บขส.เตรียมพร้อมรองรับคนเดินทางกลับ คาดวันนี้มีผู้โดยสารมาใช้บริการสถานีขนส่ง กว่าวันละ 2 แสน 2 หมื่นคน ขณะที่ ศปถ.เผยยอดผู้เสียชีวิต 3 วันช่วงเทศกาลสงกรานต์ 174 คน
วันนี้(15 เม.ย.) นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. เปิดเผยว่าได้เตรียมพร้อมรองรับการเดินทางกลับ เข้ากรุงเทพมหานคร ของประชาชน ตั้งแต่วันที่ 15-17 เมษายน คาดจะมีผู้เดินทางมากกว่า 2 แสน 2 หมื่นคน ส่วนที่อาจจะเป็นปัญหานั้น เกรงว่า รถแท็กซี่อาจมีไม่เพียงพอต่อการให้บริการ จึงได้ร่วมมือกับ ขสมก. ให้จัดรถชัทเทิลบัส รองรับประชาชนจากที่สถานีขนส่งไปส่งที่บีทีเอส อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ซึ่งจะสามารถระบายผู้โดยสารได้ถึงร้อยละ 70 นอกจากนี้ยังจัดรถในเส้นทางบางนา สำโรง พระราม 2 มหาชัย และศรีนครินทร์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
สำหรับปัญหาการขายตั๋วเกินที่นั่ง หรือเรื่องการขายตั๋วเกินราคา ยังไม่ได้การร้องเรียนเข้ามา และยืนยันว่า บขส.มีมาตรการที่ดูแลเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะปีนี้ได้ให้รถเสริมเข้ามาจอดในสถานีขนส่ง เพื่อป้องกันการพาผู้โดยสารออกไปขึ้นรถที่ด้านนอก ขณะที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 13 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่ 3 ของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 700 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 67 ราย ผู้บาดเจ็บ 733 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับร้อยละ 42.71 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.08 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สกลนคร (28 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ บุรีรัมย์ น่าน และอุดรธานี (4 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สกลนคร (33 คน)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 3 วัน (วันที่ 11-13 เม.ย. 62) เกิดอุบัติเหตุ 1,665 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 174 ราย ผู้บาดเจ็บ 1,728 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 17 จังหวัดจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (69 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (10 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (69 คน)
ด้านนายปวิณ ชำนิประศาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มงานภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในช่วง 3 วันที่ผ่านมา พบว่าผู้เสียชีวิตกว่าร้อยละ 54.60 เป็นคนในพื้นที่ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ขับขี่ร้อยละ 63.79 ผู้โดยสารร้อยละ 25.86 โดยสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตเกิดจากการขับรถเร็ว ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุสูงถึงร้อยละ 49.43 กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งการเน้นย้ำให้หน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่เข้มข้นการปฏิบัติงานของด่านชุมชน และจุดสกัดในพื้นที่ชุมชน/หมู่บ้าน โดยเฉพาะจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เน้นกวดขันผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็วและดื่มแล้วขับเป็นพิเศษ