ประวัติ พรรคพลังประชารัฐ เลือกตั้ง 62

เปิดประวัติ 4 รัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐ หลังลาออกจากตำแหน่ง เล่นการเมือง

เปิดประวัติ 4 รัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐ หลังลาออกจากตำแหน่ง หันเล่นการเมืองเต็มตัว จากกรณีที่ 4 รัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐ ได้แถลงข่าวลาออกจากตำแหน่ง เพื่อไปทำงานการเมืองอย่างเต็มตัว และเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม…

Home / NEWS / เปิดประวัติ 4 รัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐ หลังลาออกจากตำแหน่ง เล่นการเมือง

เปิดประวัติ 4 รัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐ หลังลาออกจากตำแหน่ง หันเล่นการเมืองเต็มตัว

จากกรณีที่ 4 รัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐ ได้แถลงข่าวลาออกจากตำแหน่ง เพื่อไปทำงานการเมืองอย่างเต็มตัว และเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 นั้น ทีมข่าว MThai จึงได้รวบรวมประวัติของทั้ง 4 ท่าน ก่อนจะหันมาเล่นการเมืองอย่างเต็มตัวแบบในวันนี้ มาให้คุณผู้อ่านได้ทำความรู้จัก ทั้งนี้ ประกอบด้วย…

อุตตม สาวนายน

1.นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

สำหรับ ด้านการศึกษา นายอุตตม จบปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยบราวน์ สหรัฐอเมริกา ต่อด้วย ปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ (การเงินและธุรกิจระหว่างประเทศ) Kellogg School of Management มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา และ ปริญญาเอก สาขาบริหารการเงิน School of Management , University of Massachusetts-Amherst สหรัฐอเมริกา

ส่วนด้านการทำงาน นายอุตตม เป็นผู้บริหารสถาบันการเงินเอกชน ต่อมาทำงานเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา เคยเป็นรองคณบดี ฝ่ายวิชาการและอาจารย์ประจำสาขาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558

นอกจากนี้ นายอุตตม เคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 ได้รับแต่งตั้งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ได้ยื่นหนังสือลาออกเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2559 เพื่อให้มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นกระทรวงที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่

ภายหลังจากการยื่นลาออก ได้รับแต่งตั้งเป็น ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2559 และในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนลาออกมาเป็น หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

2.นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

สำหรับ นายสนธิรัตน์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านวัสดุศาสตร์ และบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร เริ่มต้นจากการเป็นนักธุรกิจ ก่อนเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ รวมถึงสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็น ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 ก่อนลาออกมาเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

สุวิทย์ เมษินทรีย์

3.นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

สำหรับ นายสุวิทย์ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ (DSA93) ระดับปริญญาตรีด้านเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระดับปริญญาโทด้านการตลาด คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ประเทศสหรัฐอเมริกา

ส่วนด้านการทำงาน นายสุวิทย์ เคยดำรงตำแหน่งกรรมการสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และเป็นผู้อำนวยการ SIGA เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ และเคยเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ หลังการรัฐประหารยุค คสช. นายสุวิทย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 ได้รับแต่งตั้งเป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

จากนั้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อมาในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก่อนลาออกมาเป็น รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

กอบศักดิ์ ภูตระกูล

4. นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ

สำหรับ นายกอบศักดิ์ จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในปี 2529 ก่อนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีด้าน คณิตศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ที่ Williams College ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2534 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จาก Massachusetts Institute of Technology ด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค และเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เมื่อปี 2540

ด้านการทำงาน นายกอบศักดิ์ ได้กลับมาปฏิบัติงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมีประสบการณ์ทำงานด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ระบบการเงิน ในงานด้านต่างๆ ทั้งส่วนของนโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน ก่อนถูกยืมตัวไปทำงานที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน ในตำแหน่งผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ดูแลด้านงานวิจัย และผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดูแลฝ่ายพัฒนากลยุทธ์ ในระหว่างปี พ.ศ. 2550-2551

ต่อมา ได้กลับมาทำงานที่ ธปท. ในตำแหน่งผู้บริหารส่วนกลยุทธ์นโยบายการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หลังจากนั้น ได้ตัดสินใจลาออกเพื่อหาประสบการณ์ในภาคเอกชน โดยทำงานที่ ธนาคารกรุงเทพ ตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กิจการธนาคารต่างประเทศ เป็นเวลา 5 ปี ก่อนที่จะเริ่มทำงานในภาคการเมือง

โดยเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559 ได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหาและปฏิรูปเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทยในด้านต่างๆ ล่าสุดในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ได้รับการแต่งตั้งเป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนลาออกมาเป็น โฆษกพรรคพลังประชารัฐ