กฎหมายข่าวกรองแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ

ทำความเข้าใจ ‘กฎหมายข่าวกรองแห่งชาติ’ ฉบับใหม่ เสี่ยงจำกัดสิทธิและเสรีภาพ

จากกรณีที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยมีผลบังคับใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันถัดมาจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ วันที่ 17 เม.ย. 62 ซึ่งแต่เดิมเราใช้พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2528 มาเป็นเวลานาน ทำให้เนื้อหาและหลักเกณฑ์บางส่วนไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยคุกคามความมั่นคงและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป…

Home / NEWS / ทำความเข้าใจ ‘กฎหมายข่าวกรองแห่งชาติ’ ฉบับใหม่ เสี่ยงจำกัดสิทธิและเสรีภาพ

จากกรณีที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยมีผลบังคับใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันถัดมาจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ วันที่ 17 เม.ย. 62 ซึ่งแต่เดิมเราใช้พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2528 มาเป็นเวลานาน ทำให้เนื้อหาและหลักเกณฑ์บางส่วนไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยคุกคามความมั่นคงและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มของภัยคุกคามรูปแบบใหม่ด้วยวิธีการที่หลากหลายซับซ้อนขยายตัวมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการปฏิบัติการข่าวกรองของชาติ เพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และทำให้ภารกิจของรัฐด้านกิจการการข่าวกรองมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยข่าวกรองแห่งชาติบางประการ

ทั้งนี้ เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติในการได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ

ความหมาย

“การข่าวกรอง” หมายความว่า การดำเนินการเพื่อให้ทราบถึงความมุ่งหมาย กำลังความสามารถและความเคลื่อนไหว รวมทั้งวิถีทางของบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์การใด ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ที่อาจกระทำการอันเป็นพฤติการณ์เป็นภัยคุกคาม ทั้งนี้เพื่อรักษาความมั่นคงหรือประโยชน์แห่งรัฐและให้รัฐบาลนำมาประกอบการพิจารณาในการกำหนดนโยบายแห่งชาติ

“การต่อต้านข่าวกรอง” หมายความว่า การดำเนินการเพื่อต่อต้านการกระทำของต่างชาติ บุคคลกลุ่มบุคคล หรือองค์การใด ที่มุ่งหมายจะให้ได้ไปซึ่งความลับของชาติ หรือทำลายความมั่นคงแห่งชาติโดยการจารกรรม การบ่อนทำลาย การก่อวินาศกรรม และการก่อการร้าย หรือการอื่นใดอันเป็นภัยคุกคามเพื่อรักษาความมั่นคงหรือประโยชน์แห่งรัฐ

“การข่าวกรองทางการสื่อสาร” หมายความว่า การใช้เทคนิคและการดำเนินกรรมวิธีทางเทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสาร เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในการข่าวกรองและการต่อต้านข่าวกรอง

“การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน” หมายความว่า การให้คำแนะนำช่วยเหลือและกำกับดูแลส่วนราชการฝ่ายพลเรือน รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ในการดำเนินการเพื่อรักษาความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่ สถานที่ ข้อมูลข่าวสาร และสิ่งของอื่นๆ ของทางราชการให้พ้นจากการจารกรรม การบ่อนทำลาย การก่อวินาศกรรม และการก่อการร้าย

สาระสำคัญ

สำนักข่าวกรองแห่งชาติ อาจสั่งให้หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใดส่งข้อมูลหรือเอกสารที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติภายในระยะเวลาที่ผู้อำนวยการกำหนด หากหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลดังกล่าวไม่ส่งข้อมูลหรือเอกสารภายในกำหนดเวลาโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติรายงานต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา สั่งการตามที่เห็นสมควรต่อไป

ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารอันเกี่ยวกับการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง การข่าวกรองทางการสื่อสาร หรือการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน สำนักข่าวกรองแห่งชาติ อาจดำเนินการด้วยวิธีการใดๆ รวมทั้งอาจใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เครื่องโทรคมนาคม หรือเทคโนโลยีอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารดังกล่าวได้

หรือเข้าใจง่ายๆ ว่า เป็นการเปิดช่องให้สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ สามารถใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ล้วงข้อมูลบุคคลได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันภัยคุมคามที่นำมาซึ่งความมั่นคงของชาติ และข้อมูลข่าวสารที่ได้มา ไม่จำเป็นต้องเปิดเผย เว้นแต่เป็นการเปิดเผยต่อหน่วยข่าวกรอง หน่วยงานความมั่นคง นายกรัฐมนตรี หรือตามคำสั่งศาล

สิ่งที่น่ากังวลของ พ.ร.บ. ฉบับนี้

พ.ร.บ.ฉบับนี้ เปิดทางให้มีใช้วิธีการใดๆ  เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล-ข่าวสารนั้น ซึ่งหากพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ เมื่อได้รับไฟเขียว เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองสามารถทำวิธีใดๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการแฮค ดักฟังโทรศัพท์ หรือดักข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ต้องการ และจุดที่น่าเป็นห่วงนอกเหนือจากนั้นคือ การที่กฎหมายไม่ได้กำหนดหรือจำกัดแนวทางของกรอบของการจำกัดหรือป้องกันไม่ให้ละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างชัดเจนว่า อะไรคือเส้นแบ่งของการทำได้ หรือทำไม่ได้ อะไรคือการละเมิดหรือไม่ละเมิดสิทธิ

พ.ร.บ. ยังไม่ได้มีการระบุ ในกรณีของความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดักฟัง-ดักข้อมูลดังกล่าวและเกิดข้อมูลรั่วไหลออกสู่ภายนอก ซึ่งตัว พ.ร.บ. ไม่ได้มีข้อกำหนดไว้หากจะเกิดในกรณีนี้อีกด้วย ในพ.ร.บ. ฉบับอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันนี้ มีข้อกำหนดให้จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากศาล เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจจนเกินกว่าเหตุนั่นเอง

ในต่างประเทศอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา นั้นแม้ว่าจะมีหน่วยงานข่าวกรอง แต่ก็มี ศาลลับ หรือ FISA Court ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแล อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ ดำเนินการต่างๆ ในด้านข่าวกรอง ซึ่งถือว่าเป็นการตรวจสอบกันอีกครั้งหนึ่ง ถึงประชาชนทั่วไปจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในศาลลับ แต่ถือเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนในการควบคุมดูแลไม่ได้เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรอง ดำเนินการหรือทำอย่างหนึ่งอย่างใด เกิดกว่าเหตุจนเกิดการละเมิดสิทธิ-เสรีภาพของประชาชนนั่นเอง

คนไม่มีความผิด สุจริตชนไม่เห็นต้องกลัว

หลังจากที่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตต่อความเสี่ยงในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็จะมีเสียงจากผู้สนับสนุนออกมากล่าวว่า “ไม่ผิด ไม่เห็นต้องกลัวอะไร” ซึ่งในตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น หลายครั้งที่มีการ “กล่าวหา” ฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะในทางการเมืองว่า กระทบต่อความมั่งคง ซึ่งทำให้กฎหมายหลายๆ ฉบับถูกใช้ในการ “ตรวจสอบ” ฝ่ายตรงข้าม โดยใช้ข้ออ้างในด้านความมั่นคงอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งตลอดกระบวนการของการกล่าวหา ตรวจสอบ และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ นั้นไม่ง่าย ดังนั้นการตีความในคำว่า “เพื่อความมั่นคง” นั้น หากไม่มีกรอบที่ชัดเจน ย่อมมีโอกาสให้ผู้ที่เห็นต่าง มีโอกาสจะถูกสอดส่องได้ง่ายขึ้น ยิ่งในยุคที่ทุกคนสามารถแสดงความเห็นของตนเองผ่านโซเซียลมีเดียด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ความเสี่ยงในการไปเกี่ยวข้องกับ “ความมั่นคง” ได้ง่ายขึ้นไปอีก

ดังนั้นในส่วนที่ยังคงไม่ชัดเจน นั่นคือ กรอบของการดำเนินการ การควบคุมดูแลในการได้มาซึ่งข่าวกรอง การควบคุมข่าวกรองที่ได้มา ไม่ให้หลุดออกสู่สาธารณะ จนเกิดความเสียหายแก่ผู้เกี่ยวข้องนั้นๆ

ด้าน อัยการฯ ตั้งขอสังเกต พ.ร.บ. ข่าวกรองฉบับใหม่ อาจจะละเมิดสิทธิ

ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ได้โพสต์ข้อสังเกตต่อการบังคับใช้ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติฉบับใหม่ ในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยห่วงว่า จะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และอาจจะเป็นการใช้อำนาจเกินสมควรแก่เหตุ

ตามที่ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2562 และให้ยกเลิก พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นกฎหมายเดิม นั้น ผมมีข้อสังเกตที่เป็นความเห็นทางวิชาการเป็นการส่วนตัว ในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการประกาศและบังคับใช้ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ดังนี้

1. การให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติมีอำนาจใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เครื่องโทรคมนาคม หรือเทคโนโลยีอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสาร โดยเป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติกำหนดโดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ได้ผ่านกระบวนการในการกลั่นกรองและตรวจสอบการใช้อำนาจจากองค์กรอื่นในลักษณะที่เป็นสากล เช่น จากองค์กรศาล แต่เป็นการใช้อำนาจในลักษณะที่เป็นการเสนอ และตรวจสอบควบคุม ภายในหน่วยงานเดียวกันเอง ทั้งที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยตรงนี้ จะสุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจที่ไม่สุจริตและไม่ชอบธรรม และการใช้อำนาจเกินสมควรแก่เหตุ อันเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองหรือไม่

2. การที่ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 6 วรรคสาม บัญญัติให้ความคุ้มครองการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสาร ที่กระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริตตามสมควรแก่เหตุ และเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงหรือการป้องกันภัยสาธารณะ ให้ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้จะมีข้อดีในการให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต แต่ก็อาจจะเป็นเหรียญสองด้าน โดยอีกด้านอาจจะเป็นการอ้างและใช้ประโยชน์จากบทบัญญัติกฎหมายในการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ไม่สุจริตชอบธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐได้

3. การใช้อำนาจหน้าที่ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติในการได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารดังกล่าว จะเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง ที่บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมหรือไม่

4. การใช้อำนาจหน้าที่ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติในการได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารตามกฎหมายนี้จะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองหรือไม่ โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคสาม บัญญัติให้บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญสามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลได้ และรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 บัญญัติให้บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำนั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้

5. การใช้อำนาจหน้าที่ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติในการได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารตามกฎหมายนี้ อาจจะนำไปสู่

(1) การขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ (พรป.วิ.ศาลรัฐธรรมนูญ) พ.ศ. 2561 มาตรา 41 และมาตรา 7 (1)

(2) การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยบุคคลผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง เพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยว่า มีการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติฉบับใหม่นี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ตาม พรป.วิ.ศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 และมาตรา 48 ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้

ไม่ใช่เรื่องใหม่! พ.ร.บ. ข่าวกรอง 2528 ก็เคยระบุไว้

พ.ร.บ. ข่าวกรอง ปี 2562 นี้ไม่ใช่ฉบับแรก ที่เคยมีในประเทศไทย แต่เคยมีร่างพ.ร.บ. ข่าวกรองมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยฉบับก่อนที่จะมีประกาศนี้ คือ พ.ร.บ. ข่าวกรอง ปี พ.ศ. 2528 ที่ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2528 และมีข้อความใกล้เคียงกันคือ

“การข่าวกรองทางการสื่อสาร” หมายความว่า การใช้เทคนิคและการดําเนินกรรมวิธีทางเครื่องมือสื่อสารด้วยการดักรับการติดต่อสื่อสารทางสัญญาณวิทยุ เพื่อให้ได้มาซึ่งข่าวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของต่างชาติหรือองค์การก่อการร้าย อันอาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งชาติ

ยังมีกฎหมายอื่นๆ อีกที่เปิดช่องคล้ายๆ กัน

หลายคนวิตกกังวลกับ พ.ร.บ. ข่าวกรองที่เปิดช่องให้ สามารถ “ล้วงข้อมูล” ของใครก็ได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งข่าวกรองต่างๆ สำหรับใช้ในด้านความมั่นคง โดยที่ผ่านมากฎหมายในลักษณะนี้มักจะใช้เป็นเหตุผลเสมอๆ แต่ในปัจจุบันมีกฎหมายที่ถูกใช้อยู่อีก ราว 10 ฉบับ ที่เปิดทางให้รวบรวมข้อมูลในลักษณะดังกล่าวนี้ด้วย

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2519

ใน พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มาตราที่ 14 จัตวา ระบุไว้ว่า

มาตรา ๑๔ จัตวา ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เอกสารหรือข้อมูลข่าวสารอื่นใด ซึ่งส่งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด ถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เจ้าพนักงานซึ่งได้รับอนุมัติจากเลขาธิการเป็นหนังสือจะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าพนักงานได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้

ซึ่งตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ถูกใช้ในการหาข้อมูลข่าวสารที่ “เชื่อได้ว่า” ถูกใช้ในการค้ายาเสพติด สามารถได้มาซึ่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และไม่มีวิธีการอื่นใดเหมาะสม ก็สามารถเลือกใช้เปิดทางให้บังคับใช้กฎหมายข้อนี้ได้ แต่ใน พ.ร.บ. เดียวกันนี้ พอที่จะมีการควบคุมไม่ให้ข้อมูลที่ได้มารั่วไหลออกไปโดย

มาตรา ๑๖/๑ ผู้ใดรู้หรือได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารที่ได้มาตามมาตรา ๑๔ จัตวา กระทำด้วยประการใดๆ ให้ผู้อื่นรู้หรืออาจรู้ข้อมูลข่าวสารดังกล่าว ต้องระวางโทษจ าคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท เว้นแต่เป็นการเปิดเผยในการปฏิบัติหน้าที่หรือตามกฎหมาย

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

โดย พ.ร.บ. ฉบับนี้ ได้มีการประกาศเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๒  โดยใน มาตราที่ ๔๖ ระบุไว้ดังนี้

มาตรา ๔๖  ในกรณีที่มีพยานหลักฐานตามสมควรว่าบัญชีลูกค้าของสถาบันการเงิน เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ใด ถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทําความผิดฐานฟอกเงิน พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเลขาธิการมอบหมายเป็นหนังสือจะยื่นคําขอฝ่ายเดียวต่อศาลแพ่ง เพื่อมีคําสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าถึงบัญชีข้อมูลทางการสื่อสารหรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลดังกล่าวนั้นก็ได้

พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งได้มีการระบุเหตุผลด้านความมั่นคง ให้สามารถล้วงข้อมูลได้เช่นกัน โดยระบุไว้ใน มาตรา ๑๑ (๕)

มาตรา ๑๑ (๕) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจออกคําสั่งตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด ตลอดจนการสั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อ หรือ การสื่อสารใด เพื่อป้องกันหรือระงับเหตุการณ์ร้ายแรง โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษโดยอนุโลม

แต่ใน พ.ร.ก. ฉบับนี้ มิได้เอ่ยถึงการดำเนินการป้องกัน หรือปกป้องข้อมูล กรณีเมื่อข้อมูลที่ได้มาหลุดออกมาสู่ภายนอกแต่อย่างใด

พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551

มาตรา ๓๐ ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเอกสำรหรือข้อมูลข่าวสารอื่นใดซึ่งส่งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการสื่อสารสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อสารสนเทศอื่นใด ถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับอนุมัติเป็นหนังสือจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลอาญาหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาซึ่งเอกสาร หรือข้อมูลข่าวสารดังกล่าวก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับประธานศาลฎีกา

โดยใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ ระบุเหตุผลไว้ว่า สามารถบังคับใช้มาตร ๓๐ นี้เมื่อเชื่อได้ว่า มีความผิดฐานการค้ามนุษย์ เชื่อว่าจะได้มาซึ่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และไม่มีทางเลือกอื่นใดในการได้มาซึ่งข้อมูลดังกล่าวแล้ว

พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556

มาตรา ๑๗ ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่า เอกสารหรือข้อมูลข่าวสารซึ่งส่งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีใด ถูกใช้หรืออาจถูกใช้ เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการกระทําความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พนักงานสอบสวนซึ่งได้รับอนุมัติจากอัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย แล้วแต่กรณี อาจยื่นคําขอฝ่ายเดียวต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเพื่อมีคําสั่งอนุญาตให้ได้มาซึ่งเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารดังกล่าวก็ได้

โดยใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ ระบุไว้ตอนท้ายของมาตรา ๑๗ ไว้คล้ายกับ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ปี 2551 เช่นกันคือ จะบังคับใช้เมื่อเชื่อว่า มีการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เชื่อว่าจะทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และไม่มีวิธีการอื่นใดที่ให้ได้มาซึ่งข้อมูลดังกล่าวแล้ว

….

นอกจาก พ.ร.บ. ต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีร่าง พ.ร.บ. ไซเบอร์อีกหนึ่งฉบับที่ผ่านการเห็นชอบจากสนช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำลังรอการประกาศใช้อย่างเป็นทางการอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารอันเป็นไปเพื่อความมั่นคงของชาติ จัดเป็นความสำคัญอันดับต้นๆ ไม่ว่าการได้มาซึ่งข้อมูลนั้นจะต้องใช้วิธีการอย่างไร แต่ความถูกต้องตรงไปตรงมาอยู่ที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการคัดกรองบุคคลและข้อมูล ซึ่งหากผู้มีอำนาจนำช่องว่างของ พ.ร.บ. นี้ไปใช้ล้วงข้อมูลของบุคคลที่ไม่เข้าค่ายการกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคงฯ ก็ไม่ต่างอะไรกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยมี พ.ร.บ. นี้เป็นข้ออ้าง ใช้สอดส่องบุคคลที่เป็นปรปักษ์กับตน