กัญชา น้ำมันกัญชา

คลายข้อสงสัย! ‘ครอบครอง-แจกจ่าย’ น้ำมันกัญชา ทำไมมีความผิด?

คลายข้อสงสัยเกี่ยวกับกัญชา! เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562 กลุ่มสื่อสารเชิงกลยุทธ์ สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล www.thaigov.go.th เพื่ออธิบายและคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับสารสกัดจากกัญชาว่า ยังคงเป็นกระแสที่มีการพูดถึงอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการให้สิทธิปลูกกัญชา เพื่อใช้ในการแพทย์ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7…

Home / NEWS / คลายข้อสงสัย! ‘ครอบครอง-แจกจ่าย’ น้ำมันกัญชา ทำไมมีความผิด?

คลายข้อสงสัยเกี่ยวกับกัญชา!

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562 กลุ่มสื่อสารเชิงกลยุทธ์ สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล www.thaigov.go.th เพื่ออธิบายและคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับสารสกัดจากกัญชาว่า ยังคงเป็นกระแสที่มีการพูดถึงอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการให้สิทธิปลูกกัญชา เพื่อใช้ในการแพทย์ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 ซึ่งระบุให้ “กัญชา” และ “กระท่อม” สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคได้

ล่าสุดมีข่าวเรื่องการแจกน้ำมันสารสกัดจากกัญชาให้กับประชาชน เพื่อนำไปใช้ในการรักษาอาการเจ็บป่วย เจ้าหน้าที่จึงเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และจับกุมผู้ต้องหา พร้อมยึดของกลางต้นกัญชา น้ำมันกัญชา อุปกรณ์ในการทำน้ำมันกัญชา

จึงเกิดเป็นคำถามว่า เมื่อนำกัญชาไปใช้รักษาอาการเจ็บป่วย แล้วทำไมจึงผิดกฎหมาย?

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ระบุว่า เนื่องจาก “กัญชา” เป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เช่นเดียวกับพืชกระท่อม พืชฝิ่น ดังนั้น การครอบครอง ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือเสพ โดยไม่ได้รับอนุญาต จะถือเป็นความผิดตามกฎหมาย

ขณะที่เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 นั้น มุ่งหมายให้ใช้กัญชาในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ทางราชการ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนาเท่านั้น แต่ไม่ใช่การเปิดเสรีให้ปลูกหรือใช้กัญชาตามใจชอบ

นอกจากนี้ กฎหมายให้สิทธิในการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีกัญชาและกระท่อมไว้ในครอบครอง เฉพาะหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย หรือจัดการเรียนการสอนวิชาด้านการแพทย์ เกษตรศาสตร์ ผู้ประกอบวิชาชีพเครือข่ายแพทย์ ทั้งแผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน ผู้ประกอบอาชีพเกษตร ที่รวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดต้องขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสียก่อน

ส่วนข้อกังวลว่า การจับกุมผู้ครอบครองและแจกจ่ายกัญชารายย่อยเช่นนี้ เพื่อต้องการที่จะเอื้อนายทุน เช่น บริษัทยา ให้สามารถปลูก สกัด หรือจำหน่ายกัญชานั้น ข้อมูลจาก สำนักงาน ป.ป.ส. ระบุว่า ขณะนี้มีหน่วยงานของรัฐ 2 แห่ง ที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตกัญชาได้ คือ องค์การเภสัชกรรม และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

และในระยะ 5 ปีแรก การผลิต นำเข้า ส่งออก กัญชา ให้อนุญาตได้เฉพาะหน่วยงานรัฐ หรือโดยความร่วมมือของหน่วยงานของรัฐเท่านั้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทางการแพทย์และความปลอดภัยของประชาชนไทยเป็นที่ตั้ง จึงไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ใด

ส่วนในอนาคตจะใช้กัญชาได้อย่างเสรีหรือไม่ เพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายและการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับผู้ประสงค์ขออนุญาต หรือกรณีของผู้ป่วย กฎหมายกำหนดให้แจ้งข้อมูลการครอบครองกัญชาภายใน 90 วัน นับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะสิ้นสุดภายในวันที่ 19 พ.ค. 62 เพื่อให้ได้รับการยกเว้นโทษ โดยไปแจ้งได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หากต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ สายด่วน ป.ป.ส. 1386 กด 3 หรือ สายด่วน อย. 1556 กด 3

สกัดน้ำมันกัญชาใช้เอง เสี่ยงอันตราย

ประเด็นการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ นับว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก ซึ่งหลายหน่วยงานต่างออกมาเตือนอย่างสม่ำเสมอว่า กัญชายังเป็นยาเสพติดประเภท 5 ดังนั้นหากมีไว้ในครอบครองถือว่าผิดกฎหมาย ฉะนั้นแล้วการที่ประชาชนพยายามปลูกกัญชา ศึกษาวิธีการสกัดเอง  ดำเนินการสกัดเอง นับว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากน้ำมันกัญชาที่สกัดเองอีกด้วย

โดยทางนพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เคยออกมาเตือนว่า สำหรับการสกัดน้ำมันกัญชานั้นมีด้วยกันหลายกรรมวิธี กรณีการสกัดโดยใช้แอลกอฮอล์ หากส่วนผสมไม่ถูกต้อง ระหว่างเอทานอลและเมทานอลก็อาจทำให้ได้รับอันตราย

โดยการใช้เมทานอลเป็นส่วนผสมในการสกัดกัญชา อาจได้รับผลข้างเคียงทำให้ตาบอด ตับและไตวาย กรณีการใช้เตาแก๊สในการสกัด ก็อาจไวไฟ เสี่ยงได้รับอันตราย การใช้โรงเรือนแบบปิด ก็ได้รับอันตรายจากการสูดดูม ไอระเหยของกัญชา ที่ตลบอบอวน ทำให้เกิดอาการมึนเมาได้

ยาเสพติดให้โทษแบ่งออกเป็น 5 ประเภท

ประเภท 1 ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เช่น เฮโรอีน, แอมเฟตามีน ,แมทแอมเฟตามีน, เอ็กซ์ตาซี และแอลเอสดี

ประเภท 2 ยาเสพติดให้โทษทั่วไป เช่น มอร์ฟีน, โคคาอีน, โคเดอีน และฝิ่นยา

ประเภท 3 ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นตำรับยา และมียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ผสมอยู่ด้วย คือ ยารักษาโรคที่มียาเสพติด ประเภท 2 เป็นส่วนประกอบอยู่ในสูตร เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้ท้องเสีย

ประเภท 4 สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 1 หรือประเภท 2 เช่น อาเซติคแอนไฮไดรด์ และอาเซติลคลอไรด์

ประเภท 5 ยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าอยู่ในประเภท 1 ถึงประเภท 4 เช่น กัญชา พืชกระท่อม

พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 กำหนดการกระทำความผิดและบทลงโทษเกี่ยวกับกัญชา ดังนี้

1) ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 หรือในประเภท 5 เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะได้อนุญาต โดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเป็นราย ๆ ไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

2) ห้ามมิให้ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 หรือในประเภท 5

ข้อหาและโทษทางอาญาในความผิดเกี่ยวกับกัญชา

1) ผลิต นำเข้า หรือส่งออก มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 – 15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 – 1,500,000 บาท (มาตรา 75 วรรค 1)

2) จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
– จำนวนไม่ถึง 10 กิโลกรัม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 – 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 40,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 76/1 วรรค 1)
– จำนวนตั้งแต่ 10 กิโลกรัมขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 – 15 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 – 1,500,000 บาท (มาตรา 76/1 วรรค 2)

3) ครอบครอง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 76 วรรค 1)

4) เสพ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 92 วรรค 1)


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก กลุ่มสื่อสารเชิงกลยุทธ์ สำนักโฆษกสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี