การุณยฆาต ข่าวMono29 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ

ชี้ข้อแตกต่าง ‘การุณยฆาต’ กับ ม.12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ

กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพ ชี้ข้อแตกต่าง ‘การุณยฆาต’ กับ ม.12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ จากกรณีหนุ่มไทยเดินทางไปทำการุณยฆาตที่สวิตเซอร์แลนด์ หลังป่วยเป็นเนื้องอกในสมองนานกว่า 10 ปี จึงตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง ด้านนักกฎหมาย แนะ แพทย์ไทยควรสร้างความเข้าใจผู้ป่วยระยะสุดท้ายในการรักษาแบบประคับประคองจนกว่าจะจากไปอย่างสงบ เรียกว่าได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง…

Home / NEWS / ชี้ข้อแตกต่าง ‘การุณยฆาต’ กับ ม.12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ

กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพ ชี้ข้อแตกต่าง ‘การุณยฆาต’ กับ ม.12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ

จากกรณีหนุ่มไทยเดินทางไปทำการุณยฆาตที่สวิตเซอร์แลนด์ หลังป่วยเป็นเนื้องอกในสมองนานกว่า 10 ปี จึงตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง ด้านนักกฎหมาย แนะ แพทย์ไทยควรสร้างความเข้าใจผู้ป่วยระยะสุดท้ายในการรักษาแบบประคับประคองจนกว่าจะจากไปอย่างสงบ

เรียกว่าได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง เมื่อเฟซบุ๊กเพจ Drama-addict ได้เผยเรื่องราวของชายหนุ่มรายหนึ่ง ที่ป่วยด้วยโรคเนื้องอกในสมอง และตัดสินใจที่จะไปเข้ารับการทำการุณยฆาต ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ด้านนายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพ และจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถจะรักษาให้หายขาดได้ และเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต ตามกฎหมายไทยมีทางเลือก คือ ใช้สิทธิ์ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ มาตรา12

ซึ่งเป็นการทำหนังสือแสดงเจตนาประสงค์ที่จะเลือกวิธีการรักษาตามที่ตนเองต้องการ โดยไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับวิธีการรักษาในปัจจุบัน โดยใช้วิธีการรักษาแบบประคับประคอง จะช่วยให้ผู้ป่วยจากไปตามธรรมชาติอย่างสงบในต่างประเทศเรียกว่า Living Will หรือ Advance directive ที่มีมานานหลายสิบปี ในขณะที่ประเทศไทยเริ่มต้นกฎหมายนี้ในปี 2550

สำหรับการทำการุณยฆาต หรือ Mercy killing ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และบางรัฐของสหรัฐอเมริกา มีความแตกต่างกับมาตรา 12 ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 กล่าวคือ

การุณยฆาต หรือ mercy killing จะเป็นการแสดงเจตจำนงต้องการฆ่าตัวตาย ของผู้ที่มีสติสัมปชัญญะดี อาจจะใช้วิธีการให้แพทย์ฉีดยาเข้าไปในร่างกาย ทำให้เสียชีวิตโดยไม่ทรมาน ส่วน มาตรา 12 ของพระราชบัญญัติสุขภาพ ผู้ป่วยสามารถแสดงเจตจำนงการ จากไปหรือ living will ไม่ให้แพทย์ใช้เครื่องช่วยชีวิต เมื่อถึงนาทีวิกฤติ เพื่อการจากไปอย่างสงบตามธรรมชาติ มีผลใช้บังคับกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งแพทย์เองควรมีการแนะนำหรือสร้างความเข้าใจกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้สามารถแสดงเจตจำนงค์ในการรักษาตามความต้องการได้ ทั้งนี้ เรื่องการผลักดันกฎหมายการุณยฆาตให้เกิดขึ้นในประเทศไทย คงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องของเทคนิคการแพทย์ ข้อกฎหมาย จริยธรรม และความเชื่อทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้มองว่าประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายในการทำการุณยฆาต เพราะยังมีทางเลือกอื่นๆที่ผู้ป่วยสามารถพูดคุยและขอคำปรึกษาเรื่องแนวทางการรักษาจากแพทย์ได้