พ.ร.บ. ป่าไม้ 2562

ทำความเข้าใจ พ.ร.บ. ป่าไม้ ปี 62 ปลูกได้ ตัดได้ แต่ก็ไม่ง่ายอย่างคิด

เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้เพื่อเปิดทางให้ประชาชน – เอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกไม้มีค่าเพื่อทำการค้า…

Home / NEWS / ทำความเข้าใจ พ.ร.บ. ป่าไม้ ปี 62 ปลูกได้ ตัดได้ แต่ก็ไม่ง่ายอย่างคิด

เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้เพื่อเปิดทางให้ประชาชน – เอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกไม้มีค่าเพื่อทำการค้า และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนมากขึ้น

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ป่าไม้ ปี 2562

โดยหลักสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับใหม่ มุ่งหวังให้การทำไม้ การเคลื่อนย้าย หรือการส่งเสริมอุตสาหกรรมและการใช้ประโยชน์จากไม้หวงห้าม ไม้มีค่า สามารถทำได้ง่ายขึ้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาเนิ่นนานในการส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า เนื่องจากพ.ร.บ. ป่าไม้ ฉบับเก่านั้น ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการป้องกัน รักษาไม้มีค่า ที่อยู่ในป่า เป็นหลักจึงเป็นอุปสรรคในการดำเนินการส่งเสริมการปลูก และใช้ประโยชน์จากไม้มีค่า เช่น ไม้สัก ที่เคยมีการส่งเสริมการปลูกมานานหลายสิบปีแล้ว แต่เกษตรกรผู้ปลูก ไม่สามารถตัดมาใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากข้อกฎหมาย

ดังนั้น พ.ร.บ. ป่าไม้ ฉบับใหม่นี้ จึงมีการแก้ไข เพิ่มเติม ในรายละเอียด เพื่อเปิดทางให้การทำไม้ง่ายขึ้น ส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า เพื่อนำมาใช้ประโยชน์มากขึ้น

ทำความเข้าใจ พ.ร.บ. ป่าไม้ ฉบับใหม่ อะไรได้-ไม่ได้?

ในประเด็นของการเปลี่ยนแปลง หลักๆ นั้นเน้นการเปิดโอกาสให้เอกชน ประชาชน สามารถใช้ประโยชน์จากไม้หวงห้ามได้มากขึ้น ประกอบไปด้วย

มาตรา ๗ ไม้ชนิดใดที่ขึ้นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดย
พระราชกฤษฎีกา สำหรับไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม หรือไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ถือว่าไม่เป็นไม้หวงห้าม”

โดยใจความของมาตรา 7 นี้ คือการให้ไม้ทุกชนิด ที่ปลูกในดินที่มีกรรมสิทธิ์ถูกต้องไม้เป็นไม้หวงห้ามอีกต่อไป ประชาชน-เจ้าของสามารถนำมาประโยชน์ได้ แต่ต้องเน้นย้ำคำว่า “ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์” หรือ “สิทธิครอบครอง” หรือ “ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาต”

สรุปให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ไม้มีค่าที่ไม่เป็นไม้หวงห้าม ข้อนี้จะต้องเป็น

  • ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ หมายถึงที่ดินที่มี โฉนดที่ดิน โฉนดตราจอง โฉนดแผนที่  น.ส.3 น.ส.3 ก น.ส. 2 ส.ค.๑ ใบไต่สวนหรือใบนำ ใบเยียบย่ำ ดังนั้นหมายความว่า นาย ก. มีไม้สักที่ขึ้นอยู่ในที่ดินซึ่งเป็น น.ส.3 สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้นั่นเอง เลย
  • ที่ดินที่ได้รับอนุญาต หมายถึงที่ดินประเภทอื่นๆ เช่น ส.ป.ก. ส.ท.ก. ค.ท.ช. ที่ราชพัสดุ นิคมสหกรณ์ ฯลฯ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นที่ดินของรัฐ บางส่วนเป็นพื้นที่ป่าไม้ ประชาชนได้รับอนุญาตเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ดังนั้น ไม้หวงห้ามต่างๆ ที่จะนำมาใช้ประโยชน์นั้น จะต้อง “ปลูกขึ้นเอง” เช่น หากเกษตรกรได้รับอนุญาตให้ทำกินในพื้นที่ราชพัสดุ เมื่อเข้าใช้ประโยชน์แล้ว มีการ “ปลูกไม้สัก” ไว้ใช้งานเอง กรณีนี้ ไม่ถือเป็นไม้หวงห้าม

ดังนั้นประชาชนที่อยู่ในที่ดินที่มิใช่ ที่ดินกรรมสิทธิ์ ยังไม่ควรตัดไม้ต่างๆ เพราะยังคงต้องรอความชัดเจนเพิ่มขึ้น เช่น พื้นที่ ส.ท.ก, ค.ท.ช. ยังคงสถานะเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามพ.รบ. ป่าสงวน และพ.ร.บ. ป่าไม้อยู่ ประชาชนได้รับสิทธิทำกินเพียงเท่านั้น ต้นไม้เดิที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในพื้นที่ ก็ยังคงสถานะเป็นไม้หวงห้าม และการทำไม้จะต้องขออนุญาตเช่นเดิม

ภาพกองไม้สักถูกกฎหมาย จากสวนป่าไทรโยค นำออกมาเปิดประมูล (ภาพจาก สวนป่าไทรโยค องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้)

ทำไม้ในที่ดินตนเองได้ แต่เลื่อยยนต์ยังต้องขออนุญาต

แม้ว่ากฎหมายป่าไม้จะเปิดทางให้ประชาชนสามารถทำไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเองได้ แต่การมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ใช้งาน/เคลื่อนย้าย ยังคงต้องขออนุญาต ตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.๒๕๔๕

โดยเลื่อนยนต์ที่สามารถมีไว้ใช้งานได้โดยไม่ต้องขออนุญาต จะต้องประกอบด้วย –

  1. ครื่องต้นกำลังต้องมีกำลังไม่เกิน 1 แรงม้า
  2. บาร์โซ่ต้องไม่เกิน 12 นิ้ว

หากไม่ใช่ข้อหนึ่งข้อใดใน 2 ข้อนี้ จำเป็นต้องขออนุญาต ดังนั้นไม่ว่า การดัดแปลงเครื่องเจียร หรือลูกหมู นำใส่บาร์โซ่ยาวเกิน 1ฟุต หรือการใช้เครื่องยนต์อื่นๆ เช่น เครื่องตัดหญ้า ที่มีกำลังเกิน 1 แรงม้ามาใส่บาร์โซ่ไม่ถึง 1 ฟุต ก็ต้องขออนุญาตเช่นกัน

ซึ่งในการขออนุญาตในการมีไว้ในครอบครอง, จำหน่าย หรือ ซ่อมแซม ก็ยังจำเป็นจะต้องขอขึ้นทะเบียนทั้งหมด หากมีเลื่อยโซ่ยนต์ ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษทางอาญา คือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และริบเลื่อยโซ่ยนต์

 

 

เลื่อยยนต์ขนาดใหญ่ที่มีใช้งานกัน จำเป็นต้องมีการขึ้นทะเบียนกับนายทะเบียน (ภาพจาก สวนป่า ทองผาภูมิ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้)

นอกจากนั้น เลื่อยโซ่ยนต์ ยังมีข้อกำหนดเรื่องเขตพื้นที่ที่ได้รับอนุญาติ ทำให้การเคลื่อนย้ายเลื่อยโซ่ยนต์ไปยังนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาติจะต้องยื่นขอใบอนุญาตเคลื่อนย้ายอีกด้วย ซึ่งกรณีที่เคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่โดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ ก็จะมีความผิด จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ซึ่งการขอขึ้นทะเบียน-ขอเคลื่อนย้าย จำเป็นต้องทำหนังสือแจ้งถึงนายทะเบียนฯ โดยในปัจจุบันนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด นั่นทำให้การมีไว้ในครอบครอง การผลิต การซ่อม หรือแม้แต่การเคลื่อนย้าย จำเป็นต้องแจ้งต่อนายทะเบียนทั้งหมด ทำให้เกิดความล่าช้า และมีโอกาสที่จะกระทำผิดกฎหมายได้ง่าย ในส่วนนี้ รัฐยังคงต้องดำเนินการต่อไป

ตัดสอยเองได้ แต่ถ้าทำการค้า – ส่งออกต้องมีหนังสือรับรอง

แน่นอนว่า แม้กฎหมายจะปลดล็อก ให้ไม้ที่ขึ้นอยู่ในที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือไม้ที่ปลูกขึ้นดินที่ได้รับอนุญาต ไม่เป็นไม้หวงห้าม สามารถใช้ประโยชน์ได้ แต่หากต้องการทำเพื่อการค้าหรือการส่งออก ยังข้อกำหนดในเรื่องของ การรับรองไม้ ระบุไว้ด้วย

มาตรา ๑๘/๒ ผู้ใดประสงค์จะขอหนังสือรับรองไม้ ผลิตภัณฑ์ไม้ และถ่านไม้ เพื่อการค้าหรือการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และเสียค่าใช้จ่ายในการออกหนังสือรับรองตามที่กรมป่าไม้กำหนด

การขอและการออกหนังสือรับรอง และอัตราค่าใช้จ่ายตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

จากความที่ระบุใน มาตรา 18/2 จะเห็นได้ว่า หากเป็นเพื่อการค้าหรือการส่งออกจำเป็นจะต้องยื่นขอการรับรองไม้ จากกรมป่าไม้ ซึ่งใน พ.ร.บ.ป่าไม้ ปี 2562 นี้ได้เปิดทางให้ มีสถาบัน หรือองค์กร ที่เข้ามาร่วมในกระบวนการตรวจสอบ และรับรองไม้เพิ่มเติมจากเดิมที่เป็นหน้าที่ของกรมป่าไม้เป็นหลัก

แต่ในขณะนี้ ยังคงต้องรอระเบียบการ รายละเอียดต่างๆ ที่จะเปิดให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามามีส่วนรวมในกระบวนการรับรองไม้ ซึ่งทำให้ในระหว่างนี้ หากมีการแปรรูปเพื่อการค้า จำเป็นจะต้องยื่นหนังสือต่อกรมป่าไม้เช่นเดิมนั่นเอง

ไม้สักแปรรูปที่ถูกกฎหมาย ของออป. (ภาพจาก ส่วนอุตสาหกรรมไม้อยุธยา องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้)

นอกจากนี้ ในส่วนของการส่งออกไม้นั้น ยังมีข้อกฎหมาย ข้อกำหนดต่างๆ ที่ยังไม่เปิดช่องให้ภาคเอกชนสามารถส่งออกได้ โดยในปัจจุบันมีเพียงองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือ ออป. เป็นเพียงรายเดียวที่ส่งออกไม้สักไปยังต่างประเทศได้ และแม้ว่าจะส่งออกได้ ภาษีที่จัดเก็บนั้นอยู่ในอัตราที่สูงมาก ยังไม่เอื้ออำนวยให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมลงทุนได้นั่นเอง

การแปรรูปไม้ – เคลื่อนย้ายไม้

สำหรับการแปรรูปไม้เพื่อใช้สอยหรือการทำไม้ภายในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ นั้นสามารถกระทำได้เลย โดยไม่ต้องข้ออนุญาต แต่การแปรรูปไม้ที่มีปริมาณมาก จำนวนมากนั้น ยังคงเข้าข่าย ตาม พ.ร.บ. โรงงาน ซึ่งต้องขออนุญาตอยู่เช่นเดิม โดยในเรื่องนี้ คงต้องรอความชัดเจนจากกฎหมายลูกต่างๆ ที่จะตามมาจากภาครัฐ ที่จะผ่อนผัน ยืดหยุ่นให้การดำเนินการสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ไม่ซับซ้อน และใช้เวลาไม่นาน เพื่อให้มีดำเนินการอย่างถูกต้อง ทั้งในแง่ความสะดวกของประชาชนที่จะดำเนินการ ลงทุน ปลูกไม้มีค่าเพื่อการค้า แต่ก็ต้องรอบคอบเพียงพอที่จะกันไม้เถื่อนจากป่าธรรมชาติที่อาจจะถูกนำเข้ามาสู่ระบบด้วย

สำหรับการเคลื่อนย้ายไม้นั้น ปัจจุบันแม้ว่าด่านป่าไม้ได้รับการยกเลิกไปหลายจุด เหลือเพียงด่านป่าไม้หลักๆ จำนวนไม่มากนัก โดยเฉพาะบริเวณชายแดน เพื่อทำหน้าที่ป้องกันการลักลอบค้าไม้  แต่ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องยังคงมีข้อจำกัดอยู่

ตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ ปี 2562 นี้ ได้มีระบุถึงการเคลื่อนย้ายไม้อยู่ใน มาตรา 25

มาตรา ๒๕ ผู้ใดนำไม้ที่มิใช่ไม้หวงห้ามเข้าเขตด่านป่าไม้ ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่รัฐมนตรีก ำหนด เว้นแต่เป็นการนำไปเพื่อใช้สอยส่วนตัวภายในเขตท้องที่จังหวัดที่ทำไม้นั้น หรือเป็นการนำไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง เข้าเขตด่านป่าไม้ไปใช้สอยส่วนตัวไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

ดังนั้น ในการเคลื่อนย้ายไม้นั้น จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม ในกรณีที่นำไปใช้สอยส่วนตัวภายในเขตจังหวัดที่มีการตัด-ทำไม้ ซึ่งในกรณีที่มีการเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ทำไม้ ในลักษณะของการค้า ยังคงต้องอิงกับระเบียบกรมป่าไม้ในการขอใบเบิกทางอยู่เช่นเดิม  ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว กรมป่าไม้ คงต้องปรับปรุงระเบียบการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นนั่นเอง

บทสรุป พ.ร.บ. ป่าไม้ 2562 ปลดล็อค แต่ยังสะดุด

ในท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่า พ.ร.บ. ป่าไม้ ฉบับใหม่ จะยังเปิดทางให้มีการทำไม้มีค่าได้สะดวกมากขึ้น มีการลดหย่อนผ่อนคลายต่างๆ มากขึ้น แต่ยังคงสะดุด ในกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่ ซึ่งในส่วนนี้ คงต้องให้เวลากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการปลดล็อค ผ่อนคลาย ข้อกำหนดต่างๆ เพิ่มเติม

เนื่องจากแต่เดิมนั้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ มีอยู่ด้วยการหลายฉบับ ผูกกับหน่วยงานรัฐอีกหลายกรมด้วยกัน และทั้งหมดมุ่งเน้น การ “ห้ามทำไม้” เป็นหลัก เมื่อถึงวันนี้ที่จะต้องมาคลายล็อคของข้อกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการทำไม้ เพื่อส่งเสริมให้ภาคประชาชน เอกชน มามีส่วนร่วมเกี่ยวในเรื่องนี้ จึงไม่ง่าย และยังต้องใช้เวลาอีกมากที่จะแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ทั้งหมด

แต่อย่างน้อย การแก้ไข พ.ร.บ. ป่าไม้ ปี พ.ศ. 2562 นี้ถือเป็นอีกพัฒนาการก้าวแรกของการส่งเสริมอุตสาหกรรมป่าไม้ในบ้านเราให้ก้าวหน้าทัดเทียบกับต่างประเทศอย่างจริงจังมากขึ้นนั่นเอง

[ FAQ ]

Q : สรุปว่า ตอนนี้ตัดไม้สักในที่ดินตัวเองได้ไหม
A : หากที่ดินมีกรรมสิทธิ์เป็นของตนเอง เช่น น.ส. 3 , น.ส. 3 ก, โฉนดที่ดิน ไม้สัก พยูง ต่างๆ เหล่านี้ มีสถานภาพเป็น “ไม้ไม่หวงห้าม” สามารถทำไม้ ตัดไม้ ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่

Q : ตัดแล้วแปรรูปขายได้ไหม?
A : ในเรื่องของการแปรรูปไม้ เพื่อการค้า ในส่วนนี้หากไม่รีบร้อน ควรรอความชัดเจนเพิ่มเติม จากกฎหมายลูก ระเบียบกรมป่าไม้ ที่กำลังจะค่อยๆ คลอดตามๆ กันมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อความชัดเจนในแง่กฎหมาย เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำไม้มีประมาณ 9 ฉบับ เกี่ยวข้องกับหลายกรม ด้วยกันจึงยังคงต้องปรับ-แก้ไขตามกันมา

Q : ที่บ้านเป็นที่ดิน ส.ป.ก. ตัดไม้ขายได้ไหม?
A : สำหรับที่ดิน ส.ป.ก. / ค.ท.ช. หรือที่ดินอื่นๆ ที่มีสถานภาพเป็นที่ดินของรัฐ การทำไม้ จะต้องเป็นไม้ที่ปลูกเอง ซึ่งในส่วนนี้ จำเป็นที่จะต้องรอความชัดเจนในเรื่องของการรับรองไม้ อีกครั้งหนึ่ง รวมถึงหากเป็นการปลูกเชิงพานิชย์แบบเต็มตัว อาจจะต้องขอขึ้นทะเบียนสวนป่าเพิ่มเติมอีกด้วย

Q : ไม้พะยูงล้มใส่บ้าน ที่ดินมีโฉนดเรียบร้อย ตัดได้แล้วใช่ไหม?
A : หากเป็นที่ดินมีโฉนด สามารถตัดออกได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งใครแล้ว ตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ ปี 2562 ที่เพิ่งออกมา

Q : ปลูกสักวันนี้ อีก 20 ปีตัดขายได้แน่นอนใช่ไหม?
A : ตามพ.ร.บ. ป่าไม้ ฉบับใหม่นี้ เปิดทางให้ประชาชนทั่วไป เกษตรกร หรือเอกชน สามารถปลูกไม้มีค่า และขายได้ ซึ่งหากเริ่มปลูกในวันนี้ กว่าจะถึงวันที่สามารถตัดขายได้ คาดว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างๆ จะมีความชัดเจน เรียบร้อยดีแล้ว ทำให้การค้าไม้ ทำไม้ ในพื้นที่ของเอกชนสามารถทำได้ง่ายถึงนั่นเอง ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้น อาจจะสามารถส่งออกได้ง่ายขึ้นก็เป็นได้