กรมสุขภาพจิต แนะสำรวจอารมณ์ตนเองในช่วงหลังวันหยุดยาว และการดูแลจิตใจตัวเองด้วย 5 วิธีปฏิบัติ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะหดหู่หลังหยุดยาว
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า หลังจากที่ทุกคนได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ในช่วงหยุดยาวที่ผ่านมา หลายคนคงได้ฟื้นฟูกำลังกายและกำลังใจของตนเองกลับมาจนพร้อมสำหรับการทำงานในช่วงเวลาต่อจากนี้ แต่หลายคนอาจจะยังมีความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ และรู้สึกว่ามีความเครียด เมื่อคิดถึงเรื่องการเรียนและการทำงานที่รออยู่ตรงหน้า จนเกิดอาการที่เรียกว่า ภาวะหดหู่หลังหยุดยาว (Post-holiday blues) ซึ่งเกิดได้จากการกลับมาสู่ภารกิจหรือกิจวัตรประจำวันแบบเดิมหลังจากการหยุดยาว
หากมีภาวะหดหู่หลังหยุดยาวนี้ จะมีความรู้สึกเหนื่อยแม้ได้พักผ่อนมาอย่างต่อเนื่องแล้ว รู้สึกเครียด วิตกกังวล เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ไม่อยากกลับไปเรียนหรือทำงาน แม้คนส่วนมากจะมีอาการที่ไม่รุนแรงมากนัก และสามารถหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ แต่ก็จะสามารถรบกวนสมรรถภาพของตนเองได้ในช่วงกลับไปสู่ภารกิจเดิม ทำให้ทำหน้าที่ได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพในช่วงแรก ยิ่งหากเป็นการหยุดต่อเนื่องที่ยาวนานแล้ว โอกาสจะเกิดภาวะหดหู่หลังจากหยุดยาวก็จะสูงขึ้นกว่าการหยุดช่วงสั้น
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า เราควรสำรวจอารมณ์ตนเองในช่วงหลังวันหยุดยาวว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่ และดูแลจิตใจตัวเองด้วย 5 วิธีการ ดังนี้
1) วางแผนชีวิตล่วงหน้า เพื่อลดความสับสนและความกังวลใจถึงภารกิจที่ต้องทำหลังจากกลับมารับผิดชอบต่อจนสิ้นปี
2) บันทึกสิ่งที่อยากเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ชีวิตมีเป้าหมายมากขึ้น อาจปรับจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ในช่วงปีใหม่ก็ได้เช่นกัน
3) พูดคุยกับคนรอบข้าง ถึงความสุขที่ผ่านมาในช่วงวันหยุดหรือความกังวลใจที่จะต้องกลับมาทำงาน
4) ไม่เทียบตัวเองกับคนอื่น เพราะแต่ละคนมีกิจกรรมและความชอบที่แตกต่างกัน ความสุขจึงเป็นสิ่งที่นำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้
5) หาความตื่นเต้นใหม่ๆ เสมอ เช่น การเรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยเรียนมาก่อน ทำกิจกรรมที่สนุกและตื่นเต้น หรือวางแผนการเดินทางครั้งถัดไป เพื่อให้ชีวิตมีสีสันและสภาพจิตใจพร้อมรับมือกับทุกปัญหาในอนาคต
ทั้งนี้ ขอให้ทุกท่านเดินทางกลับจากการพักผ่อนอย่างมีสติ เดินทางด้วยความระมัดระวังและปลอดภัย