ศาลพิพากษาจำคุก 9 ผู้บริหาร มหาวิทยาลัยสันติภาพโลก หลังมีบุคคลนับ 100 หลังทั้งคนดัง และนักแสดงเข้าร่วมในการรับใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยทั้งที่ไม่มีการเรียนการสอน
วันที่ 24 เมษายน 2562 ที่ห้องพิจารณาคดี 813 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีก่อตั้งมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก World Peace University (WPU) โดยมิชอบ คดีหมายเลขดำ อ.3414/2560 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสวัสดิ์ บรรเทิงสุข อธิการบดีผู้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยสันติภาพโลก WPU ที่เชียงใหม่ (ตำแหน่งทางวิชาการศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.) จำเลยที่ 1 , นายศุภณัฐ ดอนจันทร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสาขา 2 (WPU 2) และนายทะเบียนมหาวิทยาลัย (ตำแหน่งทางวิชาการศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ ดร.) จำเลยที่ 2 , นายเรวัตร์ ชาตรีวิศิษฏ์ นายกสภามหาวิทยาลัย WPU (ตำแหน่งทางวิชาการ ศาสตราจารย์ ดร.) จำเลยที่ 3 , นางวรางคณา เผ่าวงศา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ใน จ.เชียงใหม่ เป็นผู้ช่วยนายสวัสดิ์ ดูแลเรื่องการเงิน จำเลยที่ 4 , นายมาณพ ภาษิตวิไลธรรม กรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (ตำแหน่งทางวิชาการศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.) จำเลยที่ 5
นายนาวิน พรมใจสา นายทะเบียนมหาวิทยาลัยคนที่ 2 (ตำแหน่งทางวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.) จำเลยที่ 6 , นายศุภชัย ขจรศิริภักดี อธก.WPU สาขานนทบุรี (ตำแหน่งทางวิชาการ ดร.) จำเลยที่ 7 , นายนิยม ป้องคำสิงห์ อธก.WPU สาขาภาคตะวันเฉียงเหนือตอนล่างและประธานฝ่ายนิติกร WPU จำเลยที่ 8 , นางวัชราพร ป้องคำสิงห์ เป็นผู้ช่วยนายนิยมและดูแลการเงินมหาวิทยาลัยสาขาใน จ.ขอนแก่น จำเลยที่ 9 ในความผิดฐานร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยไม่ชอบ ตามความผิด พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2526 , ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 , 343 และร่วมกันนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14
อัยการโจทก์ยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2560 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 3 พ.ย.2555 – 21 ก.ค .2556 จำเลยทั้ง 9 คน ร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ชื่อ “มหาวิทยาลัยสันติภาพโลก” (อาคารที่ตั้งเลขที่ 19 ถ.เทพฤทธิ์ ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี โดยคำแนะนำของสำนักงานคณะกรรมการ การอุดมศึกษา (สกอ.)และหลอกลวงโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า มหาวิทยาลัยสันติภาพโลกดังกล่าวเป็นมหาวิทยาลัยที่ถูกต้อง สามารถจัดการศึกษา การเรียนการสอนโดยบุคลากรที่มีคุณวุฒิ และได้รับการจัดตั้งโดยถูกต้องสามารถมอบใบปริญญาระดับต่างๆ และปริญญากิตติมศักดิ์ได้ มีสิทธิเท่าเทียมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ
ซึ่งข้อความดังกล่าว ยังได้ถูกนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ บนเว็บไซต์ www.wpucm.com กับบล็อคของมหาวิทยาลัย wpubkk.blogspot.com และ www.wpu15.com ซึ่งข้อมูลเป็นเท็จนั้นบิดเบือนว่า มหาวิทยาลัยสันติภาพโลก เป็นมหาวิทยาลัยมีการจดทะเบียนที่รัฐฟลอริดาสหรัฐอเมริกา มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ 506 ปาร์คไซต์เพลส อินเดียฮาเบอร์บีช รัฐฟลอริดา ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นจริงตามที่อ้าง
โดยการอ้างว่ามหาวิทยาลัยสันติภาพโลก เป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่ขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา มีสิทธิเข้ามหาวิทยาลัยอื่น และเผยแพร่กิจกรรมต่างๆ จนทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเชื่อถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ชอบด้วยกฏหมายนั้น ก็เป็นการร่วมกันหลอกลวงประชาชนด้วยการทำให้ปรากฏต่อประชาชนทั่วไป หรือบุคคลตั้งแต่ 10 คนในลักษณะการแสดงข้อความอันเป็นเท็จด้วย ซึ่งความจริงแล้วมหาวิทยาลัยสันติภาพโลกไม่ได้จัดตั้งขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมาย ไม่สามารถมอบปริญญาโทหรือปริญญากิตติมศักดิ์ได้ เหตุเกิดที่ ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ , อ.เมือง จ.เชียงราย , จ.นนทบุรี , จ.ปทุมธานี , จ.ลำพูน , จ.ขอนแก่น และ กทม.
จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ โดยระหว่างการพิจารณาคดี จำเลยทั้ง 9 คน ก็ได้รับประกันตัว ซึ่งวันนี้ก็เดินทางมาพน้อมฟังคำพิพากษาทั้งหมด
โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า โจทก์มีทั้งพยานบุคคลซึ่งเป็นผู้รวบรวมหลักฐานส่งถึง สกอ. ให้ตรวจสอบการดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัย, พนักงานสอบสวน DSI, นิติกรชำนาญการ สกอ., ผู้ที่ได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัย จำนวนหนึ่ง รวมทั้งพยานเอกสาร ซึ่งเป็นกำหนดการแจกใบปริญญาและเอกสารทางการเงิน ซึ่งมีน้ำหนักให้รับฟังได้อย่างมั่นคงว่าการดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก หรือ WPU นั้น
กระทำโดยมิชอบไม่มีใบอนุญาต และได้มีการนำข้อความที่บิดเบือน อันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้มีบุคคลนับ 100 คนมีทั้งคนดังและนักแสดงเข้าร่วมในการรับใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยทั้งที่ไม่มีการเรียนการสอน หรือการเรียนแบบอิสระตามแนวคิดที่ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอธิการบดีผู้ก่อตั้งเคยอ้างไว้ ซึ่งการเข้ารับปริญญาทางมหาวิทยาลัยก็ให้ผู้รับชำระเงินอ้างเป็นค่าใช้จ่ายราว 5,000 – 12,000 บาท ซึ่งมหาวิทยาจะทำเป็นกระเบื้องเซรามิกประทับตรา (โลโก้) มหาวิทยาลัยและชื่อ อธก.จำเลยที่ 1 ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้ง 9 จึงเป็นความผิดตามฟ้อง
จึงพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็น อธก.ผู้ก่อตั้งและ จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ช่วยจำเลยที่ 1 ดูแลเรื่องการเงิน กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน รวม 60 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 1 ปี และยังมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) โดยจำเลยที่ 1 มีความผิด ตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนฯ มาตรา 10, 104, 121 ด้วย
รวมจำคุก จำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น 61 ปี 12 เดือน ส่วนจำเลยที่ 4 จำคุก 61 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายทะเบียนมหาวิทยาลัย และ จำเลยที่ 3 เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ซึ่งได้กระทำผิด 27 กระทง, รวมถึงทำความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และความผิดตามพ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนฯ รวมจำคุก ทั้งสิ้น 28 ปี 12 เดือน
จำเลยที่ 5 เป็นนายทะเบียน จำเลยที่ 6 เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย(คนที่2) กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน 33 กระทง และ ความผิดตามพ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนฯ รวมจำคุก 33 ปี 12 เดือน จำเลยที่ 7 เป็นอธก.WPU สาขานนทบุรี กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน 10 กระทง จำคุก รวม 10 ปี
สำหรับจำเลยที่ 8 ก็เป็น อธก.WPU สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ส่วนจำเลยที่ 9 เป็นผู้ช่วยจำเลยที่ 8 และดูแลด้านการเงิน ที่จ.ขอนแก่น กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน 17 กระทง รวมจำคุก 17 ปี
โดยเมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิด ของจำเลยทั้งหมดแล้ว จึงให้จำคุกจำเลย ทั้ง 9 คนละ 10 ปี และให้ร่วมกันชดใช้ ค่าเสียหายกับผู้ได้รับใบปริญญา ซึ่งเป็นผู้เสียหายแต่ละรายตามจำนวนของแต่ละคนด้วย
ภายหลังศาลมีคำพิพากษาแล้ว ทนายความของนายสวัสดิ์จำเลยที่ 1 เปิดเผยว่า ได้ยื่นประกันตัวนายสวัสดิ์ จำเลยที่ 1 โดยใช้หลักทรัพย์เดิมเป็นโฉนดที่ดินใน ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ราคาประเมิน 4 ล้านกว่าบาท เพื่อจะยื่นขอปล่อยชั่วคราวในชั้นอุทธรณ์สู้คดี ซึ่งหลักทรัพย์เดิมชั้นพิจารณาศาลตีราคาประกันวงเงิน 300,000 บาท ส่วนจำเลยอื่น ก็กำลังรวบรวมหลักทรัพย์เพื่อจะยื่นขอปล่อยชั่วคราวเช่นกัน