กระทรวงสาธารณสุข อากาศร้อน ฮีทสโตรก แดด

สธ.แนะประชาชนป้องกัน ‘ฮีทสโตรก’ ภัยใกล้ตัวช่วงหน้าร้อน

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนป้องกัน ‘ฮีทสโตรก’ ภัยใกล้ตัวช่วงหน้าร้อน หากพบผู้มีอาการสงสัยว่าเจ็บป่วยจากสภาวะอากาศร้อน ควรให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าทุก ๆ ปี ตามแนวโน้มของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากร่างกายปรับสภาพไม่ทันต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นจะเกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ง่าย กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นเป็นได้ตั้งแต่อาการเพียงเล็กน้อย…

Home / NEWS / สธ.แนะประชาชนป้องกัน ‘ฮีทสโตรก’ ภัยใกล้ตัวช่วงหน้าร้อน

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนป้องกัน ‘ฮีทสโตรก’ ภัยใกล้ตัวช่วงหน้าร้อน หากพบผู้มีอาการสงสัยว่าเจ็บป่วยจากสภาวะอากาศร้อน ควรให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าทุก ๆ ปี ตามแนวโน้มของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากร่างกายปรับสภาพไม่ทันต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นจะเกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ง่าย กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นเป็นได้ตั้งแต่อาการเพียงเล็กน้อย เช่น ผื่น ผดแดด บวมแดด ตะคริวแดด การเกร็งจากแดด ส่วนอาการที่รุนแรงจนอาจเสียชีวิต ได้แก่ เพลียแดด โรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) ถือว่าเป็นภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัด ปวดศีรษะ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลดลง และอาจเสียชีวิตได้ทันที

ในทุก ๆ ปีจะมีผู้ป่วยโรคเหตุปัจจัยจากความร้อนเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลเฉลี่ยปีละประมาณ 3,500 ราย ข้อมูลเฝ้าระวังการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเนื่องจากภาวะอากาศร้อน ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วงฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม พ.ศ.2558-2560 มีผู้เสียชีวิตสูงสุดในปี 2559 จำนวน 60 ราย ซึ่งเป็นปีที่มีอากาศร้อนกว่าทุกปี สำหรับหน้าร้อนปี 2561 พบผู้เสียชีวิต 18 ราย เป็นชาย 17 ราย หญิง 1 ราย ส่วนใหญ่ร้อยละ 30 มีอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 15 เป็นเกษตรกร โดยมีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ร้อยละ 27.8 มีพฤติกรรมเสี่ยงคือการดื่มสุราเป็นประจำร้อยละ 27.7 และเสียชีวิตสูงสุดในเดือนเมษายน

นายแพทย์สุขุมกล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนใส่ใจถึงสภาพแวดล้อม อุณหภูมิ ความชื้นรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน ไม่ออกกำลังกายหรือทำงานกลางแดดจัดเป็นเวลานาน ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ วันละ 8-10 แก้ว ไม่ปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำจนรู้สึกกระหายหรือริมฝีปากแห้ง สวมเสื้อผ้าเหมาะสมกับสภาพอากาศและระบายเหงื่อได้ดี สวมแว่นกันแดด กางร่ม ทาโลชั่นกันแดด SPF 15 ขึ้นไป ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงที่อากาศร้อน ดูแลเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยเรื้อรังอย่างใกล้ชิด

หากพบผู้มีอาการสงสัยว่าเจ็บป่วยจากสภาวะอากาศร้อน ควรให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยรีบนำผู้ป่วยเข้าในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้ดื่มน้ำเย็น ให้นอนราบและยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูง ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามหน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าช่วยระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด