ข่าวภูมิภาค ฤดูร้อน สถานการณ์น้ำ หน้าแล้ง เขื่อนอุบลรัตน์

ร้อนจัด!! ‘เขื่อนอุบลรัตน์’ น้ำลดลงจนกลายเป็นที่เลี้ยงวัวของชาวบ้าน

สถานการณ์ภัยแล้งที่ภาคอีสานยังส่งผลกระทบต่อประชาชน หลัง ‘เขื่อนอุบลรัตน์’ น้ำลดลงจนกลายเป็นที่เลี้ยงวัวของชาวบ้าน วันนี้ (22 เม.ย.62) ผู้สื่อข่าว จ.ขอนแก่น รายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่ภาคอีสานยังส่งผลกระทบต่อประชาชน และสัตว์เลี้ยงกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์พบว่าระดับน้ำเก็บกักในอ่าง 600 ล้าน…

Home / NEWS / ร้อนจัด!! ‘เขื่อนอุบลรัตน์’ น้ำลดลงจนกลายเป็นที่เลี้ยงวัวของชาวบ้าน

สถานการณ์ภัยแล้งที่ภาคอีสานยังส่งผลกระทบต่อประชาชน หลัง ‘เขื่อนอุบลรัตน์’ น้ำลดลงจนกลายเป็นที่เลี้ยงวัวของชาวบ้าน

วันนี้ (22 เม.ย.62) ผู้สื่อข่าว จ.ขอนแก่น รายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่ภาคอีสานยังส่งผลกระทบต่อประชาชน และสัตว์เลี้ยงกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์พบว่าระดับน้ำเก็บกักในอ่าง 600 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 25 ในจำนวนนี้มีปริมาณน้ำที่สามารถใช้การได้จริงเพียง 19 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 1 เท่านั้น

โดยทางจังหวัดได้มีประกาศเตือนไปยังเกษตรกรที่อยู่ตอนบน และตอนล่างของลุ่มน้ำแล้ว พร้อมทั้งได้ประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อขอสนับสนุนปฏิบัติการฝนหลวงแก้ปัญหาภัยแล้งและเติมน้ำเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ ถ้าฝนยังไม่ตกลงมาก็อาจต้องใช้น้ำก้นอ่าง หรือ น้ำตาย (Dead Storage)

ขณะเดียวกันปริมาณในเขื่อนอุบลรัตน์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทางพื้นที่ตอนบนของเขื่อนอุบลรัตน์โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ของ ต.เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ได้กลายเป็นแหล่งเลี้ยงวัวของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี เนื่องจากน้ำที่ลดลงไป ก็ได้มีต้นหญ้าอ่อนเกิดขึ้นมาแทนที่ เพราะพื้นดินชุ่มฉ่ำเหมาะแก่การเกิดต้นหญ้า หรือแม้แต่วัชพืชอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี ชาวบ้านจึงนำวัว ควาย ไปเลี้ยงกินหญ้าอยู่ในบริเวณแถบนั้นเป็นส่วนใหญ่ เพราะที่อื่นๆ ก็ไม่เหลือหญ้าให้วัว ควาย ได้กินแล้ว เพราะทนกับความแห้งแล้ง และสภาพอากาศร้อนไม่ไหวต้นหญ้าจึงแห้งตายหมด

นายสมควร ธรรมมา อายุ 66 ปี อยู่บ้านเลขที่ 90 หมู่ 8 บ้านโนนสวรรค์ ต.เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ชาวบ้านที่นำวัวมาเลี้ยงให้สัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าวว่า ปีนี้ภัยแล้งมาเร็วกว่าทุกปี น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ก็ลดลงเร็ว เมื่อน้ำลดลงก็มีหญ้าอ่อนเกิดขึ้นมาแทนที่ เนื่องจากพื้นดินชุ่มน้ำจึงเหมาะกับการเกิดหญ้าพอดี ตนและชาวบ้านที่นี่ ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเลี้ยงวัวพื้นบ้านขาย เลยถือโอกาสนำวัว ควาย มาเลี้ยง เพราะที่อื่นๆ ก็ไม่มีหญ้าเหลือให้วัว ควาย ได้กินแล้วในช่วงหน้าแล้งอย่างนี้