กรมสรรพากร เตรียมออกประกาศแก้ไขหลักเกณฑ์การยินยอมส่งข้อมูลดอกเบี้ย สำหรับประเมินภาษีเงินได้แล้ว หลังหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทย เพราะอาจกระทบผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ยังคงเงื่อนไขเก็บภาษีผู้มีเงินได้จากดอกเบี้ย เกินปีละ 2 หมื่นบาท และผู้ที่ปฏิเสธการยินยอมส่งข้อมูล
ความสับสนจากการออกประกาศกรมสรรพากร เกี่ยวกับหลักเกณ์การนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยสถาบันการเงิน เพื่อประเมินภาษีอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 15 ต่อปี กรณีมีเงินได้จากดอกเบี้ยเกินปีละ 2 หมื่นบาท หรือ เงินฝาก ประมาณ 4 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้
ทำให้ตัวแทนจากสมาคมธนาคารไทย เข้าหารือกับผู้บริหารกรมสรรพากร เพื่อเสนอให้เลื่อนการบังคับใช้ หรือกำหนดแนวทางปฏิบัติอื่น แทนวิธีการให้ประชาชนเดินทางไปสถาบันการเงิน เพื่อทำหนังสือยินยอมส่งข้อมูลตามเงื่อนไขในประกาศฯ เพราะระบบสถาบันการเงิน ไม่พร้อมดำเนินการตามกรอบเวลาที่กำลังจะจ่ายดอกเบี้ยงวดแรกของปี ในเดือนมิถุนายน จึงเป็นการผลักภาระให้ผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ ร้อยละ 99 ของทั้งระบบ ซึ่งมีเงินในบัญชีเงินฝากไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี อาจถูกหักภาษีร้อยละ 15 ทันที หากไม่ยินยอมส่งข้อมูลทันกำหนด
ทั้งนี้ กรมสรรพากรเตรียมออกประกาศแก้ไขเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ปฏิบัติฉบับใหม่ เพื่อไม่ให้กระทบผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ ภายในสัปดาห์นี้ แต่ยังคงเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ผู้มีเงินได้จากดอกเบี้ยถึงเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งเจ้าของเงินฝาก ที่ไม่ยินยอมให้ข้อมูล ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมน่าสงสัยจะหลบเลี่ยงภาษีหรือไม่
ขณะเดียวกัน การยกร่างประกาศสรรพากรฉบับใหม่ จะปรับปรุงให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า เพื่อไม่สร้างภาระให้ผู้ฝากเงิน ต้องกลับมาทำหนังสือยินยอมส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรอีกครั้ง พร้อมย้ำว่า กรมฯ ไม่มีเจตนาเพิ่มการจัดเก็บรายได้จากการออกประกาศดังกล่าว จากปัจจุบัน กรมฯ จัดเก็บรายได้จากภาษีดอกเบี้ย ปีละประมาณ 1 พันล้านบาท
ขณะที่นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แบงก์ชาติ รับทราบปัญหาการนำส่งข้อมูล ดอกเบี้ยให้กรมสรรพากรแล้ว ซึ่งสถาบันการเงิน จำเป็นต้องใช้เวลาปรับปรุงระบบไอที รองรับการดำเนินการดังกล่าว และพร้อมเข้าหารือกับกรมสรรพากร และสมาคมธนาคารไทย ในวันที่ 25 เมษายนนี้ เพื่อกำหนดแนวทางเปิดให้ประชาชนแสดงความยินยอมนำส่งข้อมูลที่เหมาะสม