแต่รายชื่อไม่ครบเท่านั้น ทำให้ตัวญัตตินั้นตกไปเท่านั้น

นายไพบูลน์ นิติตะวัน
ได้ยกมือขอใช้สิทธิในประเด็นนี้ นายชวน หลีกภัย สรุปขอให้จบในประเด็นนี้

นายวิรัช รัตนเศรษฐ
เสนอข้อสรุปผลการหารือร่วมกันว่า จะเริ่มอภิปรายในเวลา 10.30 น. – 01.00 น. ของวันพรุ่งนี้ และวันที่ 24 ก.ย. ก็จะเริ่มอภิปรายในช่วง 09.30 – 18.00 น. และจะมีลงคะแนนรับหลักการ โดยการขานชื่อ ระยะเวลาอภิปรายทั้งหมด ฝ่ายละ 7 ชั่วโมง 20 นาที (ประท้วง/หารือ หักเวลาฝ่ายนั้น)


◾️09.30 น.

นายไพบูลน์ นิติตะวัน ขอหารือในเรื่องของการลงชื่อเสนอญัตติมีรายชื่อซ้ำซ้อนกัน มีการถอนรายชื่อไปลงญัตติใหม่

โดยนายชวน หลีกภัย ได้ชี้แจงว่า ได้มีการประชุมทางด้านฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาแล้ว ระบุว่า สามารถลงชื่อซ้ำในกรณีที่ญัตติเป็นคนละญัตติกัน ไม่มีเนื้อหาซ้ำซ้อนกัน สามารถทำได้ ส่วนกรณีที่ลงชื่อซ้ำในฉบับเดียวกัน 2 ครั้ง ไม่ได้


6 ญัตติที่มีการเสนอเข้ามาเพื่อพิจารณาแก้ไข

  1. ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเสนอโดยวิปฝ่ายค้าน ให้มีการแก้ไข ม. 256 และมีการเพิ่มหมวด 15/1
    .
  2. ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเสนอโดยวิปรัฐบาล ให้มีการแก้ไขใน ม. 256 และเพิ่มหมวด 15/1
    .
  3. ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเสนอโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ให้มีการ “ยกเลิก ม. 270 และ 271”
    .
  4. ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเสนอโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ให้มีการแก้ไข ม. 159 และยกเลิก ม. 272
    .
  5. ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม เสนอโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ให้มีการยกเลิกมาตรา 279
    .
  6. ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม เสนอโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ให้มีการแก้ไข ม. 91, 92, 94 และให้ยกเลิก ม. 93, 104 (4), 105 วรรคสาม