ปภ. รายงานเกิดวาตภัยใน 16 จังหวัด เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง ขอความช่วยเหลือได้ทางสาย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2562 ถึงปัจจุบัน ทำให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง 16 จังหวัด
ได้แก่ ขอนแก่น แพร่ มหาสารคาม พิษณุโลก ปทุมธานี ลำปาง เลย ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สกลนคร นครพนม เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี ลพบุรี และนครราชสีมา รวม 34 อำเภอ 72 ตำบล 143 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 1,515 หลัง ผู้บาดเจ็บ 9 ราย
ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัดหน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น โดยแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค กระเบื้องมุงหลังคา และวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือนแก่ผู้ประสบภัย รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหาย
เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ทั้งการชดเชยความเสียหายของบ้านเรือนเป็นวัสดุก่อสร้าง หรือจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสม อีกทั้งจ่ายเงินสงเคราะห์ค่าจัดการศพตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนดแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ ขอฝากเตือนประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด
พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนและคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบังเพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
ข้อควรรู้ : ความรุนแรงและอันตรายจากพายุฤดูร้อน
พายุฤดูร้อนเป็นพายุที่เกิดขึ้นโดยเหตุและวิธีการต่างกับพายุดีเปรสชั่น และเกิดบนผืนแผ่นดินที่ร้อนอบอ้าวในฤดูร้อนแต่เป็นพายุที่มีบริเวณย่อมๆ มีอาณาเขตเพียง 20-30 ตารางกิโลเมตร แต่อาจมีลมแรงมากถึง 47 น็อต หรือ 87 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้มีกำลังแรงที่จะทำให้เกิดความเสียหายได้มากเหมือนกันแต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 2-3 ชั่วโมง
อันตรายที่เกิดขึ้นคือ ต้นไม้หักล้มทับบ้านเรือนผู้คน บ้านเรือนที่ทนกำลังแรงลมไม่ไหวพังทะลายกระเบื้องหลังคาปลิวเป็นอันตรายต่อผู้คน ฝนตกหนักและอาจมีลูกเห็บตกได้ ในกรณีที่พายุมีกำลังแรงลูกเห็บอาจจะตกถูกผู้คนได้รับความบาดเจ็บและบ้านช่องเสียหายได้
วิธีการรับมือ
กรณีอยู่ในอาคาร
- ไม่อยู่บริเวณดาดฟ้าหรือระเบียง เพราะเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า
- ปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อป้องกันอันตรายจากพายุลมแรง
- งดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยป้องกันการถูกฟ้าฝ่า
กรณีอยู่กลางแจ้ง
- อยู่ให้ห่างจากสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันการถูกล้มทับ
- ไม่อยู่ใกล้วัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เพราะเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า
- ไม่พกพาและสวมใส่เครื่องประดับที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า จะช่วยป้องกันการถูกฟ้าผ่า
- งดใช้เครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ลดเสี่ยงการถูกฟ้าผ่า