พายุฤดูร้อน วาตภัย

ปภ.เผยพื้นที่วาตภัยมากกว่า 30 จังหวัด เร่งช่วยเหลือ

พายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 30 จังหวัด รวม 78 อำเภอ 175 ตำบล 395 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 3,459 หลัง ผู้บาดเจ็บ…

Home / NEWS / ปภ.เผยพื้นที่วาตภัยมากกว่า 30 จังหวัด เร่งช่วยเหลือ

พายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 30 จังหวัด รวม 78 อำเภอ 175 ตำบล 395 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 3,459 หลัง ผู้บาดเจ็บ 2 ราย

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้ตั้งแต่วันที่ 25 – 29 เมษายน 2562 เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 30 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี นครพนม สุราษฎร์ธานี หนองบัวลำภู พิษณุโลก ปทุมธานี แพร่ ตราด อุตรดิตถ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ สระบุรี อ่างทอง เลย ลพบุรี อุบลราชธานี สกลนคร อุดรธานี ร้อยเอ็ด พะเยา อุทัยธานี ขอนแก่น ลำปาง ชัยนาท นครสวรรค์ สุรินทร์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ กำแพงเพชร และเพชรบุรี รวม 78 อำเภอ 175 ตำบล 395 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 3,459 หลัง ผู้บาดเจ็บ 2 ราย (ลำปางและสุรินทร์)

ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น โดยแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค กระเบื้องมุงหลังคา และวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือนแก่ผู้ประสบภัย รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ทั้งการชดเชยความเสียหายของบ้านเรือนเป็นวัสดุก่อสร้าง หรือจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสม อีกทั้งจ่ายเงินสงเคราะห์ค่าจัดการศพตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนดแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้ตอนบนของประเทศไทยยังคงมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ปภ.จึงได้ประสานจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย

ทั้งนี้ ขอฝากเตือนติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนและคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมถึงระมัดระวังอันตรายจากฟ้าผ่า สำหรับเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป