ค่ายมือถือ ชำระเงินค่าประมูล ดีแทค ทรู ม.44 เอไอเอส

ประธาน ‘ทีดีอาร์ไอ’ ฉะ ม.44 ยืดหนี้ 3 ค่ายมือถือ เท่ากับ เอื้อประโยชน์หมื่นล้านให้นายทุน

จากกรณีที่นายกรัฐมนตรีออกคำสั่ง ม.44 ช่วยเหลือ 3 ค่ายมือถือ คือ เอไอเอส ดีแทค และทรู ยืดจ่ายค่าคลื่น 900 จากเดิมแบ่งจ่าย 4 งวด เป็นแบ่งจ่าย…

Home / NEWS / ประธาน ‘ทีดีอาร์ไอ’ ฉะ ม.44 ยืดหนี้ 3 ค่ายมือถือ เท่ากับ เอื้อประโยชน์หมื่นล้านให้นายทุน

จากกรณีที่นายกรัฐมนตรีออกคำสั่ง ม.44 ช่วยเหลือ 3 ค่ายมือถือ คือ เอไอเอส ดีแทค และทรู ยืดจ่ายค่าคลื่น 900 จากเดิมแบ่งจ่าย 4 งวด เป็นแบ่งจ่าย 10 งวด หรือจากเดิมต้องจ่ายหมดในปี 2562 เป็นเอไอเอส และทรู จ่ายงวดสุดท้ายปี 2568 ขณะที่ดีแทค ซึ่งประมูลหลังสุด จ่ายงวดสุดท้ายปี 2570 เพื่อให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมมีเงินทุนมาประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ และขยายโครงข่ายรองรับ 5 จีในอนาคตนั้น

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ได้โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว (11 เม.ย.) แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า มาตรการดังกล่าวถือว่ารัฐบาลขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่ง ทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง โดยมีข้อความดังนี้

“ยืดหนี้มือถือ = ยกผลประโยชน์หมื่นล้านให้นายทุน

วันสองวันนี้มีข่าวลือว่า จะมีการออกคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 เพื่อยืดหนี้ให้กับบริษัทโทรศัพท์มือถือ 3 รายคือ เอไอเอส ทรู และดีแทค ในเร็วๆ นี้ ซึ่งทำให้หุ้นของบริษัททั้งสามเด้งสูงขึ้นมาทันที

การที่หุ้นเด้งสูงขึ้นรับข่าวลือดังกล่าวชี้ชัดเจนอย่างไม่มีข้อสังสัยว่า ผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสามจะได้ประโยชน์หากมีมาตรการยืดหนี้ออกมาจริง ซึ่งตรงกันข้ามกับความพยายามก่อนหน้านี้ของคนในภาครัฐที่บอกว่า มาตรการนี้ไม่ได้เอื้อผลประโยชน์ให้นายทุน

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์บางรายบอกว่า ทรูจะได้ประโยชน์มากที่สุด ในขณะที่ดีแทคจะได้ผลประโยชน์น้อยที่สุด เพราะหนี้งวดสุดท้ายที่จะถูกยืดออกไปมีมูลค่าน้อยที่สุด

การคำนวณของผมพบว่า ที่จริงแล้ว ทั้งสามบริษัทจะได้ผลประโยชน์ใกล้เคียงกัน แม้ว่าหนี้ก้อนสุดท้ายที่จะยืดออกไปจะใหญ่ไม่เท่ากัน แต่การปรับระยะเวลาในการยืดหนี้ที่แตกต่างกันก็ทำให้สุดท้ายได้ตัวเลขเท่าๆ กันคือ แต่ละรายได้ผลประโยชน์ไปประมาณ 8 พันล้านบาท ใกล้เคียงกันอย่างน่ามหัศจรรย์ เสมือนมีการหารือกันมาก่อนเพื่อไม่ให้ได้เปรียบเสียเปรียบกัน

แม้ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายอาจไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกันและต่างก็ได้หมด ผู้ที่จะเสียเปรียบจากมาตรการดังกล่าวคือ ประชาชนผู้เสียภาษี เพราะการที่รัฐยืดหนี้ให้ทั้งสามรายคือ การยกผลประโยชน์ของประชาชน 2.4 หมื่นล้านบาท ให้กับนายทุนโทรคมนาคม

ข้ออ้างเรื่องการยืดหนี้อุ้มผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย เพื่อแลกเปลี่ยนกับการเข้าประมูลคลื่น 5G ก็เป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น ด้วยหลายเหตุผลคือ หนึ่ง ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมและความจำเป็นต้องประมูลคลื่น 5G ในปีนี้ สอง ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย ไม่มีใครสัญญาว่าจะเข้าประมูล 5G เลย โดยต่างพูดตรงว่า ต้องดูเงื่อนไขการประมูลและราคาเริ่มต้นก่อน

ข้ออ้างในการยืดหนี้เพื่อให้เอกชนเข้าประมูล 5G จึงไม่ใช่ “หมูไปไก่มา” แต่ “เสียหมูไปฝ่ายเดียว” เสมือนเป็น “ค่า (แกล้ง) โง่”

หากมีการใช้มาตรการดังกล่าวจริง ก็ต้องถือว่า รัฐบาลประยุทธ์ขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่ง ทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง ในทางกฎหมาย การใช้คำสั่งตามมาตรา 44 จะทำให้คสช. และรัฐบาลพ้นความรับผิดทางกฎหมาย ประชาชนไม่สามารถไปฟ้องร้องต่อศาลได้ ส่วนในทางการเมือง การดำเนินการในช่วงหลังเลือกตั้งทำให้ไม่ถูกคู่แข่งโจมตีในการเลือกตั้งว่า เอื้อประโยชน์ให้นายทุน และการดำเนินการในช่วงก่อนสงกรานต์ ก็ถือเป็นการใช้จังหวะที่ประชาชนติดตามข่าวสารกันน้อยเพราะเป็นวันหยุดยาว

หากรัฐบาลและ คสช. ซึ่งมาจากการยึดอำนาจและกล่าวหารัฐบาลก่อนหน้านี้ว่าทุจริตคอรัปชั่น ต้องออกคำสั่งใช้มาตรการพิเศษ เพื่อทำเรื่องที่ไม่จำเป็น สร้างความเสียหายต่อประชาชน และทำลายความน่าเชื่อถือในการทำสัญญากับภาครัฐ เพียงเพื่อเอื้อนายทุน เราคงอดคิดไม่ได้ว่า แม้คสช. จะประกาศตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แต่รัฏฐาธิปัตย์แท้จริงที่เหนือกว่า คสช. ก็คือกลุ่มทุนบางกลุ่มนั่นเอง”

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10219224531226525&set=a.1847179781672&type=3&theater