บอส อยู่วิทยา วิชา มหาคุณ

นายกฯ แต่งตั้ง ‘วิชา มหาคุณ’ นั่งปธ. สอบคดี ‘บอส อยู่วิทยา’

นายกรัฐมนตรี เซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย คดี 'บอส อยู่วิทยา' ให้คณะกรรมการรายงานเบื้องต้นต่อนายกรัฐมนตรีทุก 10 วัน

Home / NEWS / นายกฯ แต่งตั้ง ‘วิชา มหาคุณ’ นั่งปธ. สอบคดี ‘บอส อยู่วิทยา’

ประเด็นน่าสนใจ

  • นายกรัฐมนตรี เซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย คดี ‘บอส อยู่วิทยา’
  • แต่งตั้ง ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ เป็น ประธานกรรมการ
  • ให้คณะกรรมการรายงานเบื้องต้นต่อนายกรัฐมนตรีทุก 10 วัน

วันนี้ (29 ก.ค.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เซ็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 225/2563 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน

ระบุว่าตามที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต เหตุเกิดในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2555 พนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อหาหลายข้อหาและผู้ต้องหาหลบหนีการดำเนินคดี

ต่อมาคดีบางข้อหาได้ขาดอายุความ ในส่วนข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องและฝ่ายตำรวจไม่มีความเห็นแย้ง คำสั่งไม่ฟ้องจึงมีผลเด็ดขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ไม่ตัดสิทธิขอผู้เสียหายซึ่งรวมถึงบุพการี บุตรและคู่สมรสที่จะฟ้องคดีเอง และขอทราบสรุปพยานหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นในการสั่งคดี หรืออาจขอดำเนินคดีใหม่เมื่อได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี หรือขอความเป็นธรรมและความช่วยเหลือจากรัฐ

โดยที่คดีนี้อยู่ในความรับรู้และสนใจของประชาชนต่อเนื่องมา โดยตลอดนับแต่เกิดเหตุเมื่อ พ.ศ.2555 เมื่อปรากฎผลการสั่งดดีอันเป็นชั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นก่อนมีคำพิพากษาของศาลเช่นนี้ จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทางสื่อและสังคมทั่วไปอย่างกว้างขวาง ถือเป็นความอ่อนไหวกระทบกระเทือนความเชื่อมั่นในองค์กร เจ้าหน้าที่ และกระบวนการยุติธรรม

แม้ในส่วนของการใช้ดุลยพินิจและการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงนอัยการย่อมมีอิสระในการสั่งคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายโดยไม่อยู่ในการบังคับบัญชาของฝ่ายบริหาร และแม้พนักงานสอบสวนจะอยู่ในการตรวจสอบตามกฎหมายและระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ตาม

แต่กรณีนี้มีเหตุพิเศษที่สังคมควรมีโอกาสทราบในส่วนของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตลอดจนพฤติการณ์และบุคคลผู้เกี่ยวข้องเพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งหากมีส่วนใดที่ควรปรับปรุงแก้ไขให้การบังคับใช้กฎหมายและการพัฒนากระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ จะได้นำมาเป็นกรณีศึกษาเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปโดยเร่งด่วนต่อไป

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้ ให้มีคณะกรมการตรวจสอบข้อก็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ประกอบด้วย

  • ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ เป็น ประธานกรรมการ

กรรมการ

  • ปลัดกระทรวงยุติธรรม
  • เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
  • ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย
  • ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม
  • นายกสภาทนายความแห่งประเทศไทย
  • คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. เป็นกรรมการและเลขานุการ

โดยคณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคดีดังกล่าว และเสนอแนะแนวทาง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เพื่อประโยชน์ในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ การปฏิบัติหน้าที่และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ตลอดจนเสนอข้อแนะนำอื่นใด โดยไม่กล้าล่วงหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ในคดีดังกล่าว แล้วรายงานนายกรัฐมนตรีภายใน 30 วันนับตั้งแต่คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ แต่หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าข้อเสนอแนะในการปฏิรูปยังไม่แล้วเสร็จ อาจจะให้ขยายระยะเวลาอีกได้ ทั้งนี้ให้คณะกรรมการรายงานเบื้องต้นต่อนายกรัฐมนตรีทุก 10 วัน