รองมิสทิฟฟานี ปี 2018 ร้องขอความเป็นธรรมการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ วันที่ 2 พ.ค.นี้
จากกรณีวรวลัญช์ ทวีกาญจน์ รองอันดับ 2 เวทีนางงามข้ามเพศ มิสทิฟฟานียูนิเวิร์ส 2018 ซึ่งสำเร็จปริญญาครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ ได้ไปสมัครเป็นครูโรงเรียนในเครือคริสตจักรถึง 4 แห่ง แต่ถูกปฏิเสธเพราะเป็นครูข้ามเพศ โดยในวันที่ 2 พ.ค.นี้ วรวลัญช์จะเดินทางไปยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมภายใต้กลไกการคุ้มครอง คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ. )ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 กับอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
ทางด้านนายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายที่ให้การคุ้มครองทั้ง เพศหญิง เพศชาย และบุคคลที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด มีเจตนารมณ์ที่จะป้องกันและคุ้มครองไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ทั้งกรณีที่เป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างบุคคล และการเลือกปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชน ไม่ว่าจะโดยการกำหนดนโยบาย กฎ ระเบียบ ประกาศ มาตรการ โครงการ หรือวิธีปฏิบัติก็ตาม
หลังจากรับคำร้องจากนายวรวลัญช์วันที่ 2 พ.ค.นี้แล้ว จะนำคำร้องยื่นต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เพื่อพิจารณาดำเนินการโดยด่วน โดยจะมีการประชุมฯ วันที่ 14 พ.ค.2562 โดยขั้นตอนต่อไป คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ จะพิจารณาว่ารับคำร้องดังกล่าวหรือไม่ หากมีมติรับคำร้อง ก็ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 150 วัน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรให้ขยายเวลาดำเนินการได้ ทั้งนี้ ประธานกรรมการ วลพ. ต้องพิจารณากำหนดมาตรการที่จะทำให้การพิจารณาวินิจฉัยแล้วเสร็จโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติดังกล่าว ยังให้อำนาจแก่คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศสามารถพิจารณาให้ค่าชดเชยและเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ร้องได้อีกด้วย
การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศตาม พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พศ.2558
“การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” หมายความว่า การกระทําหรือไม่กระทําการใดอันเป็นการแบ่งแยก กีดกัน หรือจํากัดสิทธิประโยชน์ใด ๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยปราศจากความชอบธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกําเนิด
ซึ่งบุคคลใดเห็นว่าตนได้รับหรือจะได้รับความเสียหายจากการกระทําในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และมิใช่เป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลหรือที่ศาลพิพากษาหรือมีคําสั่งเด็ดขาดแล้ว ให้มีสิทธิยื่นคําร้องต่อคณะกรรมการ วลพ. เพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่า มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศหรือไม่
คําวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ให้เป็นที่สุด ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการในการยื่นคําร้อง การพิจารณา และการวินิจฉัยให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกําหนดโดยคําแนะนําของคณะกรรมการ สทพ.
โดยผู้ใดเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศโดยไม่เป็นธรรม มีโทษทั้งจำคุกและปรับ