เร่งบูรณะหลังคามณฑปจตุรมุข – วิหารคด อายุกว่า 150 ปี หลังถูกพายุฤดูร้อนรุนแรงสุดในรอบ 50 ปี พัดถล่มจนเสียหาย
วันนี้ (24 เม.ย.62) ผู้สื่อข่าว จ.เชียงใหม่ หลังคามณฑปจัตุรมุข แบบพื้นเมืองล้านนา และ ศาลาบาตร หรือ วิหารคด ที่มีอายุกว่า 150 ปี ภายในวัดอินทราวาส หรือ วัดต้นเกว๋น ใน ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ได้รับความเสียหายหนัก กระเบื้องดินขอ ที่มุงหลังคาหลุดปลิวและตกแตกเสียหายจำนวนมาก หลังเกิดพายุฤดูร้อนพัดผ่านอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา โดยจิตอาสา ทั้ง ตำรวจ ทหาร และ ชาวบ้านช่วยกันรื้อและเก็บเศษกระเบื้อง รอการบูรณะซ่อมแซม
อย่างไรก็ตาม การบูรณะหลังคาโบราณสถานเก่าแก่ของวัดแห่งนี้ ยังติดขัดปัญหาเรื่องของกระเบื้องดินขอที่่ค่อนข้างหายาก เพราะปัจจุบันโรงงานเลิกผลิตแล้ว การซ่อมแซมจึงต้องสั่งทำเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ได้กระเบื้องดินขอที่ใกล้เคียงกับของเดิม และ มีความกลมกลืนเข้ากับสถาปัตยกรรมของมณฑปจตุรมุขแบบพื้นเมืองล้านนาที่พบเพียงหลังเดียวในประเทศไทย รวมทั้ง ศาลาบาตร หรือ วิหารคด ที่ตั้งล้อมรอบวิหารวัดต้นเกว๋น
พระมหาชลัน ภูริวฑฒโน เจ้าอาวาสวัดต้นเกว๋น กล่าวว่า พายุฤดูร้อนที่เกิดขึ้นครั้งนี้ถือว่ารุนแรงและหนักที่สุดในรอบ 50 ปี ซึ่งวัดพยายามจะซ่อมแซมและบูรณาปฎิสังขรให้กลับคืนสภาพเดิมให้ได้มากที่สุด แต่กระเบื้องดินขอค่อนข้างหายาก เพราะโรงงานส่วนใหญ่เลิกผลิตไปแล้ว จึงต้องสั่งทำเป็นพิเศษ ขณะนี้ทางวัดได้สั่งไปแล้วแต่คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ทำให้ทางวัดกังวลว่าหาเกิดพายุฤดูร้อนขึ้นอีก จะทำให้โบราณสถานของวัดเสียหายมากกว่านี้
สำหรับวัดอินทราวาส หรือ ต้นเกว๋น สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2412 สมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เป็นเจ้าหลวงปกครองเมืองเชียงใหม่ เหตุที่ชื่อต้นเกว๋น ตั้งตามชื่อที่ชาวบ้านเรียกว่า มะเกว๋น หรือ ต้นตะขบป่า ซึ่งอยู่ล้อมรอบพื้นที่วัด แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดอินทราวาส ตามชื่อครูบาอินทร์ เจ้าอาวาสวัดในขณะนั้น
วัดต้นเกว๋นถือว่าเป็นวัดที่สมบูรณ์ที่สุด และ เป็นวัดที่งามที่สุดแห่งหนี่งในประเทศไทย จนได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพฯ ในปี 2532 ขณะที่วิหารวัดต้นเกว๋น ยังเป็นต้นแบบของหอคำหลวง ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ด้วย