จากข้อมูลศึกษาการละลายของน้ำแข็งทั่วโลกที่ถูกเผยแพร่ในนิตยสาร “เนเจอร์” เมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา พบว่า การละลายของน้ำแข็งทั่วโลกจากภาวะโลกร้อน เกิดขึ้นรวดเร็วกว่าสมัยเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1960 ถึง 5 เท่า
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ธารน้ำแข็งทั่วโลกที่ถูกพบในดินแดนต่างๆ รวมถึงปริมาณหิมะที่ตกลงมา เกิดการละลายไปมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คำนวณไว้เมื่อปี 2556 ถึงร้อยละ 18 ในแต่ละปีมีน้ำแข็งละลายราว 369,000 ล้านตัน หรือมากกว่าพื้นที่ครึ่งหนึ่งของภูมิภาคอเมริกาเหนือ
ธารน้ำแข็งที่ละลายอย่างรวดเร็วต่างอยู่ในยุโรปตอนกลาง เทือกเขาคอเคซัส ทางตะวันตกของแคนาดา รัฐทางตอนใต้ 48 แห่งของสหรัฐฯ นิวซีแลนด์ และในภูมิภาคเขตร้อนแห่งต่างๆ โดยมีรายงานว่าน้ำแข็งที่ละลายมีปริมาณมากกว่าที่มันก่อตัวขึ้นในแต่ละปีราวร้อยละ 1
โดยจากข้อมูลที่ตรวจสอบทั้งทางภาคพื้นดินและใช้ดาวเทียมตรวจสอบธารน้ำแข็ง 19,000 แห่ง พบว่า มีการละลายมากกว่าที่เคยศึกษาในอดีตถึง 38 เท่า ซึ่งมีแค่ในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเอเชียเท่านั้น ที่ธารน้ำแข็งยังไม่ละลาย ในทุกๆ 4 เดือน หิมะและน้ำแข็งทั่วโลกละลายเทียบเท่ากับปริมาณหิมะที่อยู่บนเทือกเขาแอลป์ ในยุโรป
นอกจากนี้ นายไมเคิล เซมป์ นักเขียนข้อมูลประจำนิตยสาร “เนเจอร์” และผู้อำนวยการด้านสังเกตการณ์ธารน้ำแข็งโลก จากมหาวิทยาลัยซูริก ของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า แม้โลกเราจะยุติการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอากาศ ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้แล้ว แต่การละลายของธารน้ำแข็งจะไม่ยุติในทันที แต่อาจจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปอีกราว 10 20 หรือ 30 ปี ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น