ข่าวสดวันนี้ โฮปเวลล์

ลุ้นปิดฉาก ‘โฮปเวลล์’ คดีมหากาพย์ 29 ปี แห่งความอัปยศ

อีกหนึ่งคดีมหากาพย์ที่จะสิ้นสุดในวันนี้ เมื่อศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในกรณีพิพาทระหว่าง บริษัท โฮปเวลล์ ประเทศไทย กับกระทรวงคมนาคม ย้อนรอยคดีบริษัท โฮปเวลล์ โครงการถนนและทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล หรือที่เรียกว่า “โฮปเวลล์” เกิดขึ้นเมื่อปี 2533…

Home / NEWS / ลุ้นปิดฉาก ‘โฮปเวลล์’ คดีมหากาพย์ 29 ปี แห่งความอัปยศ

อีกหนึ่งคดีมหากาพย์ที่จะสิ้นสุดในวันนี้ เมื่อศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในกรณีพิพาทระหว่าง บริษัท โฮปเวลล์ ประเทศไทย กับกระทรวงคมนาคม

ย้อนรอยคดีบริษัท โฮปเวลล์

โครงการถนนและทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล หรือที่เรียกว่า “โฮปเวลล์” เกิดขึ้นเมื่อปี 2533 ในสมัยรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

โดยมีการเปิดประมูลสัมปทานก่อสร้างทางยกระดับ เพื่อแก้ปัญหาการจราจร ตามสัญญาผู้รับสัมปทานจะมีรายได้จากค่าโดยสารรถไฟฟ้า ค่าผ่านทาง และรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ตลอดเส้นทาง และผลการประมูลครั้งนั้น บริษัทโฮปเวลล์โฮลดิงส์ ของนายกอร์ดอน วู ประธานบริหารโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ยักษ์ใหญ่วงการก่อสร้างของฮ่องกง เป็นผู้ชนะ

การได้บริษัท โฮปเวลล์ มาเป็นผู้ก่อสร้างนี้เหมือนจะเป็นผลดี เมื่อผู้ลงทุนออกแบบเองทั้งหมด โดยใช้วงเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี อายุของสัมปทาน 30 ปี มีกำหนดตั้งแต่ 6 ธันวาคม 2534 – 5 ธันวาคม 2542 โดย แบ่งเป็น 5 ระยะทางรวมทั้งสิ้น 60.1 กิโลเมตรแต่ปรากฏว่า การก่อสร้างเป็นไปอย่างล่าช้า ประกอบกับปัญหาหลายเรื่อง

กระทั่งหลังรัฐประหารในปี 2534 รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ได้เข้ามาตรวจสอบสัญญาสัมปทานทั้งหมด ก่อนประกาศล้มโครงการ แม้ต่อมา รัฐบาลนายชวน หลีกภัย จะผลักดันโครงการต่อ แต่สุดท้าย ก็ยกเลิกสัมปทานอย่างเป็นทางการ เมื่อ 20 มกราคม 2541 ทำให้ต่อมา บริษัทโฮปเวลล์โฮลดิ้ง ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการยกเลิกสัญญา จนกลายเป็นคดีความยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน

โฮปเวลล์ อภิมหาโครงการ

โฮปเวลล์ เป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่มาก ประกอบไปด้วยพื้นผิวการจราจร 4 ชั้น คือ

  • ชั้นบนสุด เป็นทางด่วนยกระดับ ความยาว 56.8 กม.
  • ชั้น 3 เป็นทางรถไฟยกระดับ 5 ช่องทาง
  • ชั้น 2 เป็นร้านค้าและชานชลา
  • ชั้นล่าง เป็นร้านค้าและทางเดินในโครงการ

โดยตามแผนงานนั้น ระบบขายตั๋วเป็นระบบอัตโนมัติ รถไฟ 1 ขบวนนั้นมีจำนวน 12 ตู้ เป็นระบบปรับอากาศทั้งหมด โดยประมาณการไว้ว่า สามารถขนส่งผู้คนได้ราว 3 ล้านคนต่อวัน ทำความเร็วสูงสุดได้ 90 กม. / ชม.

ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาคดี’โฮปเวลล์’

อย่างไรก็ตามในวันนี้ ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่บริษัท โฮปเวลล์ ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย จ่ายคืนเงินค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายอื่นๆ แก่บริษัท โฮปเวลล์ รวม 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ทำให้การรถไฟฯไม่ต้องจ่ายคืนเงินจำนวนดังกล่าว

>  ศาลปกครองสูงสุดสั่ง!! กระทรวงคมนาคมคืนเงินชดเชย ‘โฮปเวลล์’

ไทม์ไลน์ โครงการโฮปเวลล์

โครงการโฮปเวลล์ ถือเป็นหนึ่งในโครงการมหากาพย์แห่งไทยที่เกิดขึ้นมาในช่วงที่ถือได้ว่าเป็นวิกฤติทางการเมืองและเศรษฐกิจหลายๆ อย่าง ส่งผลให้โครงการถูกขนานนามเป็น “โฮปเลส” (Hopeless)

รัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัน (ปี 2532 – 2534)

  • 19 กันยายน 2532 – มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ โครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขต กทม.
  • 16 ตุลาคม 2532 – มีการประกาศเชิญชวนเอกชนมาร่วมโครงการ ซึ่งมีผู้เสนอตัวเพียงรายเดียวคือ บริษัท Hopewell Holdings Ltd. (Hong Kong)
  • 1 พฤษภาคม 2533 – มีมติให้เร่งรัดการก่อสร้าง
  • 9 พฤศจิกายน 2533 – ลงนามสัญญาสัมปทานฯ มีกำหนดเวลา 30 ปี คือ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2534 – 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 โดยรบ.ไทย ไม่ต้องควักกระเป๋า “โฮปเวลล์” เป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ในวงเงิน 8 หมื่นล้าน
  • 23 กุมภาพันธ์ 2534 – เกิดรัฐประหาร ปี 2534 โดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ รสช. นำโดย พลเอก สุนทร คงสมพงษ์

รัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน

  • 5 พฤศจิกายน 2534 – มีการเจรจาขอเลื่อนระยะเวลาสัมปทานออกไป ท่ามกลางข้อครหาในขณะนั้นถึงที่มาที่ไปของโครงการหลักหมื่นล้าน แต่เอกสารไม่ชัดเจน
  • 3 ธันวาคม 2534 – ครม. ให้นำข้อสังเกตของนายไพจิตร เอื้อทวีกุล ถึงปัญหาต่างๆ ในโครงการโฮปเวลล์ ไปพิจารณาโครงการใหม่อีกครั้ง
  • 3 มีนาคม 2535 – ให้มีการเจรจาแก้ปัญหาเรื่องการออกแบบโครงสร้าง บริเวณสี่แยกบางเขนและหลักสี่
  • 10 มีนาคม 2535 – ให้มีการเจรจาร่วมระหว่าง กรมทางหลวง การรถไฟแห่งประเทศไทย
    บริษัท ดอนเมือง โทล์ลเวย์จํากัด และบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จํากัด ในการแก้ปัญหาต่างๆ
  • 28 กรกฎาคม 2535 – รบ. ยืนยัน ห้ามทุบสะพานลอย บริเวณแยกสี่แยกบางเขน-หลักสี่ ตามมติเดิม

รัฐบาล นายชวน หลีกภัย (ชวน 1)

  • 30 มีนาคม 2536 – เร่งรัดโครงการฯ ด้วยระบบ Fast Track เพื่อความรวดเร็วของการทำงาน
  • 3 พฤษภาคม 2537 – ปัญหาเรื่องหลักเกณฑ์การออกแบบ การดำเนินการต่างๆ ยังคงตกลงกันมไม่ได้
  • 27 กันยายน 2537 – มติ ครม. ให้แก้ไขเส้นทางหลักของโครงการโฮปเวลล์
  • 17 ตุลาคม 2538 – ให้การรถไฟและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงความคืบหน้า ปัญหาต่างๆ โดย รฟท. ได้ชี้แจงว่า เหลือปัญหาเพียงจุดเดียว เชื่อว่า โครงการจะเสร็จทันเวลาตามสัญญาในปี 2542
  • 16 มกราคม 2539 – รายงานความก้าวหน้าโครงการนั้น คืบหน้าไปเพียง 3.1% จากแผนที่ควรจะคืบหน้า 63.4%
  • 16 เมษายน 2539 – ความคืบหน้าโครงการนั้นอยู่ที่ 5.03%

รัฐบาล พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ

  • 25 กุมภาพันธ์ 2540 – รายงานของมติ ครม. ยังพบปัญหาของการเวนคืนที่ดินของประชาชน ให้กระทรวงมหาดไทยนัดเจรจรนอกรอบ
  • 11 มีนาคม 2540 – การก่อสร้างโครงการต่ำกว่าเป้าอย่างมาก
  • สิงหาคม พ.ศ. 2540 – โฮปเวลล์หยุดการก่อสร้าง
  • 30 กันยายน 2540 – มติครม. เห็นชอบให้บอกเลิกสัญญา

รัฐบาล นายชวน หลีกภัย (ชวน 2)

  • 20 มกราคม พ.ศ. 2541 – กระทรวงคมนาคมเบิกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการ

….

ที่มาจาก ประมวลข้อมูลมติคณะรัฐมนตรีเรื่อง โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (โฮปเวลล์)