การเกณฑ์ทหาร ทหาร ทหารเกณฑ์

“ทหารเกณฑ์” ยังควรมีอยู่ไหม? คำถามที่คนไทยต้องช่วยกันหาคำตอบ

ในทุก ๆ ปี ช่วงต้นเดือนเมษายน จะเป็นช่วงที่กองทัพ จัดให้มีการคัดเลือกทหารกองเกิน หรือที่คนไทยเรียกกันจนติดปากว่า “เกณฑ์ทหาร” ซึ่งภาพบรรยากาศที่คุ้นตาคนไทยคือ ภาพที่เหล่าบรรดาชายไทยไปต่อคิวจับใบดำ-ใบแดง หลายคนเป็นลมล้มพับจนต้องหิ้วปีกเมื่อตนเองต้องได้ใบแดง ช่างต่างกับท่าทีของผู้ที่กระโดดโลดเต้นอย่างดีใจเป็นที่สุด และสุดท้ายภาพของบรรดาเหล่าสาวสองสวยๆ จำนวนไม่น้อย การเกณฑ์ทหารในประเทศไทย…

Home / NEWS / “ทหารเกณฑ์” ยังควรมีอยู่ไหม? คำถามที่คนไทยต้องช่วยกันหาคำตอบ

ในทุก ๆ ปี ช่วงต้นเดือนเมษายน จะเป็นช่วงที่กองทัพ จัดให้มีการคัดเลือกทหารกองเกิน หรือที่คนไทยเรียกกันจนติดปากว่า “เกณฑ์ทหาร” ซึ่งภาพบรรยากาศที่คุ้นตาคนไทยคือ ภาพที่เหล่าบรรดาชายไทยไปต่อคิวจับใบดำ-ใบแดง หลายคนเป็นลมล้มพับจนต้องหิ้วปีกเมื่อตนเองต้องได้ใบแดง ช่างต่างกับท่าทีของผู้ที่กระโดดโลดเต้นอย่างดีใจเป็นที่สุด และสุดท้ายภาพของบรรดาเหล่าสาวสองสวยๆ จำนวนไม่น้อย

การเกณฑ์ทหารในประเทศไทย

การเกณฑ์ทหารในประเทศไทยนั้น หาสืบค้นไปจะพบว่า การเกณฑ์ทหารในบ้านเรานั้นมีมานานแล้ว หากแต่ไม่ได้เป็นการเกณฑ์ทหารในรูปแบบสมัยใหม่เช่นเดียวกับทุกวันนี้ เมื่อครั้งสมัยโบราณประชาชนในประเทศจะมีสถานะเป็น “ไพร่” ซึ่งถือว่า เป็นผู้ที่มีพันธะในการทำงานตามที่รัฐสั่ง มีขุนนางเป็นผู้ควบคุมบ่าว-ไพร่ เพื่อทำงานต่างๆ

เราจะพบบันทึกที่เรียกว่า “การเกณฑ์เลข”  โดยให้ชายไทยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป มาขึ้นทะเบียนกับกรมพระสุรัสวดี หลังจากนั้นเจ้าพนักงานจะทำการ “สักเลข” เพื่อแสดงสังกัดว่า ได้ขึ้นสังกัดกับหน่วยงานใด โดยไพร่ที่ได้รับการสักเลขแล้ว ก็จะมีหน้าที่รับราชการเพื่อปฏิบัติงานในพื้นที่ต่าง ๆ ตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น 1-2 เดือนต่อปี

ในสมัยอยุธยา ไพร่สามารถจ่ายเงินแก่ขุนนางเพื่อแลกกับการที่ตนเองไม่ต้องไปเกณฑ์ทหาร ซึ่งไพร่ผู้ที่มีพอมีรายได้ ก็มักจะเลือกการจ่ายเบี้ยให้แก่ขุนนางเพื่อแลกการที่ไม่ต้องเข้ามาเกณฑ์ทหาร ทำให้ผู้ที่ถูกเกณฑ์ทหารในยุคนั้นถูกมองว่า เป็นผู้ที่ไม่มีเงิน หรือไม่ทำงาน นั่นเอง

ตลอดเวลาที่ผ่านมา การเกณฑ์ทหารในประเทศไทยก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามกาลเวลา แต่จุดเปลี่ยนของการเกณฑ์หมาในยุคใหม่คือ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากมีเหตุการชุมนุมของพวกเงี้ยวในเขตมณฑลบูรพา “ข้อบังคับลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 122” จึงถือกำเนิดขึ้น

ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการเกณฑ์ทหารในประเทศไทยสู่สมัยใหม่ โดยเริ่มต้นครั้งแรกเฉพาะเขตมณฑลนครราชสีมา เป็นพื้นที่แรก ก่อนขยายสู่มณฑลอื่นๆ  และหลังจากนั้นการเกณฑ์ทหารในบ้านเราก็พัฒนาตามแนวทางและสถานการณ์ทางการเมืองมาเป็นระยะๆ

ไทม์ไลน์การปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกณฑ์ทหาร

  1. ข้อบังคับลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ.122 (พ.ศ.2446)
  2. พระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ร.ศ.124 (พ.ศ.2448) ประกาศแก้ไขเพิ่มเติม 3 ครั้ง คือ
    • พระราชบัญญัติเพิ่มเติมลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ.127 (พ.ศ.2451)
    • ประกาศแก้ไข เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ร.ศ.129 (พ.ศ.2453)
    • ประกาศแก้ไข เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2456
  3. ข้อบังคับการเรียกเข้ารับราชการตำรวจภูธร ร.ศ.126 (พ.ศ.2450)
  4. พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร พ.ศ. 2460 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม 1 ครั้งในปี พ.ศ.2466
  5. พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร พ.ศ.2475  มีการแก้ไขเพิ่มเติม 1 ครั้งในปี พ.ศ.2477
  6. พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2479 มีการแก้ไขเพิ่มเติม 4 ครั้ง คือ
    • พระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2481
    • พระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2483
    • พระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2489
    • พระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2494
  7. พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497  เป็นฉบับที่ยังคงใช้กันอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีการปรับปรุงแก้ไขไปแล้ว 4 ครั้ง คือ
    • พระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2498
    • พระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507
    • ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 226 ลง 15 ต.ค.2515
    • ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 300 ลง 13 ธ.ค. 2515

มาตรา 69 บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศรับราชการทหาร เสียภาษีอากร ช่วยเหลือราชการรับการ
ศึกษาอบรม พิพิทักษ์ปกป้องและสืบสานศิลปะวัฒนธรรมของชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น และอนุรักษ์
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

และนอกจากนี้ ยังถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญอีกด้วยว่า ชายไทยจะต้องมีหน้าที่เข้ารับราชการทหาร ซึ่งเกณฑ์ในปัจจุบันนั้นคือ ชายที่มีสัญชาติไทยและอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ มีหน้าที่ต้องเข้ารับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน เพื่อได้รับการฝึกฝนให้ปกป้องรักษาประเทศชาติเมื่อถึงคราวที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤต

ข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 

**ขั้นตอนการเกณฑ์ทหาร และวิธีการผ่อนผัน ให้ชายไทยเข้าใจในหน้าที่
**‘เสรีพิศุทธ์’ ลั่น!! ได้เป็นนายกฯวันไหน สั่งเลิกเกณฑ์ทหารทันที

ในปี 2562 กองทัพบก ได้ประกาศกำหนดการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการตั้งแต่วันที่ 1-12 เมษายน 2562 (เว้นวันที่ 6 เมษายน 2562 วันจักรี)  ซึ่งในปีนี้น่าสังเกตว่า กองทัพไม่มีการชี้แจงจำนวนทหารเกณฑ์ที่ต้องการ

แม้ว่าจะไม่มีตัวเลขจำนวนทหารเกณฑ์ที่ต้องการของปี 2562 นี้ แต่หากเราย้อนกลับในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาจะสังเกตเห็นว่า แนวโน้มการร้องขอสมัครเป็นทหารเลยนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มีจำนวนลดลงบ้างในปี 2561 ที่ผ่านมา

สถิติจำนวนยอดการเกณฑ์ทหารและการสมัครเข้าเป็นทหารย้อนหลัง 10 ปี

จากตัวเลขของการร้องขอเข้ารับราชการทหารเทียบกับตัวเลขของการที่กองทัพต้องการแล้วล่ะก็ จะเห็นได้ว่า ยอดของการสมัครเข้ามานั้น ยังมีน้อยกว่ากันเกือบครึ่ง จึงเป็นที่น่าสนใจมากกว่า นโยบายการลดกำลังพล ของหลายๆ พรรคนั้น จะสามารถทำให้ผู้สมัครที่อยากเป็นทหารจริง ๆ มีเพิ่มขึ้นถึงระดับที่กองทัพต้องการได้ไหม หรือสามารถทดแทนกันในแง่ของประสิทธิภาพได้หรือไม่?

“หนีทหาร”

ทุกปีก็จะมียอดของ ผู้ที่ไม่เข้ารายงานตัว หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า “หนีทหาร” อยู่ตลอด ซึ่งแม้ว่าจะมีโทษ แต่หลายคนก็เลือกเสี่ยงที่จะหนีทหาร เพื่อใช้ชีวิตอยู่นอกค่ายโดยแลกกับการเสียสิทธิ์ทางกฎหมายหลายๆ อย่างไป

การเกณฑ์ทหารเปรียบเสมือนหน้าที่สำคัญของชายไทย ซึ่งพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 กำหนดขั้นตอนเกี่ยวกับการรับราชการทหารไว้ตั้งแต่การลงบัญชีทหารกองเกิน การรับหมายเรียก การตรวจเลือกคนเข้ากองประจำการ การเรียกพล การระดมพล และการปลด ทั้งนี้หากผู้ใดไม่มาตามกำหนดจะถือว่าเป็นการ “หนีทหาร” และมีความผิดดังนี้

  • มาตรา 44 ไม่ไปลงบัญชีทหาร/ไม่ไปรับหมายเรียก จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 300 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • มาตรา 45 ถ้าฝ่าฝืนไม่ไปรับการตรวจเลือก (ไม่ไปรับการคัดเลือกทหาร) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
  • กรณีมาตรา 45 หากศาลตัดสินว่ามีความผิด เมื่อเข้าเกณฑ์จะถูกให้เป็นทหารโดยไม่มีสิทธิ์จับฉลาก

เกณฑ์ทหารแล้วได้อะไร?

ทางฝากฝั่งผู้ที่ได้รับการผ่านการเกณฑ์ทหาร ครอบครัวทหาร หรือผู้ที่เห็นด้วยกับการเกณฑ์ทหารนั้น ต่างก็ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเรื่องเข้ากองประจำการแต่ละสถานที่ จะต้องได้รับการฝึกฝนอย่างหนักหน่วงในหลายด้าน ทั้งการฝึกให้มีระเบียบวินัย ฝึกให้เป็นผู้ที่มีความเสียสละ มีความอดทน มีความกล้าหาญ และรู้รักสามัคคี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นพื้นฐานที่ทุกคนจะสามารถนำไปดำรงชีวิตให้อยู่ในสถานการณ์วิกฤติได้อย่างปลอดภัย มีชีวิตที่มีระเบียบวินัยมากขึ้น รู้จักการเสียสละมากขึ้น

โดยเพจ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองทัพบก Army PR Center เคยระบุถึงข้อดีของการเป็นทหารเกณฑ์ไว้หลายข้อด้วยกัน ได้ทำหน้าที่ลูกผู้ชายรับใช้ชาติ, ได้มีโอกาสเป็นนักเรียนนายสิบ, ได้ความแข็งแรง, ได้ศึกษาเพิ่ม (กศน.), ได้ความอดทน, ได้เป็นผู้เสียสละ, ได้รับเงินเดือน, ได้เพื่อนฝูง และได้อบรมวิชาชีพ

อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่เอ่ยถึงคงไม่ได้ นั่งคือ เงินเดือน-เบี้ยเลี้ยง ต่างๆ ที่ได้รับ เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่หลายคนเลือก เนื่องจากรายได้จากการรับราชการทหาร แม้ว่าอาจจะไม่ได้เยอะมากมายก็ตาม

ช่วงนี้ ยังไม่มีงานทำ เพราะหางานไม่ได้ ที่บ้านก็มีรายจ่าย แม่ก็เลยเลือกให้มาสมัครเป็นทหาร เพราะอย่างน้อยก็จะได้มีอะไรทำ เป็นรายได้ช่วยเหลือที่บ้านได้บ้าง ดีกว่าอยู่บ้านเฉยๆ 

– ผู้สมัครทหารรายหนึ่งให้ข้อมูล

หากลองเช็ค อัตราเงินเดือนทหารเกณฑ์จะถูกแบ่งออกเป็น  ทหารกองประจำการในปีแรก ซึ่งถือว่ายังเป็นทหารใหม่ อยู่ในระหว่างฝึกฝนอยู่ จึงจะยังอยู่ในเกณฑ์ของฐานเงินเดือนที่ต่ำกว่า เมื่อประจำการในปีที่ 2

ทั้งนี้นอกจากเงินเดือนแล้วยังมีเบี้ยเลี้ยงที่ทางราชการจ่ายให้ทหารกองประจำการเพื่อเป็นค่าอาหารและใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นในการดำรงชีพประจำวัน ดังนี้

  1. เบี้ยเลี้ยงประจำ คือ การปฏิบัติงานอยู่ในที่ตั้งปกติ จะได้รับในอัตราวันละ 96 บาท
  2. กรณีเดินทางไปราชการนอกที่ตั้งปกติ จะได้รับในอัตราวันละ 120 บาท
  3. กรณีไปปฏิบัติราชการเพื่อป้องกันและปราบปรามนอกที่ตั้งปกติหรือไปปฏิบัติราชการพิเศษเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ จะได้รับในอัตราวันละ 240 บาท

โดยเมื่อรวมเงินเดือนทหารกองประจำการ กับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวจะตกเป็นเงิน 10,000 บาทต่อเดือน  ซึ่งก็ถือได้ว่า เป็นรายได้ที่เพียงพอในระดับหนึ่งทำให้หลายคนเลือกที่จะสมัครเข้าเป็นทหารแทนนั่นเอง แต่อีกหลายคนก็ยืนยันว่า รายได้ดังกล่าวน้อยกว่ารายได้ที่ตนหาได้ หากไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหารอย่างมาก แม้ว่าจะมีการหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ไป แต่ก็ยังคงมีเหลือ เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นนอกเหนือไปจากเรื่องของใช้ส่วนตัว และอาหาร

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ก็ยังคงมีเสียงระแคะระคายออกจากค่ายทหารหลายแห่งว่า มีปัญหาในเรื่องของการหักเบี้ยเลี้ยง สวัสดิการต่างๆ แม้ว่ากองทัพเองก็พยายามแก้ไขปัญหาเหล่านั้นมาโดยตลอดก็ตาม

ปัญหาทหารเกณฑ์ถูกซ่อม/เสียชีวิต 

แน่นอนว่าจากกระแสข่าวในช่วงตลอดเวลาที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าการเกณฑ์ทหารในประเทศไทยยังเกิดกรณีดราม่ามาอย่างต่อเนื่อง ถึงการที่นายทหารระดับสูงแสดงอำนาจไม่เป็นธรรม โดยมีการนำพลทหารใหม่ไปรับใช้ส่วนตัว เช่น เป็นคนขับรถ ทำสวน เป็นต้น

อีกทั้งยังเกิดกรณีที่มีคนบางส่วนบอกว่าการเกณฑ์ทหารเป็นการตัดสิทธิ์ความก้าวหน้าในการงาน รวมถึงกรณีทหารเกณฑ์ “ถูกซ่อม” โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาจะมีการนำเสนอข่าวทหารเกณฑ์เสียชีวิตภายในค่ายหลังถูกลงโทษทางวินัยอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างคดีทหารเสียชีวิตในค่าย

  • พลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม อายุ 22 ปี
    ทหารเกณฑ์ เสียชีวิตวันที่ 1 เม.ย. 2560 ถูกสั่งขังคุกทหารเพราะไม่เข้าเวรตามที่ได้รับมอบหมาย ผลการสืบสวนระบุว่า พลทหารยุทธกินันท์ถูกซ้อมและถูกทรมาน
  • ส.ท.ปัญญา เงินเหรียญ อายุ 23 ปี
    กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 19 เสียชีวิตวันที่ 22 มิ.ย.2559 เหตุทหารยศร้อยเอกทำโทษจนหมดสติเพราะเป็นลมแดด
  • พลทหารทรงธรรม หมุดหมัด อายุ 23 ปี
    ทหารเกณฑ์ เสียชีวิตวันที่ 4 เม.ย.2559 ถูกซ้อมทรมานและทำโทษ พร้อมกับพวกรวม 5 คน จากเหตุชกต่อยกับเพื่อนในค่าย
  • ส.ท.กิตติกร สุธีพันธุ์ อายุ 25 ปี
    ทหารค่ายวีรวัฒน์โยธิน มณฑลทหารบกที่ 25 เสียชีวิตวันที่ 21 ก.พ.2559 ถูกรุมทำร้ายร่างกาย
  • ร.ต.สนาน ทองดีนอก อายุ 30 ปี
    กองพันทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ เสียชีวิตวันที่ 6 มิ.ย.2558 ถูกบังคับให้ว่ายน้ำไปกลับหลายสิบรอบ จนจมลงก้นสระ 
  • พลทหารวิเชียร เผือกสม อายุ 25 ปี
    ทหารเกณฑ์กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสียชีวิตวันที่ 5 มิ.ย.2554 ถูกร่วมกันทำร้ายร่างกาย

* ที่มาจาก สำนักข่าว ThaiPBS : ย้อน 6 คดีทหารเสียชีวิตยังไร้คำตอบ

เลือกตั้ง62 ปีแห่งข้อเสนอยกเลิกเกณฑ์ทหาร

ซึ่งจากเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้มีกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยจากหลายฝ่ายออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการเกณฑ์ทหาร หนึ่งในคนที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องคือ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ซึ่งได้เขียนหนังสือออกมาชื่อ ‘ประเทศไทยเปลี่ยน การเกณฑ์ทหารต้องเปลี่ยน’ โดยใน แถลงการณ์ปฏิเสธเกณฑ์ทหาร เนติวิทย์ระบุตอนหนึ่งว่า

การเกณฑ์ทหารเป็นเรื่องที่ล้าสมัย หลายประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารไปแล้ว หรือมีการเปลี่ยนแปลงระบบการเกณฑ์ทหารเป็นระบบสมัครใจ พวกเขาได้เรียนรู้ว่าความเต็มใจที่จะเป็นทหารนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่าการบังคับ อนึ่งพึงตราว่า ระบบทหารเป็นการปลูกฝังความรุนแรงและให้ปฏิบัติตามผู้นำโดยปราศจากความคิดของตัวเอง ระบบนี้เปรียบประหนึ่งดังสัญลักษณ์ของความรุนแรงที่ไม่มีเหตุผลและต่อต้านความเป็นประชาธิปไตย”

เนติวิทย์ ในวันที่ไปขอยื่นผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร

คนรุ่นใหม่อีกคนที่เสนอให้เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารให้เป็นระบบสมัครใจ คือ ไอติม – พริษฐ์ วัชรสินธุ ซึ่งบอกว่า เรื่องนี้คำถามที่สำคัญคือ เราจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร? โดยต้องดูถึงรายละเอียด เช่น กองทัพจะต้องมีกำลังทหารเพียงพอสำหรับปฏิบัติหน้าที่หลักในการป้องกันประเทศ และเรื่องนี้ต้องไม่กลายเป็นประเด็นทางการเมือง หรือ ถูกมองว่าเป็นการต่อสู้กับกองทัพ

“ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดก็ตาม จะประสบความสำเร็จได้ดีที่สุด ถ้าเราได้รับความร่วมมือจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หน้าที่ของฝ่ายการเมือง จึงจำเป็นต้องทำให้กองทัพ (ในฐานะองค์กรที่มีส่วนได้เสีย) ให้การยอมรับข้อเสนอนี้ เพื่อจะปรับตัวไปพร้อมกัน”

– ไอติม – พริษฐ์ วัชรสินธุ

ขณะที่ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ก็มีหลายพรรคการเมืองหยิบยกประเด็นการปฏิรูปกองทัพมาเป็นนโยบายในการหาเสียง โดยการชูนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ด้วย เช่น

  • พรรคเพื่อไทย มีนโยบายชัดเจนว่าให้ดูเรื่องการสมัครใจเข้ารับราชการ เปิดโอกาสให้คนที่สมัครใจได้เรียนต่อถึงระดับ ปวช. หรือ ปวส.
  • พรรคอนาคตใหม่ ชูนโบายยกเว้นเวลาเกิดศึกสงคราม ปรับลดกำลังพลประจำการลงครึ่งหนึ่ง ให้เหลือเพียง 1.7 แสนนาย ลดจำนวนนายพลจากปัจจุบัน 1,600 คน ให้เหลือเพียง 400 คน
  • พรรคเสรีรวมไทย นโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ซึ่งมองว่าไม่มีความจำเป็นเพราะสิ้นเปลื้องงบประมาณ แต่จะให้คนที่สมัครใจเท่านั้นไปเป็นพลทหาร

ดังนั้นอาจจะเรียกได้ว่า ในช่วงที่ผ่านมาของการเลือกตั้ง หลายพรรคการเมือง เลือกใช้นโยบายการยกเลิกการเกณฑ์ทหารมาเป็นนโยบายเด่น เอาใช้กลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งถือว่า เป็นนโยบายที่แลดูถูกอกถูกใจคนรุ่นใหม่อยู่ไม่น้อย แต่ในการปฏิบัติจริงนั้น ต้องย้อนกลับไปดูตัวเลขของการร้องขอฯ สมัครเข้าเป็นทหารเกณฑ์ ยังไม่มากเพียบพอต่อความต้องการของกองทัพ รวมถึงปัญหาต่างๆ ดังนั้น การปรับลดตามนโยบายต่างๆ เหล่านี้ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนแปลงกันได้เพียงแค่ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลเท่านั้น

สงครามไม่มีแล้วจะเกณฑ์ทหารทำไม?

เมื่อย้อนกลับไปในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ทหารถือว่ามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการปกป้องดูแลรักษาประเทศชาติให้อยู่ในความสงบปลอดภัย ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีข้อถกเถียงกันหลากหลายเหตุผลถึงความจำเป็นในการเกณฑ์ทหาร ทั้งมองว่าเป็นรากฐานของลัทธิชาตินิยมสุดโต่ง เป็นระบบที่รัฐมองคนเป็นทาส และเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรของสังคมอย่างเปล่าประโยชน์ เพราะต้องเกณฑ์คนมาฝึกทหารทุกปีทั้งที่ไม่ได้ทำสงครามกับใคร กระทรวงกลาโหมได้ออกมากล่าวถึงประเด็นยกเลิกการเกณฑ์ทหาร โดยให้เหตุผลว่า หากมีการยกเลิกจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางทหารของประเทศ

 

ปัจจุบันทหารเกณฑ์ถือเป็นกำลังหลักของกองทัพบก เรือ และ อากาศ ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันเอกราชและดูแลอาณาเขตของประเทศ แม้ปัจจุบันจะไม่มีสงครามแล้วก็ตามแต่ทหารก็ยังมีหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนยามเกิดภัยพิบัติ แก้ปัญหายาเสพติด รวมถึงการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ ได้

รวมถึงพรรคการเมืองที่มีนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย ได้รับเลือกเข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ทางกองทัพก็ยินดีจะมีการปรับขนาดของกองทัพให้เป็นไปตามนโยบาย แต่ทหารเกณฑ์ถือว่ามีความจำเป็นอย่างมากต่อกองทัพ เพราะการยกเลิกเกณฑ์ทหารจะทำให้กองทัพเสียสมดุล

ตัวอย่างประเทศที่ไม่มีการเกณฑ์ทหาร

ประเทศที่ไม่มีการเกณฑ์ทหาร หรือได้ยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหารไปแล้วส่วนใหญ่จะใช้การรับสมัครคนมาเป็นทหารประจำการ และในบางประเทศจะมีกฎหมายอนุญาตให้รัฐเกณฑ์ทหารได้เมื่ออยู่ในภาวะสงคราม โดยไม่ต้องเรียกผู้ชายทุกคนมาฝึกทหารทุกปี

  • สหรัฐอเมริกา ไม่มีการเกณฑ์ทหาร ใช้ความสมัครใจ
  • อังกฤษ ไม่มีการเกณฑ์ทหาร ใช้ความสมัครใจ
  • อาร์เจนตินา ไม่มีการเกณฑ์ทหาร ใช้ระบบสมัครใจ แต่อาจมีการสั่งเกณฑ์ทหารได้ด้วยเหตุผลจำเพาะ
  • ฝรั่งเศส ยกเลิกการเกณฑ์ทหารในปี ค.ศ. 2001
  • เยอรมนี ไม่มีการเกณฑ์ทหาร (ระงับสำหรับยามสงบใน ค.ศ. 2001)
  • เบลเยียม ยุติการเกณฑ์ทหารตั้งแต่ ค.ศ. 1994
  • สเปน ไม่มีการเกณฑ์ทหาร

บทสรุปที่ยังไม่มีคำตอบ

แม้ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาจะมีเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่ก็จะมีเสียงจากฝากฝั่งกองทัพถึงความจำเป็นต่างๆ ขึ้นมาด้วยกันเสมอ ทำให้คำถามที่ว่า “เมื่อไหร่ ประเทศไทยจะยกเลิกการเกณฑ์ทหาร” ดูจะยังไม่มีคำตอบให้ระยะเวลาอันใกล้นี้ ว่าทิศทางของการยกเลิกการเกณฑ์ทหารในบ้านเราจะจบลงตรงไหน เมื่อไหร่ ตราบใดที่ยังคงมีแนวทางที่ยังเป็นข้อสงสัย-ถกเถียงกันเช่นนี้ ไม่ต่างจากคำถามเช่นเดียวกับ ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน ที่สุดท้ายแม้ว่าจะได้คำตอบไปแล้ว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปลดล็อกสิ่งเหล่านี้ออกจากสังคมไทย ตราบใดที่…

ปัญหาเรื่องสวัสดิการทหารเกณฑ์, เงินเดือน-เบี้ยเลี้ยง ยังคงไม่ชัดเจน, ปัญหาการถูกซ่อม-เสียชีวิตระหว่างการฝึกจนกลายเป็นข้อครหา เรื่องต่างๆ เหล่านี้คงต้องมีคำตอบ-ทางแก้ไขที่ชัดเจน มากพอๆ กับความชัดเจนที่ว่า จะเพิ่มประสิทธิภาพทหารเกณฑ์ เพิ่มจำนวนผู้สมัครทหาร หรือพัฒนา “ทหารมืออาชีพ” ได้อย่างไร ควบคู่กันไปด้วย

ดังนั้น ภาพการจับใบดำ-ใบแดง จึงน่าจะยังคงเป็นภาพที่คนไทยยังคงต้องได้พบเห็นไปอีกหลายปีต่อจากนี้อย่างแน่นอน จนกว่า เราจะปลดล็อกปัญหาต่างๆ ได้นั่นเอง

…………………

ที่มา –