รอไปก่อน! แจ้งยังไม่เปิดให้เข้าไปสัมผัสบรรยากาศด้านใน ‘ถ้ำหลวง’ อย่างไม่มีกำหนด
วันนี้ (29 ม.ค.) ที่ห้องธรรมลังกา ศาลากลาง จ.เชียงราย นายภาสกร บุญญลักษม์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะทำงานบูรณะปรับปรุงฟื้นฟู วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย หลังจากเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะนำโดยนายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
โดยพล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ กองทัพเหรือ หรือหน่วยชีล ได้นำคณะเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ หน่วยชีล หน่วยกู้ภัย เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มิสเตอร์เวิร์น อันสเวิร์ธ นักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษ เข้าสำรวจภายในถ้ำหลวงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปฏิบัติการช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีจำนวน 13 คนแล้วเสร็จ เพื่อเตรียมเก็บกู้อุปกรณ์ที่คงค้างภายในและสำรวจเพื่อเตรียมเปิดถ้ำในอนาคต
ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ทางนายกมลไชย คชชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้สรุปว่าจากปฏิบัติการดังกล่าวพบว่าพื้นที่ลึกจากปากถ้ำเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร ตั้งแต่โถงที่ 3 ไปจนถึงบริเวณสามแยกก่อนเลี้ยวซ้ายไปทางเนินนมสาวและหาดพัทยาซึ่งเป็นจุดที่ทีมหมูป่าเคยติดอยู่พบว่าเต็มไปด้วยโคลนเลนระยะทางกว่า 450 เมตร ลักษณะเป็นท่อยาวขนาดใหญ่ ส่วนตรงสามแยกยังมีน้ำท่วมและมีทรายอุดรูที่จะใช้เดินทางต่อไปอีกด้วย ทำให้คณะได้ยุติการสำรวจเพราะคาดว่าสาเหตุที่เด็กๆ ทีมหมูป่าเข้าไปได้ก่อนเหตุการณ์ติดถ้ำวันที่ 23 มิ.ย. 2561 ก็เพราะเห็นว่าไม่มีน้ำดังกล่าว แต่น้ำได้ไหลออกมาปิดทับภายหลัง กระนั้นเจ้าหน้าที่ได้พบถังอัดอากาศคงค้างอยู่ภายใน 379 ถัง อุปกรณ์สื่อสาร กระดาษฟรอยด์ สายไฟฟ้า ท่ออากาศ เครื่องสูบน้ำ ฯลฯ ซึ่งได้ทำบันทึกข้อมูลและภาพถ่ายเอาไว้แล้ว
นายภาสกร กล่าวว่า ได้ให้ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปทำการวิเคราะห์ดูว่าอุปกรณ์ใดสมควรหรือไม่สมควรนำเอาออกมาจากถ้ำก่อน ส่วนการจะเข้าไปสำรวจอีกครั้งหรือนำอุปกรณ์ต่างๆ ออกมาแล้วแยกแยะว่าจะนำไปไว้ ณ จุดใด หรือส่งมอบให้หน่วยงานที่เป็นเจ้าของได้อย่างไรนั้นคงต้องใช้เวลา เพราะในปัจจุบันถ้ำดังกล่าวอยู่ภายใต้คำสั่งกองอำนวยการ ปภ.จ.เชียงราย ซึ่งยังไม่อนุญาตให้ผู้ใดเข้าออกหากไม่ได้รับอนุญาต เพื่อความปลอดภัยจึงยังไม่มีกำหนดการณ์จะเข้าไปใหม่อีกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์ล่าสุดยังมีน้ำ และไม่สามารถทราบปริมาณน้ำได้จากภายนอก
ดังนั้นที่ผ่านมาเมื่อน้ำปากถ้ำแห้งสนิทและเข้าสู่ฤดูแล้งเจ้าหน้าที่จึงเข้าไปสำรวจจนพบสถานการณ์ดังกล่าวส่วนการจะเข้าไปอีกครั้งคาดว่าต้องรออย่างน้อย 1-2 เดือน อย่างไรก็ตามในช่วงที่รออยู่นี้ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็อยู่ระหว่างผลักดันให้วนอุทยานเป็นอุทยานแห่งชาติอย่างเต็มตัวเพื่อจะได้พัฒนาได้ โดยเฉพาะปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวไปเยือนจำนวนมากจึงจะมีการดำเนินการด้านนี้เป็นหลักก่อนและคาดว่าทั้ง 2 เรื่องดังกล่าวจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ราวปลายปี 2562 นี้ต่อไป
นอกจากนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมมีการแจ้งว่าในปัจจุบันคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ยกฐานะวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงฯ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติในรูปแบบอุทยานประวัติศาตร์แล้วเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา และให้นายกวี ประสมพล เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงฯ ดังนั้นทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 ซึ่งเป็นต้นสังกัดจึงได้นำเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ร่วมกับสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) เจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ฉก.ม.2 ฉก.ม.3 กองกำลังผาเมือง ฝ่ายปกครองและเจ้าของพื้นที่ทำกินที่ติดกับแนวเขต ทำการสำรวจแนวเขตเพื่อการจัดตั้งดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ 14 หมู่บ้าน 4 ตำบลคือ ต.โป่งผา ต.โป่งงาม ต.เวียงพางคำ และ ต.ห้วยไคร้ อ.แม่สาย ระยะทางประมาณ 43.02 กิโลเมตร รวมเนื้อที่ประมาณ 12,000 ไร่ โดยเป็นเขตวนอุทยานถ้ำหลวงฯ เดิมประมาณ 5,000 ไร่ และบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยนางนอนซึ่งทางกองทัพบกขอใช้พื้นที่และทางโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เข้าไปพัฒนาพื้นที่
ซึ่งปัจจุบันทางกรมอุทยานแห่งชาติได้ทำหนังสือแจ้งหน่วยงานต่างๆ จนได้รับความเห็นชอบแล้วรวมทั้งทำประชาคมชาวบ้านทั้ง 4 ตำบล ภายใต้หลักการว่าต้องไม่ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติทับซ้อนที่ดินทำกินของชาวบ้าน และชาวบ้านต้องได้รับประโยชน์จากการมีอุทยานแห่งชาติใหม่ดังกล่าวด้วย พบว่าการดำเนินการผ่านพ้นไปได้ด้วยดีและทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 จะสรุปรายงานโดยได้แจ้งกรมอุทยนแห่งชาติฯ ให้ได้รับทราบเพื่อดำเนินการต่อไป
ส่วนการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ต่างๆ ทั้งถนน จัดระเบียบร้านค้า การจราจร สถานที่จอดรถ ฯลฯ พบว่าทั้งกรมอุทยานแห่งชาติฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เดินหน้าดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องแม้ว่าบางโครงการจะตัดขัดเรื่องการขออนุญาตใช้พื้นที่เนื่องจากก่อนการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงฯ อย่างเป็นทางการนี้ พื้นที่หลายส่วนยังอยู่ในการดูแลของหน่วยงานเดิมอยู่ทำให้มีความสับสนในการขออนุญาตใช้พื้นที่กันอยู่ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ทางนายภาสกรพยายามให้มีการขออนุญาตให้ถูกหน่วยงานเพื่อให้การพัฒนาคืบหน้าไปอย่างรวดเร็วแล้วต่อไป