ทำงานต่างประเทศ หลอกทำงานต่างประเทศ แรงงาน

รายได้คือแรงจูงใจ! ทำแรงงานไทย แห่เสี่ยงโชคในต่างแดน

ประเทศไทยมีผู้ใช้แรงงานไปทำงานต่างประเทศอยู่ในขณะนี้ ราว 1.5 แสนราย (ยอดเดือน มีนาคม 2562) ปีที่ผ่านมา  (2561) เป็นปีที่แรงงานไทยส่งเงินกลับบ้านมากที่สุด คือ 144,451 ล้านบาท ไต้หวัน เป็นประเทศที่แรงงานไทยเข้าไปทำงานอย่างถูกกฎหมายมากที่สุด…

Home / NEWS / รายได้คือแรงจูงใจ! ทำแรงงานไทย แห่เสี่ยงโชคในต่างแดน
    • ประเทศไทยมีผู้ใช้แรงงานไปทำงานต่างประเทศอยู่ในขณะนี้ ราว 1.5 แสนราย (ยอดเดือน มีนาคม 2562)
    • ปีที่ผ่านมา  (2561) เป็นปีที่แรงงานไทยส่งเงินกลับบ้านมากที่สุด คือ 144,451 ล้านบาท
    • ไต้หวัน เป็นประเทศที่แรงงานไทยเข้าไปทำงานอย่างถูกกฎหมายมากที่สุด
    • รายได้และโอกาสในการทำงานที่ไต้หวันดีกว่าประเทศอื่นๆ

 

แรงงานไทยในต่างประเทศ เมื่อรายได้คือเป้าหมาย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา คนไทยจำนวนไม่น้อย เลือกตัดสินใจทิ้งบ้านเกิดไว้เบื้องหลัง เพื่อไปลุยขายแรงงานต่างแดนมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี ด้วยความหวังจากผู้ที่อยู่ข้างหลังที่ว่า การออกจากบ้านในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับชีวิต สร้างฐานะให้ครอบครัวอยู่ดีกินดีขึ้น แม้จะเป็นหนทางที่เสี่ยงแต่ก็ต้องขอลอง

การออกเดินทางไปต่างแดนเพื่อค้าแรงงานของคนไทย มีทั้งไปแบบถูกกฎหมายและไปในฐานะแรงงานเถื่อน  ซึ่งในระยะหลังนั้นเริ่มมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ที่มีคนไทยจำนวนมากนิยมไปทำมาหากินขุดเงินวอนส่งมาให้กับครอบครัว

ภายหลังรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเกาหลีใต้ มีข้อตกลงยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวจำนวน 90 วัน สามารถไปเที่ยวเกาหลีใต้และอยู่ได้ 90 วันโดยไม่ต้องขอวีซ่า และจากจากช่องโหว่นี้เองทำให้มีคนไทยบางกลุ่มฉวยโอกาสนี้ลักลอบไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย ส่งผลให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลี (ตม.) ตรวจเข้มกลุ่มคนที่เดินทางเข้าประเทศมากขึ้น

สถิติแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศ

เกาหลีใต้ เป้าหมายอันดับ 1 แรงงานไทย  

ข้อมูลอย่างเป็นทางการจากกรมการจัดหางาน ระบุว่า เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กรมการจัดหางานได้ระงับการเดินทางของผู้ที่มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานในต่างประเทศ และให้การยอมรับว่าจะไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 261 คน โดยระงับไปเกาหลีใต้มากที่สุด 213 คน คิดเป็นร้อยละ 81.61 ของผู้ที่ถูกระงับการเดินทาง

รองลงมาเป็นบาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน และอิหร่าน ตามลำดับ ขณะที่มีคนหางานเดินทางไปทำงานต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ จำนวน 6,137 คน ยังคงนิยมไปไต้หวันมากที่สุด จำนวน 2,096 คน คิดเป็นร้อยละ 34.16 รองลงมาเป็นเกาหลีใต้ อิสราเอล ญี่ปุ่นตามลำดับ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2562 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เปิดเผยถึงปัญหาแรงงานไทยในเกาหลีใต้ โดยเฉพาะปัญหาแรงงานที่เข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายหรือผีน้อยว่า กระทรวงแรงงานได้ประสานกับทางการเกาหลีใต้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดสถานการณ์เริ่มดีขึ้น มีจำนวนของแรงงานที่ส่งกลับมาเหลือเพียงประมาณ 20,000 กว่าราย จากที่เคยเพิ่มสูงถึงกว่า 100,000 ราย

‘ผีน้อย’กับผลกระทบสู่นักท่องเที่ยวไทย

ประเทศที่ปรากฏเป็นข่าวบ่อยครั้ง เกี่ยวกับการลักลอบเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายคงหนีไม่พ้นเกาหลีใต้ เนื่องจากไม่ได้เป็นเพียงตลาดแรงงานเท่านั้น เกาหลีใต้นับเป็นประเทศที่คนไทยนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่หลังจากที่มีคนไทยบางกลุ่มทำผิดกฎหมาย พำนักเกินกำหนด 90 วัน ลักลอบทำงานโดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว ปัจจุบันคนเรียกกลุ่มคนหนีวีซ่าเหล่านี้ว่า “ผีน้อย”

ผีน้อยเหล่านี้ เป็นเหตุให้ทาง สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลี เข้มงวดมากขึ้น บางคนตั้งใจไปท่องเที่ยวจริงๆ ก็ถูกกักตัว ร้ายแรงสุดคือถูกส่งตัวกลับประเทศ เรียกได้ว่าเสียเงินค่าตั๋วเครื่องบินกันไปแบบฟรีๆ ซึ่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ มีอำนาจอย่างเต็มที่ตามกฎหมาย  ที่จะเรียกสัมภาษณ์หรือสอบถามคนไทยที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย โดยหน่วยงานราชการไทยไม่มีอำนาจ และไม่สามารถเข้าแทรกแซงการตัดสินใจของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้

คนไทยที่ต้องการเดินทางไปการท่องเที่ยวยังดินแดนโสมขาว จะต้องเตรียมหลักฐานเอกสาร คือ บัตรโดยสารเครื่องบินทั้งขาไป และขากลับ เอกสารสำรองโรงแรม ที่พัก จำนวนเงินที่มากพอต่อการเดินทางท่องเที่ยวตามระยะเวลา แผนการท่องเที่ยว ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว ที่จะเดินทางไป เป็นต้น

รายได้สูงจริง แต่งานหนัก พักน้อย เสี่ยงโดนหักหัวคิว

สาเหตุของปัญหาการลักลอบทำงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ เนื่องจากเกาหลีใต้มีอัตราค่าจ้างสูง แรงงานไทยเป็นที่ต้องการของนายจ้างเกาหลี ขณะที่จำนวนโควตาที่ได้รับมีจำนวนไม่มากนัก รวมทั้งการไปทำงานต้องผ่านการทดสอบฝีมือแรงงาน ทักษะด้านภาษา และขั้นตอนการจัดส่งใช้เวลานาน และเอกสารมีจำนวนมาก ทำให้แรงงานบางกลุ่มไม่รอทำให้ถูกกฎหมาย

เมื่อปีที่ผ่านมา สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ ได้แนะนำสำหรับคนต่างด้าวที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมายและตั้งใจที่จะออกนอกประเทศโดยสมัครใจ ว่า ทางรัฐบาลเกาหลีมีนโยบายที่เข้มงวดต่อการจ้างงานที่ไม่ถูกต้อง เช่น งานก่อสร้าง, การนวด หรืองานที่ไม่ถูกต้องตามจารีตประเพณี พร้อมทั้งจะดำเนินการปิดกิจการแหล่งหางานให้ชาวต่างชาติอย่างผิดกฎหมาย

ซึ่งหากมีการพบเห็นการจ้างแรงงานที่ไม่ถูกต้องในเขตก่อสร้าง ต่างด้าวผู้นั้นจะต้องออกจากประเทศทันที (ใช้กฎเกณฑ์ของการฝ่าฝืนกฎครั้งเดียวก็โดนลงโทษทันที) เช่น นักเรียนต่างชาติ, คู่สมรส หรือครอบครัวคู่สมรส ถ้าทำงานที่ไม่ถูกต้องดังกล่าวเพียงแค่ครั้งเดียว ก็จะถูกให้ออกนอกประเทศทันที ไม่เพียงแต่เป็นการควบคุมให้ออกนอกประเทศ แต่จะมีการแจ้งชื่อต่อทางราชการด้วย ชื่อถูกขึ้นบัญชีดำ (แบล็กลิสต์)

กรณีที่ไม่ถูกจับก็ต้องอาศัยอยู่แบบหลบซ่อนจากการทางการเกาหลี เมื่อเจ็บป่วยต้องรับผิดชอบตัวเองเท่านั้น ซึ่งค่ารักษาพยาบาลในเกาหลีนั้นสูงมากทีเดียว

ประเภทงานที่กลุ่มแรงงานผิดกฎหมายส่วนใหญ่เข้าไปทำ จะเป็นงานทั่วไป ไม่ต้องใช้ทักษะมาก เช่น งานเก็บผลผลิตทางการเกษตร งานโรงงานขนาดเล็ก แต่ที่ดึงดูดใจคือค่าแรงที่มากกว่าเมืองไทย 4-5 เท่า หรือมีรายได้ประมาณ 40,000-50,000 บาท ต่อเดือน โดยแต่ละเดือนจะมีวันหยุดเพียง 2 วันเท่านั้น

อีกหนึ่งงานพิเศษคืองานจำพวกนวด (ซึ่งงานนวดในเกาหลีใต้ แท้จริงแล้วเป็นอาชีพสงวนของคนตาบอดที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเท่านั้น) งานนวดแอบแฝง หรือค้าประเวณี ผู้ช่วยทูตฝ่ายแรงงาน สำนักงานแรงงานไทย ณ กรุงโซล เผยว่า บางรายที่เข้าประเทศหวังจะทำงานนวด คิดว่าจะมาทำงานนวดอย่างเดียว เสี่ยงมาก เพราะอาจถูกบังคับค้าประเวณี ต้องปฏิบัติตามความต้องการของแขก และตอนนี้หลายรายติด HIV งานลักษณะนี้ทำรายได้มากกว่างานเกษตรกรรม 3-6 เท่า บางคนหักค่านายหน้าแล้วได้เดือนละ 300,000 บาท

แม้ว่ารายได้จากค่าแรงในประเทศเกาหลีจะถือว่าสูงมาก แต่เมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่สูงในเกาหลีใต้ก็สูงเป็นเงาตามตัว อีกทั้งหากเป็นการทำงานโดยผิดกฎหมายแล้ว โอกาสโดนนายจ้างโกงมีค่อนข้างสูงทีเดียว และยังไม่สามารถเรียกร้องสิทธิ์ได้ตามกฎหมาย หรือหากเจ็บป่วยก็ไม่มีสวัสดิการรองรับ ที่ผ่านมาจึงมีข่าวแรงงานไทยผิดกฎหมายป่วยหนักจนเสียชีวิตมาเป็นระยะๆ

ภาพแรงงานไทยถูกกฎหมาย เดินทางไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลี จากกระทรวงแรงงาน

อัตราค่าจ้าง แรงจูงใจอันดับหนึ่ง ให้คนไทยค้าแรงต่างแดน

แน่นอนว่าค่าตอบแทนที่สูง คือสาเหตุที่ทำให้คนไทยออกจากบ้านเดินทางไปค้าแรงยังต่างแดน แม้จะผจญกับอุปสรรคและขวากหนามสารพัด แต่เมื่อดูตัวเลขที่ได้รับ ก็นับว่าคุ้มค่าที่ได้ลงทุนในความเสี่ยงลงไป ซึ่งอัตราค่าจ้างแรงงานต่างประเทศจากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน พบว่า

เกาหลีใต้ ที่ใครหลายคนเลือกไปเป็นผีน้อยนั้น มีรายได้ขั้นต่ำ อยู่ราวๆ 1.75 ล้านวอน หรือประมาณ 48,000 บาท แลกกับการทำงานสัปดาห์ละ 40 ชม. ตามกฎหมาย

อิสราเอล มีรายได้ขั้นต่ำอยู่ที่ราว 5,300 เซลเกส หรือประมาณ 49,500 บาทต่อเดือน ไต้หวัน มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ราว 23,000 เหรียญไต้หวัน หรือราว 23,100 บาทไทย แต่จะถูกหักค่าที่พักและอาหารราว 2,500-3,000บาท, สิงคโปร์ เริ่มต้นราว 14,000 บาท ต่อเดือน และ ญี่ปุ่น ก็ตกราว 38,000 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้ สิ่งที่แรงงานไทยต้องคิดมากกว่าแค่เงินเดือน นั่นคือเหล่าบรรดาค่าครองชีพต่างๆ ที่จะถูกใช้ไปในระหว่างการทำงานอยู่ที่ต่างประเทศด้วย ซึ่งหลายประเทศแม้ว่าจะได้เงินเดือนค่อนข้างสูง แต่เมื่อหักค่าครองชีพแล้ว ก็ยังคงเหลือไม่น้อยทีเดียว

บทลงโทษผู้หลบหนี-ทำงานอย่างผิดกฎหมาย

ไต้หวัน

หากผู้ได้รับการยกเว้นตรวจลงตรา (วีซ่า) พำนักอยู่ในไต้หวันเกินกำหนด 30 วัน (ไม่เดินทางกลับประเทศหรือไม่เดินทางต่อไปประเทศเป้าหมายถัดไป) หรือเป็นแรงงานต่างชาติที่หลบหนี (ขาดงานต่อเนื่องเกิน 3 วัน โดยไม่สามารถติดต่อได้) ซึ่งนายจ้างสามารถขอแจ้งเพิกถอนใบอนุญาตการทำงานที่ออก

โดยกระทรวงแรงงานไต้หวัน และใบถิ่นที่อยู่ ARC : Alien Resident Certificate ที่ออกโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไต้หวัน) โดยผู้กระทำผิดดังกล่าวจะต้องถูกเนรเทศออกจากไต้หวันและไม่มีสิทธิเดินทางกลับเข้าไต้หวันอีกเป็นเวลา 2 ปี รวมทั้งต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้

      1. ค่าโดยสารเครื่องบินกลับประเทศ
      2. กรณีพำนักอยู่ในไต้หวันเกินกำหนด 30 วัน จะต้องโทษปรับเงิน ดังนี้
        •  เกินกำหนดเป็นเวลาน้อยกว่า 1 เดือน จะถูกปรับเป็นเงิน 1,000 เหรียญไต้หวัน
        • เกินกำหนดเป็นเวลา 1 – 3 เดือน จะถูกปรับเป็นเงิน 3,000 เหรียญไต้หวัน
      3. กรณีพำนักเพื่อทำงานในไต้หวันโดยไม่ได้รับอนุญาต/ผิดกฎหมาย จะถูกลงโทษปรับเป็นเงินตั้งแต่ 30,000 – 150,000 เหรียญไต้หวัน
      4. หากผู้กระทำผิด/แรงงานต่างชาติหลบหนีเข้ามอบตัว ภายหลังจากจ่ายค่าปรับตามข้อ2) แล้ว สำนักตรวจคนเข้าเมืองไต้หวันจะออกหลักฐานให้สามารถพำนักในไต้หวันโดยไม่ต้องถูกกักกันเป็นเวลาไม่เกิน 1 เดือน เพื่อรอเดินทางกลับประเทศ ในขณะที่ผู้กระทำผิด/แรงงานต่างชาติที่หลบหนีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัว จะต้องอยู่ในสถานกักกันเพื่อชำระค่าปรับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงจะสามารถเดินทางกลับประเทศได้

ทั้งนี้ ทางการไต้หวัน ได้ประกาศโครงการพิเศษ ลดหย่อนโทษสำหรับชาวต่างชาติที่อยู่เลยกำหนดวีซ่า ซึ่งรวมถึงแรงงานต่างชาติ ให้สามารถเข้ามอบตัว และสามารถเดินทางกลับประเทศได้ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2562 โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน 02-245 1034 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

อิสราเอล

อิสราเอลยึดหลักการให้วีซ่าแก่นายจ้างชาวอิสราเอล แรงงานต่างชาติเป็นเพียงผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานกับนายจ้างที่มีใบอนุญาตการจ้างแรงงานต่างชาติเท่านั้น ดังนั้นหากคนงานต้องการเปลี่ยนนายจ้าง นายจ้างรายใหม่จะต้องมีวีซ่าว่างที่พร้อมจะรับโอนคนงาน และต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยก่อนเสมอ

คนงานไม่สามารถเปลี่ยนประเภทของวีซ่าได้ กล่าวคือแรงงานต่างชาติที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศอิสราเอลด้วยวีซ่าในกิจการใด ก็จะได้รับอนุญาตให้ทำงานในกิจการนั้นๆ เท่านั้น เช่น งานเกษตรกรรม เป็นต้น หากตรวจพบว่าคนงานไปทำงานในร้านอาหารถือว่าผิดกฎหมายและจะถูกจับกุมและส่งกลับทันที

ระยะเวลาที่รัฐบาลอิสราเอลอนุญาตให้แรงงานต่างชาติทำงานในประเทศอิสราเอลคือ 5 ปี และอาจขยายระยะเวลาให้อยู่ต่อได้อีกได้อีกไม่เกิน 3 เดือน (นอกจากงานดูแลคนชราและผู้พิการซึ่งสามารถทำงานเกิน 5 ปี ได้จนกว่านายจ้างเสียชีวิต และงานก่อสร้างนายจ้างขาดแคลนแรงงานโดยให้วีซ่าปีต่อปี) และนับติดต่อกันตั้งแต่เดินทางไปทำงานครั้งแรกในประเทศอิสราเอลไม่ว่าจะทำงานกับนายจ้างรายใด

      • การทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตการทำงาน เมื่อถูกจับกุมจะถูกส่งตัวกลับประเทศไทยทันที และจะถูกขึ้นบัญชีดำ (blacklist) ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศอิสราเอลได้อีก
      • การทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตการทำงาน จะทำให้แรงงานไทยขาดการคุ้มครองจากประกันสุขภาพและประกันสังคม หากเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุจะไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง
      • ผู้ที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือหลบหนีนายจ้างโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า จะทำให้เสียสิทธิในการเรียกร้องเงินชดเชย (ปิซูอิม) หรือสิทธิประโยชน์อื่นๆ จากนายจ้างเมื่อครบกำหนดสัญญาการจ้างงาน

สาธารณรัฐเกาหลี

ทาง สำนักงานแรงงานไทย ณ กรุงโซล Office of Thai Labour in Seoul ระบุว่า บทลงโทษผู้หลบหนี-ทำงานอย่างผิดกฎหมาย หากเป็นการดำเนินการของ ตม.เกาหลีขณะนี้ คือ เมื่อจับกุมได้จะทำประวัติและดำเนินการส่งกลับ ภายในไม่เกิน 2 สัปดาห์ หากมีค่าตั๋วเครื่องบิน ก็กลับได้เร็ว หากไม่มี ทาง ตม.จะติดตามจากค่าจ้างค้าจ่ายต่าง ๆ จากนายจ้าง มาจ่ายเป็นค่าตั๋วให้

(ข้อมูลจาก ผู้ช่วยทูตฝ่ายแรงงาน สำนักงานแรงงานไทย ณ กรุงโซล)

ญี่ปุ่น

แรงงานที่เดินทางไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น สามารถทำงานในประเทศญี่ปุ่นได้เฉพาะผู้ที่นายจ้างได้ยื่นขอรับอนุญาตให้มีสถานะพำนักให้ทำงาน (วีซ่า) ต่อกรมตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงยุติธรรมประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น โดยสามารถทำงานในอาชีพและภายในระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

      • ทำงานไม่ตรงกับประเภทวีซ่าหรือทำงานกับนายจ้างรายอื่นที่ไม่ได้รับอนุญาต จะเข้าข่ายทำงานโดยผิดกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 2 ล้านเยน
      • ทำงานเกินระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต (Illegal over staying) มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือมีโทษปรับไม่เกิน 3 ล้านเยนหรือทั้งจำทั้งปรับ (มีเงื่อนไขทางกฎหมาย) และเข้าข่ายถูกเนรเทศส่งกลับประเทศ แรงงานที่ถูกเนรเทศจะถูกห้ามเข้าประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี
      • ลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมาย ไม่สามารถเข้าในระบบประกันสังคมได้ (ไม่ได้รับการประกันสุขภาพ ประกันการมีงานทำและประกันบำนาญชราภาพ)
      • การร้องทุกข์กรณีค่าจ้างค้างจ่ายต่อทางการญี่ปุ่นมักจะไม่ได้รับการพิจารณาเนื่องจากไม่มีหลักฐานในการจ้างงานและสืบหานายจ้างได้อย่างลำบาก

สิงคโปร์

      • เดินทางเข้าสิงคโปร์โดยผิดกฎหมาย โทษจำคุก 1 ปี หรือปรับสูงถึง 4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์
      • พำนักในสิงคโปร์เกินกำหนดที่ได้รับอนุญาต โทษจำคุกสูงถึง 6 เดือน หรือเสียค่าปรับ 4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือทั้งจำทั้งปรับและถูกส่งกลับประเทศ หากอยู่เกิน 90 วันจากเวลาที่กำหนด จะมีโทษเฆี่ยนอย่างน้อย 3 ครั้ง และจำคุกสูงสุด 6 เดือน
      • ลักลอบทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน โทษจำคุก 12 เดือน หรือเสียค่าปรับ 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือถูกเฆี่ยนด้วยหวาย 3 ครั้ง และถูกส่งกลับประเทศ
      • ให้ที่พักอาศัยแก่ผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย โทษสูงสุดจำคุก 1 ปี หรือเสียค่าปรับสูงถึง 4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาเลเซีย

      • ผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ปรับ 10,000 ริงกิต หรือจำคุก 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกเฆี่ยน 6 ครั้ง
      • นายจ้างที่ได้รับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 1 – 5 คน ปรับ 10,000 – 50,000 ริงกิต หรือจำคุก 1 ปีต่อลูกจ้าง 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ
      • นายจ้างที่รับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมากกว่า 5 คน ถูกเฆี่ยน และจำคุก 5 ปี
      • เจ้าของอาคารที่อนุญาตให้ผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายพักอาศัยมีโทษปรับไม่น้อยกว่า 30,000 ริงกิต หรือจำคุก ไม่เกิน 1 ปี ต่อคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ – ผู้ปกป้องหรือให้ความคุ้มครองผู้ที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ปรับไม่น้อยกว่า 10,000 ริงกิต ไม่เกิน 50,000 ริงกิต หรือจำคุก 6 เดือน ถึง 5 ปี และถูกเฆี่ยนไม่เกิน 6 ครั้ง
      • การอยู่เกินเวลาที่ได้รับอนุญาติ (Over Stay) ปรับวันละ 30 – 50 ริงกิต และกักกันรอส่งกลับ

นอกจากนี้ ยังมีโทษในส่วนของการปลอมแปลงเอกสารดังนี้

      • การแก้ไข ปลอมแปลงใบอนุญาตทำงาน ปรับไม่เกิน 1,000 ริงกิต หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
      • การแก้ไข ปลอมแปลงใบอนุญาตเข้าเมือง ปรับไม่เกิน 30,000 ริงกิต แต่ไม่เกิน 100,000 ริงกิต หรือจำคุกไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี และถูกเฆี่ยนไม่เกิน 6 ครั้ง
ภาพแรงงานไทยถูกกฎหมาย เดินทางไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลี จากกระทรวงแรงงาน

อยากเป็นแรงงานถูกกฎหมาย ต้องทำอย่างไร

การเป็นแรงงานถูกกฎหมาย จะไม่มีการเรียกค่านายหน้าหรือค่าหัวคิวจากคนหางาน คนงานจะได้รับรายได้อย่างเต็มที่ แรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศโดยถูกกฎหมาย จะได้รับการคุ้มครอง เพราะกระทรวงแรงงานมีกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ในการช่วยเหลือแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศหากประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต รวมทั้งถูกทอดทิ้งในต่างประเทศ โดยจ่ายค่าสมาชิกกองทุนฯ จำนวน 300-500 บาทต่อคน ตามอัตรากำหนดของประเทศที่เดินทางไปทำงาน

การไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฏหมาย มี 5 วิธี

      1. บริษัทจัดหางานจัดส่งไป
      2. กรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่งไปทำงาน
      3. ผู้ที่จะไปทำงานติดต่อหางานเอง
      4. นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างของตนไปทำงาน
      5. นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงาน

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศกระทรวงแรงงาน

เตือนคนหางาน ที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ควรปฏิบัติดังนี้

      1. ศึกษาสัญญาจ้างอย่างละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะเงื่อนไขเกี่ยวกับอัตราค่าจ้าง การจ่ายค่าจ้าง เงินค่าล่วงเวลา เงินโบนัส และเงินสิ้นสุดการทำงานเมื่อครบสัญญาและกรณีที่จะต้องถูกปรับ หากทำงานไม่ครบสัญญาจ้าง
      2. ตรวจสอบสถานที่ทำงานที่น่าเชื่อถือ ผ่านกรมการจัดหางาน ก่อนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ
      3. ศึกษาช่องทางการติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูต หรือฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูตในต่างประเทศ เพื่อรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งรับฟังคำแนะนำ การใช้ชีวิตในต่างประเทศ และทันทีที่เดินทางถึงประเทศที่ไปทำงาน ให้รีบส่งเอกสารรายงานตัว กับสถานเอกอัครราชทูต เพื่อให้ส่วนราชการไทยสามารถติดต่อให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยได้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

หากมีข้อสงสัย หรือต้องการขอรับคำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ สามารถติดต่อได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ 02-245-9437 ในเวลาราชการ

………………………….

ขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูล