กยศ. กองทุนกู้ยืม ข่าวสดวันนี้ ลูกหนี้

สิ่งที่ต้องรู้เมื่อเป็นหนี้ กยศ. ต้องทำอย่างไร ?

จะเห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านมาเกิดประเด็นเกี่ยวกับ ‘กยศ.’ หรือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามาเป็นระยะ โดยเฉพาะเรื่องของการผิดนัดชำระ ลูกหนี้ กยศ.เก่าที่เรียนจบจนมีงานทำ แต่กลับไม่มาชำระหนี้ตามสัญญา ส่งผลให้ที่ผ่านมีผู้ค้ำประกันจำนวนหลายรายได้รับความเดือดร้อนจะต้องรับผิดชอบแทนจนบางรายถึงขั้นถูกยึดทรัพย์ อีกทั้งกองทุนยังขาดสภาพคล่อง จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การชำระหนี้ใหม่ มาตรการจูงใจให้ผู้กู้ยืมชำระหนี้ กยศ. โดยกลุ่มผู้กู้ยืมปกติที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ หรือผู้กู้ยืมที่อยู่ในช่วงปลอดหนี้…

Home / NEWS / สิ่งที่ต้องรู้เมื่อเป็นหนี้ กยศ. ต้องทำอย่างไร ?

จะเห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านมาเกิดประเด็นเกี่ยวกับ ‘กยศ.’ หรือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามาเป็นระยะ โดยเฉพาะเรื่องของการผิดนัดชำระ ลูกหนี้ กยศ.เก่าที่เรียนจบจนมีงานทำ แต่กลับไม่มาชำระหนี้ตามสัญญา ส่งผลให้ที่ผ่านมีผู้ค้ำประกันจำนวนหลายรายได้รับความเดือดร้อนจะต้องรับผิดชอบแทนจนบางรายถึงขั้นถูกยึดทรัพย์ อีกทั้งกองทุนยังขาดสภาพคล่อง จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การชำระหนี้ใหม่

มาตรการจูงใจให้ผู้กู้ยืมชำระหนี้ กยศ.

โดยกลุ่มผู้กู้ยืมปกติที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ หรือผู้กู้ยืมที่อยู่ในช่วงปลอดหนี้ หากมาชำระหนี้ปิดบัญชีจะได้รับการลดหย่อนเงินต้น 3% ณ วันที่ชำระหนี้ปิดบัญชี ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขณะที่มาตรการจูงใจให้ผู้กู้ยืมมาชำระหนี้ปิดบัญชีเพิ่มเติม สำหรับผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้ทุกราย โดยจะลดเบี้ยปรับให้ 85% ของเบี้ยปรับ ณ วันที่ชำระหนี้ปิดบัญชี ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2561 – 31 พฤษภาคม 2562 เท่านั้น

มาตรการทวงหนี้ขั้นเด็ดขาด

อีกหนึ่งมาตรการใหม่ที่เริ่มใช้ในวันที่ 28 ก.พ.นั่นคือ กยศ. จะเริ่มหักบัญชีเงินเดือนของลูกหนี้ กยศ. ที่สังกัดหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ 20 แห่ง ธนาคารพาณิชย์ และเจ้าหน้าที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แบบอัตโนมัติเป็นเดือนแรก ซึ่งจะมีหนี้ชำระ กยศ. เข้ามาได้ถึงเดือนละ 200 ล้านบาท และทำให้ตลอดทั้งปี 2562 มียอดชำระหนี้ได้ทั้งหมดได้เกินกว่า 3 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่ได้ 2.6 หมื่นล้านบาทเกือบถึง 20%

สำหรับวิธีการหักเงินเดือนเพื่อใช้หนี้ กยศ.จะมีการนำหนี้ที่ต้องชำระต่อปี มาหารเฉลี่ยหักเท่ากันเป็นประจำทุกเดือน เช่น นำวงเงินที่ชำระหนี้มาหาร 12 เดือน และนำไปตัดเงินเดือนเป็นรายเดือน ซึ่งไม่ใช่จำนวนเงินที่มากเกินไป เช่น ปีแรกที่จะต้องผ่อนจ่าย 1.5 พันบาท เมื่อหาร 12 เดือน ก็จะเฉลี่ยถูกหักเดือนร้อยกว่าบาทเท่านั้น ยกเว้นปีแรกในงวดปีการศึกษา 2562 ที่เหลือรอบบัญชีเพียง 5 เดือน ก็จะหาร 5 จากยอดหนี้ในปีที่ต้องชำระไปก่อน

วิธีการชำระหนี้ กยศ.

ผู้กู้ยืมต้องติดต่อชำระเงินคืนตามกำหนดภายในวันที่ 5 กรกฎาคมของทุกปี หากล่าช้าจะทำให้ผู้กู้ยืมต้องเสียเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระหนี้ ในอัตราร้อยละ 12-18 ต่อปี และผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันผู้กู้ยืมสามารถชำระเงินคืนกองทุนได้สะดวกมากขึ้นผ่านช่องทางที่ให้บริการรับชำระหนี้ทั่วประเทศ ด้วยรหัสการชำระเงิน (Barcode) โดยมีขั้นตอน ดังนี้

1. เข้าตรวจสอบยอดหนี้ทางเว็บไซต์ กยศ. www.studentloan.or.th ณ วันที่ประสงค์ชำระเงิน

2. ดูรายละเอียดข้อมูลบัญชีผู้กู้

3. ดูยอดหนี้ที่จะต้องชำระรวมในงวด 5 ก.ค. 2560

4. พิมพ์รหัสการชำระเงิน (Barcode)

5. นำเงินไปจ่ายชำระที่ไปรษณีย์ไทย เคาน์เตอร์เซอร์วิส และธนาคารที่กองทุนกำหนด ได้แก่ บมจ. ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ทั้งนี้ ทางกองทุนกำลังทยอยเพิ่มช่องทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้กู้ยืมทั่วประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงกองทุนยังมีบริการแจ้งเตือนทาง SMS และ/หรือ e-Mail สำหรับผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งผู้กู้ยืมสามารถลงทะเบียนสมัครใช้บริการได้ทางเว็บไซต์ กยศ.

หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีผู้กู้ยืม กยศ.

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาอาจจะจัดให้มีโครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี โดยให้ลูกหนี้เข้าร่วมโครงการตามรายละเอียดดังนี้

  • ทำสัญญาประนีประนอมยอมความก่อนฟ้องคดี
  • ทำคำรับรองขอชำระหนี้ที่ค้างภายในระยะเวลาที่กองทุนกำหนด
  • ทำหนังสือรับสภาพหนี้ (เพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดี)
  • มีหนังสือบอกเลิกสัญญากู้ยืมและให้ชำระหนี้ทั้งหมดภายในเวลาที่กำหนด

ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ติดต่อกันนาน 4 ปีขึ้นไป และไม่ได้เข้าร่วมโครงการไกล่เกลี่ยหนี้ก่อนฟ้องคดีที่กองทุนฯจัดขึ้น กองทุนฯ จะอนุมัติให้ทนายความดำเนินคดีกับผู้กู้ยืมต่อไป โดยทนายความจะยื่นฟ้องผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันต่อศาล โดยจะยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลที่ผู้กู้ยืมมีภูมิลำเนาที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน

คดีส่วนมากจะเป็นคดีมโนสาเร่ คือ มีทุนทรัพย์ ยอดหนี้ ณ วันฟ้อง ทั้งต้นเงิน ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ รวมกันไม่เกิน 300,000 บาท เมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้ว ศาลจะมีหมายเรียกพร้อมส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลย โดยแจ้งกำหนดวันนัดให้จำเลยไปศาลเพื่อยื่นคำให้การแก้คดี หรือเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (ทำสัญญาประนีประนอมยอมความหลังฟ้อง)

ซึ่งท้ายที่สุดแล้วหากลูกหนี้ไม่มาดำเนินการตามสัญญาอีก ก็จะต้องเข้าสู่ขั้นตอนการบังคับคดี คือจะมีกระบวนการสืบทรัพย์ของผู้กู้ และผู้ค้ำประกันว่ามีทรัพย์สินหรือไม่ จากนั้นจะทำการยึดทรัพย์ทันที