ข่าวสดวันนี้ ยุบพรรค เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ไทยรักษาชาติ

ศาลปกครอง ไม่รับคำร้อง ‘เรืองไกร’ ฟ้องกกต.มีมติให้ยุบ ทษช.

ศาลปกครอง ไม่รับคำร้อง ‘เรืองไกร’ วันที่ 7 มี.ค. 62  เวลา 08.30 น. ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะศาลได้อ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ที่ คร.57/2562 ที่…

Home / NEWS / ศาลปกครอง ไม่รับคำร้อง ‘เรืองไกร’ ฟ้องกกต.มีมติให้ยุบ ทษช.

ศาลปกครอง ไม่รับคำร้อง ‘เรืองไกร’

วันที่ 7 มี.ค. 62  เวลา 08.30 น. ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะศาลได้อ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ที่ คร.57/2562 ที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ยื่นอุทธรณ์หลังจากที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคดีที่ได้ยื่นฟ้อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนายทะเบียนพรรคการเมือง (พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง) ผู้ถูกฟ้องที่ 1 – 2 ในคดีหมายเลขดำ 351/2562 ที่ผู้ฟ้องเห็นว่า กกต. ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนของกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง นำข้อเท็จจริงมาตีความขยายเกินเลยไป จึงขอให้ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนมติ กกต. ในการประชุมครั้งที่ 18/2562 เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 62 ที่ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ (ศร.) เพื่อสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ

ซึ่ง “ศาลปกครองกลาง” มีคำสั่งเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา ไม่รับฟ้องและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เพราะการพิจารณายุบพรรคการเมือง มีกฎหมายเฉพาะกำหนดให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การกระทำของ กกต. ซึ่งเป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จึงไม่อาจรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้ โดยเมื่อมีการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว “ศาลปกครองสูงสุด” พิจารณาแล้วก็มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา

โดยเห็นว่า แม้ “กกต.” และ “นายทะเบียนพรรคการเมือง” จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่การมีมติของ กกต. เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 – 93 อันเป็นขั้นตอนหนึ่งในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรค ทษช. และเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาวินิจฉัยกรณีดังกล่าว ซึ่งผู้ฟ้องสามารถยกข้ออ้างเกี่ยวกับการกระทำของ กกต. ที่อ้างในคำฟ้องขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น การกระทำตามคำฟ้องจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 197 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง “ศาลปกครองสูงสุด” จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง ที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา