พรรคภูมิใจไทย สสร. เสนอให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ

6 ข้อเสนอ ‘พรรคภูมิใจไทย’ ต่อกรณีข้อเรียกร้องของภาคประชาชน

'พรรคภูมิใจไทย' แถลง 6 ข้อเสนอ ต่อกรณีข้อเรียกร้องของภาคประชาชน เห็นด้วยที่จะให้มีการยุบสภาฯ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และข้อเสนอของภาคประชาชน

Home / NEWS / 6 ข้อเสนอ ‘พรรคภูมิใจไทย’ ต่อกรณีข้อเรียกร้องของภาคประชาชน

ประเด็นน่าสนใจ

  • ’พรรคภูมิใจไทย’ แถลง 6 ข้อเสนอ ต่อกรณีข้อเรียกร้องของภาคประชาชน
  • สนับสนุนให้ตั้ง สสร. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ
  • เห็นด้วยที่จะให้มีการยุบสภาฯ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และข้อเสนอของภาคประชาชน

วานนี้ (19 ส.ค.63) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วย ส.ส. ภายในพรรค ร่วมแถลง 6 ข้อเสนอ ‘พรรคภูมิใจไทย’ ต่อกรณีข้อเรียกร้องของภาคประชาชน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. พรรคภูมิใจไทย สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ และเสนอให้รัฐสภาพิจารณารับรอง ตามกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อไป
  2. พรรคภูมิใจไทย เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องไม่กระทบหมวด 1 และ หมวด 2 อันเป็นลักษณะสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย ซึ่งทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่า จะธำรงรักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  3. พรรคภูมิใจไทย เสนอให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ที่มาจากประชาชน มีความเป็นอิสระในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทุกขั้นตอน และทุกกระบวนการ เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน

อย่างไรก็ตาม พรรคภูมิใจไทย มีความมุ่งหมายต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนี้

  • 3.1 รัฐธรรมนูญ ต้องสร้างความเท่าเทียม ความเสมอภาค การประกอบอาชีพของประชาชน การประกอบธุรกิจของภาคเอกชน โดยรัฐต้องเป็นผู้สนับสนุนให้มีการอำนวยความสะดวก และเปิดกว้างในการประกอบอาชีพ ให้ประชาชนมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว โดยรัฐต้องลดอำนาจในการควบคุมที่เป็นลักษณะการสกัดกั้น และ สร้างเงื่อนไข ที่ทำให้ประชาชนมีความไม่เท่าเทียมกันในการประกอบอาชีพสุจริต รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาปากท้องประชาชนได้
  • 3.2 รัฐธรรมนูญ ต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข การพัฒนาคุณภาพชีวิต และสุขภาพประชาชน การแก้ปัญหาผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่าง ๆ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนามากที่สุด
  • 3.3 รัฐธรรมนูญ ต้องสนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจการบริหาร และ งบประมาณไปสู่ท้องถิ่น ให้มากขึ้นเป็นลำดับ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และทิศทางการพัฒนาท้องถิ่น มากที่สุด
  1. พรรคภูมิใจไทย พร้อมจะให้การสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญของ สสร. เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแล้ว พรรคภูมิใจไทย เห็นด้วยที่จะให้มีการยุบสภาฯ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และข้อเสนอของภาคประชาชน
  2. พรรคภูมิใจไทย ไม่สนับสนุนการคุกคามผู้เห็นต่างทุก ๆ กรณี ทั้งการคุกคามโดยอำนาจ อาวุธ และการคุกคามทางสังคมต่อผู้เห็นต่าง พรรคภูมิใจไทย เห็นว่าการให้พื้นที่ผู้เห็นต่าง การรับฟังความเห็นต่าง เป็นลักษณะสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
  3. การสนับสนุนข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคภูมิใจไทย เป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ข้อ 12 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภา ว่า
    “สนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดําเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ”