พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย มาตรา 272 แก้รัฐธรรมนูญ

ประเด็นร้อนการเมือง ‘เพื่อไทย’ – ‘ก้าวไกล’ เห็นต่างยื่นแก้รธน. มาตรา 272

วานนี้ที่ประชุมพรรคเพื่อไทย มีมติ 99.99% ไม่เข้าร่วมลงชื่อในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ในการลดอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

Home / NEWS / ประเด็นร้อนการเมือง ‘เพื่อไทย’ – ‘ก้าวไกล’ เห็นต่างยื่นแก้รธน. มาตรา 272

ประเด็นน่าสนใจ

  • วานนี้ที่ประชุมพรรคเพื่อไทย มีมติ 99.99% ไม่เข้าร่วมลงชื่อในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ในการลดอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
  • โดยส่วนใหญ่มองว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกช่วงเวลา
  • ด้านพรรคก้าวไกล แถลงจุดยืนเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อเป็นการปิดสวิตช์ ส.ว.

วานนี้ (25 ส.ค. 63) นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังการประชุมพรรค ว่า ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยได้มีการขอมติ ส.ส. ต่อประเด็นการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 272 ร่วมกับพรรคก้าวไกล ที่ประชุมมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง

ส่วนใหญ่เห็นชอบกับการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 คือการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อเปิดทางให้ประชาชนได้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเชื่อว่าเราไม่ควรไปคิดแทนประชาชน และถ้าหากเดินตามแนวทางนี้จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศ และพรรคเพื่อไทยก็ได้ลงชื่อและดำเนินการตามแนวทางนี้มาโดยตลอด

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามแนวทางมาตรา 272 ลดอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี น่าจะเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกช่วงเวลา ซึ่งก่อนที่จะมีการลงมติ ที่ประชุมได้เปิดให้ ส.ส. ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง และมีการเปิดโหวตโดย

  1. ไม่ร่วมลงชื่อ
  2. ร่วมลงชื่อ
  3. ฟรีโหวต

ผลสรุปการลงมติคือ 99.99%

ที่ไม่เข้าร่วมลงชื่อในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 มีเพียง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ที่มีความเห็นว่าเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. ในการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่

ทั้งนี้ ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่า แนวทางของพรรคคือการเปิดทางให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแก้รัฐธรรมนูญ โดยการเปิดทางตั้ง ส.ส.ร. ตามมาตรา 256 ส่วนมาตรา 272 วันนี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะดำเนินการ แต่ก็ไม่ได้ปิดทางที่จะพูดคุยร่วมกันในอนาคต

พรรคก้าวไกล แถลงจุดยืนการเสนอแก้รธน. ต้องปิดสวิตช์ ส.ว.

ประการแรก

พรรคก้าวไกลยังยืนยันที่จะผลักดันให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) การตั้ง สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่ไปจำกัดว่าห้ามแก้หมวดใดหมวดหนึ่ง จะเป็นทางออกอย่างสันติให้สังคมไทยสามารถหาฉันทามติร่วมกันได้ว่าระบบการเมืองแบบไหนที่เรายอมรับที่จะอยู่ร่วมกัน

สำหรับญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ พรรคก้าวไกลได้เสนอในที่ประชุมระดับหัวหน้าพรรค ของพรรคร่วมฝ่ายค้านหลายครั้งในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้ไปกำหนดล็อกห้าม สสร. แก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 1 และ 2 แต่สุดท้ายเมื่อเสียงส่วนใหญ่ของพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นต่างออกไป พรรคก้าวไกลจึงขอถอนชื่อในการเสนอญัตติ เพื่อสงวนความเห็นในเรื่องนี้เอาไว้

อย่างไรก็ตาม เมื่อญัตติที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอให้ตั้ง สสร. เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา พรรคก้าวไกลจะโหวตสนับสนุนในวาระที่ 1 และจะขอแปรญัตติในวาระที่ 2 ต่อไป เพื่อให้ สสร. สามารถโอบรับเจตจำนงของประชาชนได้ทุกกลุ่ม ไม่ปิดกั้นความคิดและความฝันของประชาชนกลุ่มใด ซึ่งสุดท้ายเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเองว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นเช่นไร ผ่านกลไกของ สสร. และการลงประชามติ

ประการที่สอง

หลังจากที่มีการยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการจัดตั้ง สสร. ไปแล้ว ลำดับต่อไป พรรคก้าวไกลจะเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. เพราะกล่องดวงใจสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร คือบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้มี ส.ว. 250 คน จากการแต่งตั้งของ คสช. และมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี

บทบัญญัติเช่นนี้เป็นการทำลาย เจตจำนงของประชาชนและขัดต่อหลักการพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงขอเชิญชวนผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชน ช่วยกันเข้าชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 269-272 ในบทเฉพาะกาล ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. ให้ทันในสมัยประชุมนี้

การปิดสวิตช์ ส.ว.

ทั้งนี้ไม่ควรรอให้ สสร. เป็นผู้ดำเนินการ เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. นั้นจะต้องใช้เวลาดำเนินการอีกเกือบ 2 ปีถึงจะแล้วเสร็จ และประเด็นเรื่อง ส.ว. ที่ สสร. ควรจะพิจารณานั้นไม่ใช่การพิจารณายกเลิกบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แต่จะเป็นการพิจารณาว่า ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมี ส.ว. อยู่อีกหรือไม่ อย่างไร

การปิดสวิตช์ ส.ว. ควบคู่กันไปกับการผลักดันให้ มี สสร. นั้น มีความจำเป็น เพราะเราไม่อาจแน่ใจได้ว่า กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และการจัดตั้ง สสร. จะถูกเตะถ่วงไปนานแค่ไหน และในระหว่างนี้ภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความชอบธรรมทางการเมืองลดน้อยลงเรื่อยๆ หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่ว่าจะด้วยการยุบสภา หรือนายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง

ถ้าพวกเรายังไม่ปิดสวิตช์ ส.ว. กลไกสืบทอดอำนาจรัฐประหารที่ฝังอยู่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญนี้ จะยังคงอยู่เพื่อทำหน้าที่สืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร แทรกแซงการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่ขัดต่อเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่อีกครั้ง

หากถามว่า การยื่นญัตติเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. ในขณะนี้ จะสำเร็จหรือไม่ เพราะจำเป็นต้องใช้เสียงของ ส.ว. ด้วยอย่างน้อย 1 ใน 3 ?

พรรคก้าวไกล ขอย้ำว่ากระแสสูงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความยินยอมพร้อมใจของรัฐบาล หรือของ ส.ว. แต่อย่างใด ทว่าเกิดขึ้นจากเสียงเรียกร้องกดดันจากนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วประเทศ จนกระทั่งขณะนี้ สว. หลายคนได้ออกมายอมรับที่จะยกเลิกอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว เพื่อไม่ให้การเมืองไทยเดินไปสู่ทางตัน

การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ทุกครั้งเกิดขึ้นจากพลังของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศ ดังเช่น การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการลุกขึ้นสู้ของนักศึกษา ประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 หรือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งเกิดขึ้นจากการต่อสู้ของประชาชนในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 และ การรณรงค์ธงเขียวเพื่อปฏิรูปการเมืองในเวลาต่อมา

ดังนั้น พรรคก้าวไกลขอให้ผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชน จงเชื่อมั่นในพลังและอำนาจของประชาชน ช่วยกันเปิดประตูรัฐสภาแล้วนำเจตจำนงของพวกเขาเข้ามาผลักดัน เพื่อเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงโดยสันติ