ปภ. ประสานจังหวัดภาคเหนือ-อีสาน-กลาง รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนในวันที่ 28 เม.ย. 62
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนในวันที่ 28 เมษายน 2562 ซึ่งมีลักษณะอากาศของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก
โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมเผชิญเหตุตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือและระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยจากพายุฤดูร้อน
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า คลื่นกระแสลมจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศไทยตอนบน
อีกทั้งลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคกลางมีกำลังแรงขึ้น ขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้เกิดพายุฤดูร้อนพายุในวันที่ 28 เมษายน 2562 โดยมีลักษณะอากาศของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก แยกเป็น
ภาคเหนือ
บริเวณจังหวัดลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ และอุทัยธานี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
บริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง
บริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย
รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด อีกทั้งตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง งดเว้นการใช้โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสารทุกชนิดบริเวณที่โล่งแจ้ง เพราะอาจเกิดฟ้าผ่า ทำให้ได้รับอันตรายถึงชีวิตได้
ห้ามหลบพายุบริเวณใต้ต้นไม้ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพราะอาจได้รับอันตรายจากการถูกล้มทับ ห้ามเข้าใกล้บริเวณที่มีสายไฟฟ้าขาดหรือเสาไฟฟ้าล้ม เพราะอาจได้รับอันตรายจากไฟฟ้าดูด ตลอดจนเพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนในช่วงที่มีฝนตก เนื่องจากสภาพถนนเปียกลื่นและอาจมีน้ำท่วมผิวจราจร
ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบังเพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป