เยี่ยมชมและทำความรู้จักกับศิลปะวัตถุ ที่ใช้ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยก่อน
รายการ The Morning เช้าเช็คอิน ทางช่อง MONO29 ได้ขันอาสาพาไปเยี่ยมชมและทำความรู้จักกับศิลปะวัตถุ ที่ใช้ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่เกิดขึ้นในรัชสมัยก่อน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อให้คนไทยได้รู้จักและเข้าใจถึงความสำคัญ ของศิลปะวัตถุที่ใช้ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในกลางครั้งนี้
โดยคุณนิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เผยว่า ศิลปะวัตถุที่ใช้ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 9 ประกอบด้วย
ผ้ากราบ ซึ่งผ้ากราบนี้เป็นเครื่องใช้ของพระสงฆ์ ที่ใช้ในการกราบสิ่งที่ควรกราบในงานพระราชพิธี เช่น พระพุทธรูป โดยผ้ากราบที่จัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร นี้ จะมี 2 รูปแบบด้วยกันคือ ผ้ากราบ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 5 มีลักษณะเป็นผ้ากำมะหยี่ ปักลวดลายพระราชลัญจกรประจำรัชกาลของพระองค์ มีฉัตร มีจุลมงกุฏอยู่ด้านบน และตรงกลางจะเป็นตัวอักษรบันทึกเหตุการณ์ว่าเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.ใด
และ ผ้ากราบงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช รัชกาลที่ 6 ซึ่งผ้ากราบชิ้นนี้จะเป็นผ้าไหม และจะเป็นการพิมพ์ลายตราสัญลักษณ์ต่างๆ แทนการปัก ซึ่งการเลือกชนิดผ้าที่จะนำมาทำผ้ากราบนี้ไม่มีข้อจำกัดตายตัว
แต่จะเป็นไปตามพระราชนิยมและเทคโนโลยีในสมัยนั้นๆ และการบันทึกด้วยเครื่องมือต่างๆ สามารถบ่งบอกความเป็นไปในรัชสมัยของพระองค์ได้เป็นอย่างดี เพราะส่วนใหญ่ถูกนำมาบันทึกไว้กับสิ่งของที่ระลึกเหล่านี้ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมี พระสุพรรณบัฏ แผ่นทองคำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่จารึกพระนามพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป
และ ดอกพิกุลเงิน – ดอกพิกุลทอง ที่ทำมาจากแผ่นเงิน-ทอง ซึ่งเป็นสิ่งมงคลที่พระมหากษัตริย์จะใช้โปรย ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อให้ข้าราชบริพาร และพสกนิกรที่เข้าเฝ้า นำไปบูชาเป็นสิริมงคล เพราะเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพลงมาจากสวรรค์นั่นเอง