เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องสงสัย 7 รายที่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิด 8 จุดในศรีลังกา เบื้องต้นยอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงกว่า 200 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 400 ราย
เกิดเหตุระเบิดที่โบสถ์คริสต์และโรงแรมหลายแห่งในศรีลังกา เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2562 ขณะผู้คนกำลังประกอบพิธีเนื่องในเทศกาลอีสเตอร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 207 ราย และบาดเจ็บอีก 450 ราย
ล่าสุดเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 7 ราย แต่ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างเป็นผู้ลงมือก่อเหตุครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นเหตุโจมตีรุนแรงครั้งแรกในศรีลังกา นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองยุติลงเมื่อ 10 ปีก่อน
มีรายงานว่า เหตุระเบิดเกิดขึ้น 8 จุด ซึ่งรวมถึงโบสถ์ 3 แห่งในเมืองเนกอมโบ, เมืองบัตติคาลัว และในเขตโคชชิกัดของกรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของศรีลังกา
ส่วนโรงแรมแชงกรี-ลา, โรงแรมคิงส์บูรี และโรงแรมซินนามอน แกรนด์ ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่ในกรุงโคลัมโบ ก็ตกเป็นเป้าโจมตีในเหตุระเบิดครั้งนี้ด้วย
ทางการศรีลังกาประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศไม่มีกำหนด และระงับการใช้เครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์เป็นการชั่วคราว
สื่อท้องถิ่นรายงานว่า มีการวางกำลังทหารในพื้นที่เกิดเหตุ และยกระดับการรักษาความปลอดภัยที่สนามบินนานาชาติบันดารานายาเก ซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ
สำหรับเหตุระเบิด 6 ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเวลา 8.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยเหตุระเบิดครั้งแรกเกิดขึ้นที่โบสถ์เซนต์แอนโธนี และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งโบสถ์แห่งนี้อยู่ในเขตโคชชิกัดและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว
ขณะที่เหตุระเบิดครั้งที่ 7 เกิดขึ้นที่โรงแรมทางตอนใต้ของกรุงโคลัมโบ โดยแหล่งข่าวจากตำรวจรายงานว่า มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ส่วนเหตุระเบิดครั้งที่ 8 นั้นเกิดขึ้นใกล้กับเขตเดมาตาโกดา ซึ่งสื่อบางแห่งรายงานว่าเป็นเหตุระเบิดฆ่าตัวตาย ทำให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงเสียชีวิต 3 นาย
เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศศรีลังกา ระบุว่า มีชาวต่างชาติเสียชีวิตจากเหตุระเบิดครั้งนี้ถึง 27 ราย ซึ่งรายงานชี้ว่ารวมถึงพลเมืองของอังกฤษ อินเดีย เดนมาร์ก จีน ตุรกี เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส
ด้านประธานาธิบดีไมตรีปาละ สิริเสนา ของศรีลังกา ออกแถลงการณ์ขอให้ผู้คนอยู่ในความสงบ และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการสืบสวน
ข้อสังเกตเมื่อพบวัตถุต้องสงสัย
- ไม่เคยเห็น : ตัวอย่างเช่น ที่ตู้เอทีเอ็ม พบถังดับเพลิง วางอยู่ข้างตู้ ซึ่งปกติแล้ว บริเวณดังกล่าวจะไม่เคยมีถังดับเพลิงลักษณะนี้วางอยู่
- ไม่มีเจ้าของ : เมื่อสอบถามประชาชนหรือคนในละแวกนั้นแล้ว ไม่พบว่าวัตถุดังกล่าวเป็นของผู้ใด ไม่มีผู้ใดแสดงตัวเป็นเจ้าของ
- ไม่ใช่ที่อยู่ : วัตถุนั้น ไม่ควรที่จะอยู่ ณ สถานที่ตรงนั้น
- ดูไม่เรียบร้อย : วัตถุสิ่งนั้นมีสภาพที่ไม่เรียบร้อย ผิดปกติ เช่น มีสายไฟโผล่ มีน้ำมันเยิ้ม มีกลิ่นน้ำมันเครื่อง หรือ น้ำมันเบนซิน เป็นต้น
การปฏิบัติเมื่อพบวัตถุต้องสงสัยซึ่งเชื่อว่าเป็น ‘วัตถุระเบิด’
- ปิดกั้นบริเวณที่พบวัตถุต้องสงสัย โดยนำกรวยยาง หรือเชือกกั้นล้อมรอบบริเวณที่พบวัตถุ
ต้องสงสัย (เชือกกั้นรัศมีประมาณ 5-10 เมตร) กำหนดทางเข้าออกเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบให้ชัดเจน - เจ้าหน้าที่ตำรวจนำยางรถยนต์ประมาณ 5 เส้น ครอบวัตถุต้องสงสัยไว้ หรือนำกระสอบทราบล้อมรอบวัตถุต้องสงสัยไว้ แล้วแต่ความเหมาะสม โดยให้วัตถุต้องสงสัยอยู่ตรงกลาง โดยห้ามจับต้อง หยิบยก เคลื่อนย้าย ทำให้สั่นสะเทือน เคลื่อนไหว หรือสัมผัสกับวัตถุต้องสงสัยโดยเด็ดขาด
- การกันคน ให้กันคนให้ห่างจากจุดที่พบวัตถุต้องสงสัย ระยะห่างประมาณจากขนาดของวัตถุต้องสงสัย ซึ่งปกติทั่วไป ถ้าเป็นขนาดเล็ก ให้กันคนให้ห่างประมาณ 100 เมตร ถ้าขนาดใหญ่ ให้ห่างประมาณ 400 เมตร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่จะอำนวย
- รีบโทรศัพท์แจ้ง กลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด โทร. 02-2961946 โดยให้ร้อยเวร อยู่บริเวณที่เกิดเหตุ เพื่อแจ้งรายละเอียดให้กับเจ้าหน้าที่ EOD ทราบ ให้เตรียมข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานที่พบวัตถุระเบิด หรือว้ตถุต้องสงสัย เลขที่ ตำบล ถนน อำเภอ จังหวัด ขนาด รูปร่าง สี น้ำหนักโดยประมาณ มูลเหตุที่เชื่อว่าเป็นวัตถุระเบิด ใครเป็นผู้พบ พบเมื่อใด ใครเห็นบ้าง ที่ตัววัตถุระเบิด มีอุปกรณ์อะไรประกอบที่เห็นได้ เช่น สายไฟ นาฬิกา หรืออื่นๆ