มาตรา 272 ลดอำนาจ ส.ว.

‘ก้าวไกล’ และพรรคร่วมฝ่ายค้าน-ปชป. ยื่นญัตติขอแก้ไขรธน. ปี 60 มาตรา 272

พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันเข้ายื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่เกี่ยวข้องกับที่มา และอำนาจ ส.ว.

Home / NEWS / ‘ก้าวไกล’ และพรรคร่วมฝ่ายค้าน-ปชป. ยื่นญัตติขอแก้ไขรธน. ปี 60 มาตรา 272

ประเด็นน่าสนใจ

  • พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันเข้ายื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่เกี่ยวข้องกับที่มา และอำนาจ ส.ว.
  • ด้านประธานสภาฯ เผย ต้องตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนจะบรรจุเป็นระเบียบวาระภายใน 15 วัน
  • ’พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ มั่นใจว่าจะไม่มี ส.ว. คนใดขัดขวาง เนื่องจากทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการแก้ไขมาตรานี้ จะเป็นทางออกให้กับประเทศ

วันนี้ (8 ก.ย.63) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้าน อาทิ นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย นายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง และนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร่วมกันเข้ายื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่เกี่ยวข้องกับที่มา และอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร

โดยประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวภายหลังรับการยื่นญัตติ ว่า ตามขั้นตอนต้องตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนจะบรรจุเป็นระเบียบวาระภายใน 15 วัน ซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทยนั้น ได้สั่งการให้บรรจุวาระพิจารณาในวันที่ 23-24 กันยายน นี้ แล้ว ส่วนฉบับพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ระหว่างรอบรรจุ ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยื่นมานี้ เป็นฉบับที่ 3 หากบรรจุวาระแล้ว คาดว่าจะสามารถนำไปพิจารณาร่วมกันได้ เพราะเป็นเรื่องทำนองเดียวกัน

ด้านนายพิธา กล่าวว่า สาระสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 คือ การยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งมี ส.ส. ร่วมลงชื่อถึง 13 พรรค 99 รายชื่อ ผ่านเงื่อนไขที่ต้องมีผู้รับรอง 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด ซึ่งไม่มีพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมลงชื่อ แต่หากจะยื่นประกบแนบมาก็ยินดี นอกจากนี้ ยังปฏิเสธตอบคำถามรายชื่อพรรคร่วมรัฐบาลที่ร่วมลงชื่อเสนอร่าง พร้อมเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ประธานสภาฯ จะบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาได้ทันสมัยประชุมนี้ และมั่นใจว่าจะไม่มี ส.ว. คนใดขัดขวาง เนื่องจากทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการแก้ไขมาตรานี้ จะเป็นทางออกให้กับประเทศ

ขณะที่นายสาทิตย์ กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากความเห็นพ้องร่วมกัน ที่จะให้มีการแก้ไขในเรื่องการให้ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี เพียงประเด็นเดียว ซึ่งการดำเนินการของ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์เป็นเอกสิทธิ์ที่สามารถทำได้ แม้ว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่ได้ร่วมลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลไปก่อนหน้านี้

โดยการแก้ไขมาตรานี้ จะเป็นการยกเลิกการสืบทอดอำนาจ อย่างไรก็ตาม ตนและเพื่อน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ที่ร่วมลงชื่อจะเข้าไปชี้แจงเหตุผลต่อที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป และคิดว่าหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าใจการดำเนินการในครั้งนี้ส่วนกรณีที่มองว่าพรรคประชาธิปัตย์เล่น 2 ทางนั้น มองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเล่น และไม่ใช่การทำ 2 ทาง ซึ่งพรรคเคยแสดงความคิดเห็นสนับสนุนการแก้ไข มาตรา 272 แต่เห็นว่าควรรอเวลา แต่บางส่วนเห็นว่า ต้องดำเนินการได้แล้ว

ที่มา : สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา