ร้องยุบพรรคเศรษฐกิจใหม่
วันที่ 18 เม.ย. 2562 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง น.ส. อุลัยพร ไตรวงค์ย้อย นายประยงค์ สร้างศรีหา และ นายคมกฤษ สุภักดี ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ ยื่นหนังสือถึงประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ยุบพรรคเศรษฐกิจใหม่ และระงับการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคเศรษฐกิจใหม่ โดยให้เหตุผลว่า พรรคฯ ถูกบุคคลภายนอกครอบงำ ชี้นำ ไม่ให้พรรคสามารถดำเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ
ทั้งนี้เอกสารคำร้องระบุว่า นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ ได้ให้เงินค่าสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตจำนวนคนละ 15,000 บาท นัดกับว่าที่ผู้สมัครว่าหลังการประกาศรับรองผู้สมัคร จะนัดประชุมผู้สมัครเพื่อแนะแนวทางกันอีกครั้ง แต่ปราฏว่านายมิ่งขวัญไม่ได้นัดประชุมผู้สมัครจนถึงวันเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครสืบทราบมาว่าที่นายมิ่งขวัญไม่ได้นัดประชุมผู้สมัคร เป็นเพราะนายสุทัศน์ สิวาภิรมย์รัตน์ กรรมการบริษัทไทยวัฒนา แอสเซ็ท พร้อมพวกซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ได้บงการควบคุม ครอบงำ ชี้นำพรรค ไม่ให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างเป็นอิสระ เช่น การสนับสนุนงบหาเสียงของผู้สมัคร การจัดทำป้ายหาเสียง รวมถึงจัดตั้งแกนนำต่างๆ เกิดจากการกระทำของนายสุทัศน์ทั้งสิ้น
จากคำร้องดังกล่าวระบุว่า การกระทำดังกล่าวถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จึงขอให้กกต.ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง พร้อมสั่งระงับการประกาศคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และ การประกาศผลการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อไว้ จนกว่าจะมีการวินิจฉัยแล้วเสร็จ และขอให้มีคำสั่งยุบพรรคเศรษฐกิจใหม่ รวมถึงให้ระงับการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อไว้จนกว่า กกต.กลาง จะดำเนินการสอบสวนและมีคำสั่งเสร็จสิ้นและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจยุบพรรค หากมีบุคคลภายนอกชี้นำพรรคจริง
การยุบพรรคการเมืองถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 92 ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำผิด โดยให้ กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองกระทำผิด ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอน สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น การกระทำผิดที่จะนำไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เช่น กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือ ให้บุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคในลักษณะที่ทำให้พรรคหรือสมาชิกของพรรคขาดความอิสระ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม เป็นต้น